อาหารเสริม เริ่มเมื่อไร เริ่มอย่างไร ให้ลูกดี
เพราะลำไส้ของลูกน้อย จะมีพัฒนาการย่อยได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป ดังนั้นคุณแม่จึงควรเริ่มอาหารเสริมเมื่อลูกอายุ 6 เดือนแล้ว
วิธีเริ่มให้อาหารเสริม
- เริ่มฝึกการให้อาหารเสริมทีละน้อย เช่น ข้าวต้มบดผ่านกระชอน แบบเป็นน้ำเหลว เพราะน้องยังไม่คุ้นกับการหัดกลืนกิน
- กะเวลาป้อนเมื่อลูกท้องว่างแต่ไม่หิวจัด พยุงให้นั่งแล้วป้อนปลายช้อนทีละน้อยก่อน เพื่อให้ลูกเคยชินกับการป้อนด้วยช้อนและกลืนข้าวบดใสๆ
- ป้อนเมื่อลูกท้องว่างแต่ไม่หิวจัด ให้ทีละน้อยก่อน 2-3 ช้อน สังเกตในระยะ 3 วันแรกว่ามีผื่นแดงเรื่อๆ ที่แก้มหรือไม่ ถ้าไม่มีแสดงว่าไม่แพ้ สามารถป้อนอาหารชนิดนั้นได้มากขึ้น ถ้าแพ้ให้งดอาหารชนิดนั้นไปอีก 1-2 เดือน ค่อยลองใหม่
- ให้น้องลองทานอาหารเสริมทีละชนิด เช่น ข้าวบด/ น้ำซุปกระดูกหมู/ ไข่แดงต้ม/ ฟักทองนึ่งบด/ ตำลึงบด ไม่ผสมรวมทั้งหมด เพราะถ้าเกิดอาการแพ้ แม่จะไม่ทราบว่าแพ้อาหารชนิดใด
- เมื่อลูกสามารถกินอาหารเสริมได้ 1 มื้อ ก็ควรจะทิ้งนมมื้อต่อไปให้ห่างออกไปมากกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้อาหารเสริมผ่านกระเพาะให้หมดเสียก่อน มื้อนมจึงมักจะลดลงไป 1 มื้อ
- เมื่อลูกน้อยอายุได้ 6 เดือน ควรป้อนอาหารเสริม 1 มื้อ จากเพียง 2-3 ช้อน จนคุ้นเคยจึงเพิ่มปริมาณมากขึ้น
- เมื่อลูกอายุ 7-8 เดือน สามารถเพิ่มอาหารเสริม เป็น 2 มื้อ ขณะเดียวกันจำนวนมื้อนมก็จะลดลงเหลือ 4-5 ครั้งต่อวัน
- และเมื่อลูกอายุ 10-12 เดือน ควรเพิ่มอาหารเสริมให้เป็น 3 มื้อ และในขณะเดียวกันจำนวนมื้อนม ก็จะลดลงเหลือ 3-4 ครั้งต่อวัน
- สำหรับ ไข่ขาว ถั่ว อาหารทะเล ข้าวโพด น้ำส้ม แป้งสาลี นมวัว ถ้าเด็กแพ้จะขึ้นผื่นแดงเม็ดเล็ก ๆ บริเวณปาก แนะนำให้เริ่มช้าที่สุดตอน 1 ขวบ
อาหารหลังนมแม่
เมื่อถึงวัยที่ลูกควรทานอาหารเสริมได้แล้วสิ่งที่คุณแม่ควรเตรียม คืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการให้อาหารไว้ล่วงหน้า เช่น ชาม ช้อนสำหรับมื้อแรก เครื่องบดอาหาร ถ้วยน้ำพลาสติก หม้อนึ่ง ผ้ากันเปื้อนสำหรับลูก เป็นต้น
อาหารที่ดีสำหรับลูกควรเป็นอาหารสดใหม่ที่เตรียมและปรุงเอง ลูกสามารถกลืนและย่อยง่าย ไม่ใช้เครื่องปรุงรส โดยเฉพาะเกลือ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูก คุณแม่ควรให้ลูกได้ลองอาหารทีละอย่าง และให้อาหารด้วยช้อน เพื่อให้ลูกเรียนรู้การกินอาหารด้วยช้อน
สำหรับขั้นตอนการให้อาหารแก่ลูกในช่วงเดือนต่างๆ นั้น มีดังนี้
- ลูกอายุ 6 เดือน ควรให้อาหารเสริม 1 มื้อ + น้ำผลไม้
- โดยอาทิตย์แรกให้เริ่ม เช่น มันเทศบดผสมนมแม่, ฟักทองผสมนมแม่ หรือแครอทผสมนมแม่
- ถัดมาอาทิตย์ที่สองให้ข้าวบดผสมนมแม่, ข้าวบดผสมฟักทองและน้ำซุปฟักทอง หรือสาลี่บดผสมนมแม่
- อาทิตย์ที่สามให้ข้าวบด + แครอท + น้ำซุปแครอท, ข้าวบด + มันเทศ + น้ำซุปมันเทศ หรือแอบเปิ้ลบดผสมนมแม่
- และอาทิตย์ที่สี่ให้ข้าวบด + น้ำต้มผัก (สีเขียว), ฟักทองบด + น้ำต้มผัก (สีเขียว) หรือกล้วยครูดผสมนมแม่
- ลูกเริ่มอายุ 7 เดือน เพิ่มไข่แดง, ผักบด, น้ำซุปหมูหรือไก่
- ลูกอายุเข้า 8-10 เดือน เพิ่มอาหารอื่นเป็น 2 มื้อ + ผลไม้ 1 มื้อ โดยเพิ่มเต้าหู้, ถั่ว, มะเขือเทศ, มันฝรั่ง, เนื้อปลา หรือน้ำต้มตับเข้าไป
- หากลูกอายุ 9 เดือน เพิ่มเนื้อตับ, เนื้อไก่หรือเนื้อหมู
- เมื่อลูกอายุ 10-12 เดือน สามารถเพิ่มอาหารอื่นๆ เป็น 3 มื้อ + อาหารว่างได้ 1 มื้อ
- และเมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป ให้อาหารหลัก 3 มื้อ และนมแม่เป็นอาหารเสริม
ทั้งนี้ในการป้อนอาหารเด็กนั้นหลายครอบครัวเลือกที่จะใช้วิธี การป้อนโดยให้เด็กอยู่ในท่านอนซะส่วนใหญ่ ซึ่งการป้อนอาหารเด็กที่ถูกกต้องตามสุขลักษณะควรจะป้อนท่าไหนดี Amarin Baby & Kids มีคำแนะนำมาฝากค่ะ
สำหรับการให้ลูกนอนรับประทานอาหารนั้น ลูกจะกลืนอาหารได้ยากกว่าการนั่ง ดังนั้นจึงย่อมมีโอกาสเกิดอาการสำลักหรือกลืนลำบากกว่าการให้ลูกรับประทานในท่านั่งหรือยืนครับ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าลูกเกิดมีอาการไอจากสาเหตุอะไรก็ตาม จะทำให้อาหารมีโอกาสไหล เข้าสู่ปอดได้ง่าย ทำให้เกิดปอดอักเสบและเป็นปัญหาตามมาหลายอย่าง
นอกจากนั้นโอกาสที่จะเกิดอาการสำรอกอาหารจะมีได้มากกว่า ยิ่งถ้าเด็กมีการทำงานของหูรูดบริเวณที่หลอดอาหารต่อกับกระเพาะทำงานได้ไม่ดี เด็กจะมีโอกาสสำรอกอาหารได้มาก (gastroesophageal reflux) และถ้าจำเป็นต้องให้ลูกนอนรับประทานอาหารจริงๆ คุณแม่ควรป้อนอาหารให้ดีๆ โดยป้อนอาหารครั้งละน้อยๆ และอย่าใจร้อนป้อนเร็วจนเกินไป ควรรอให้อาหารที่ป้อนไว้กลืนให้หมดก่อนแล้วจึงป้อนคำใหม่ค่ะ
ฝึกให้ลูกน้อยหม่ำเป็นที่!
ในวัยเริ่มรับประทานอาหารเสริมนี้คุณแม่ควรฝึกให้เค้ารับประทานอาหารอยู่กับที่ โดยจัดให้เค้านั่งกินอาหารที่โต๊ะรับประทานอาหารสำหรับเด็กซึ่งก็มีหลายแบบหลายขนาดให้เลือก
ส่วนระยะเวลาในการให้รับประทานอาหารนั้น ขึ้นอยู่กับนิสัยของเด็กแต่ละคนบางคนกินเร็ว บางคนกินช้า แต่ถ้าช้าเกินไป กว่าจะกินหมดแต่ละมื้อต้องเสียเวลาป้อนเป็นชั่วโมงล่ะก็ แปลว่าเด็กไม่ได้ชอบอาหารนั้นหรือไม่ก็เพราะเขายังไม่หิวจริง ๆ
ดังนั้นถ้าคุณแม่ป้อนอาหารให้เขากินครึ่งชั่วโมงแล้ว ก็ไม่ควรป้อนต่อไปอีกเพราะนอกจากจะเสียเวลาเปล่า ๆ แล้ว ยังทำให้เค้าคุ้นชินกับการถูกคุณแม่ป้อนอาหารไปเล่นไป ไปจนโต และอาจติดเป็นนิสัยของการกินอาหารได้
อย่างไรก็ดี นมแม่ นั้นก็ยังเป็นอาหารที่จำเป็นและสำคัญสำหรับลูกในวัยทารก จะดีที่สุดถ้าสามารถให้นมแม่แก่ลูกได้จนถึงอายุ 2 ปี หรือมากกว่า โดยค่อยๆ พัฒนาการกินอาหารอื่นๆ ให้ลูกอย่างเหมาะสมกับวัยไปด้วย รับรองว่าลูกน้อยจะเติบโตแข็งแรงได้อย่างแน่นอน
อ่านต่อ “บทความดีๆ น่าสนใจ” คลิก!
- อาหารเสริมทารก เริ่มอย่างไร ให้ลูกกินเก่งแถมกินง่าย!
- Milk food เมนูอาหารเสริมที่ทำจากนมแม่
- ฝึกลูกกินข้าวเอง ช่วยพัฒนาการอะไรบ้าง?
ขอบคุณที่มาและข้อมูลจาก : พญ.ปิยาภรณ์ บวรกีรติขจร thaibreastfeeding.org , being-mom.com , www.bloggang.com , ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ. ศิริราช ped.siriraj