AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ยังน่าเป็นห่วง ! เด็กไทยมีภาวะเติบโตไม่เหมาะสมในช่วงวัย 1-3 ปี

ภาวะโภชนาการเด็กไทย

ภาวะโภชนาการเด็กไทย ในช่วงวัยต่ำกว่า 5 ปียังคงประสบปัญหาการเจริญเติบโตไม่เหมาะสม มีทั้งมากไปและน้อยไป ส่งผลให้เกิดภาวะเตี้ย (stunted) ผอม (wasted) น้ำหนักน้อย (Underweight)  และน้ำหนักเกิน (Overweight) โดยเฉพาะในช่วงวัย 1-3 ปี จะเห็นได้จากกราฟในกรอบเส้นประช่วงอายุระหว่าง 12-36 เดือน แสดงภาวการณ์เจริญเติบโตไม่เหมาะสมมากที่สุด  สาเหตุมาจากการขาดสมดุลด้านโภชนาการโดยได้รับสารอาหารจำเป็นต่อการเจริญเติบโตไม่เพียงพอ

สารอาหารที่เป็นปัญหาที่มีการบริโภคไม่เพียงพอบ่อยครั้งคือ สารอาหารกลุ่มรอง (Micronutrient) ได้แก่ แคลเซียม  เหล็ก วิตามินเอ วิตามินซี และสังกะสี ข้อมูลนี้ได้รับการเผยแพร่ในการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติครั้งที่ 13 ซึ่งจัดไปเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยใช้แนวคิดเรื่อง “โภชนาการและวิถีชีวิตเพื่อสุขภาวะ” (Nutrition, Behavior and Lifestyle for Well-Being) เพื่อชีวิตยืนยาวอย่างมีสุขภาพดี เด็กจำเป็นต้องได้รับสารอาหารจำเป็นครบถ้วนสมดุลเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา และช่วงเวลาสำคัญที่สุดในการวางรากฐานสุขภาพดีให้ลูกก็คือในระยะเวลาหนึ่งพันวันแรกของชีวิต (แรกเกิดถึง 3 ปี)

ภายในงาน รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย กล่าวแสดงความเป็นห่วงในประเด็นนี้ โดยระบุว่า การเจริญเติบโตที่ไม่เหมาะสมในช่วงวัยเด็กเล็กมีผลเชิงลบต่อการพัฒนากระบวนการรู้คิดและสติปัญญาของเด็ก โดยมีตัวอย่างการศึกษาผลระยะยาวในเด็กไทยที่ภาคใต้ พบว่าเด็กที่เตี้ยถาวรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 8 ขวบครึ่งจะมีไอคิวต่ำกว่าเด็กที่ไม่เคยเตี้ยเลยถึง 2.25 จุด

เมื่อจำแนกภาวะโภชนาการไม่เหมาะสมที่มีทั้งขาดและเกินตามอายุในช่วง 5 ปีแรก ภาวะที่พบสูงมากคือโภชนาการเกินหรือภาวะน้ำหนักเกินในเด็ก และช่วงหลังขวบปีแรกคือวัย 1-3 ปี จะพบภาวะขาดโภชนาการส่งผลให้เด็กมีภาวะเตี้ยแคระแกร็น โดยจะเห็นเส้นกราฟไต่ระดับคาบเกี่ยวกับภาวะน้ำหนักเกินที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น

“ภาวะโภชนาการเกินกำลังเป็นปัญหา หากปล่อยให้ลูกอ้วนไปเรื่อยตั้งแต่อายุ 3-6 ปี โอกาสเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานในเด็กจะสูงมาก ผลสำรวจพบว่ามีอัตราเสี่ยงถึง 1.6% และเมื่อโตเป็นวัยรุ่นก็จะเป็นเป็นวัยรุ่นที่เป็นเบาหวาน มีอัตราเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มากถึง 6.4%” รศ.พญ.ลัดดา กล่าวไว้ในช่วงหนึ่งของงานสัมมนา

จัดให้ครบทั้งอาหารตามวัยและนม

การแก้ไขภาวะแคระแกร็นในเด็ก มีการศึกษาพบว่าถ้าจัดอาหารตามวัยให้ลูกกินได้หลากหลาย จะช่วยประกันได้ว่าเด็กเล็กตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปจะได้รับสารอาหารเพียงพอ ทางองค์การยูนิเซฟจึงได้จัดทำตัววัดคุณภาพอาหารในแต่ละวันที่เด็กต้องได้รับควรเป็นอาหาร 4 ใน 7 กลุ่ม ดังนี้คือ 1.ข้าวและธัญพืชชนิดต่างๆ 2. ถั่วและพืชตระกูลถั่ว 3. นมและผลิตภัณฑ์นม 4.เนื้อสัตว์ ปลา หมู ตับ เครื่องใน  5. ไข่ 6. ผักผลไม้ที่มีวิตามินเอสูง และ 7. ผลไม้อื่นๆ

สำหรับภาวะน้ำหนักเกิน พบว่ามาจากการที่เด็กเล็กได้รับโปรตีนมากกว่าความต้องการของช่วงวัยมากเกินไป มีความเสี่ยงที่จะอ้วนและเจ็บป่วยด้วยโรคในกลุ่ม NCD เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ มีคำแนะนำในทางวิชาการซึ่งกล่าวถึงในงานประชุมวิชาการครั้งนี้ คือ ควรจำกัดปริมาณนมสำหรับเด็กกลุ่มนี้ไม่ให้กินเกินวันละ 1-2 แก้ว หรือให้กินนมโปรตีนต่ำหรือ Young Child Formula (YCF) แทนการกินนมวัว

บทบาทของ YCF นมเสริมสารอาหารสำหรับวัยเด็กเล็ก

จะเห็นว่านมและผลิตภัณฑ์นมถูกจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มอาหารที่เด็กเล็ก 1-3 ปีควรได้รับเพื่อช่วยแก้ไขภาวะการเจริญเติบโตไม่เหมาะสม เพราะนมเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของพลังงานและสารอาหารหลากหลายชนิด

ในงานประชุมครั้งนี้มีการกล่าวถึงบทบาทของ Young Child Formula (YCF) ซึ่งเป็นอาหารสูตรสำหรับเด็กเล็กอายุ 1-3 ปี ซึ่งอาจเป็นนมที่ดัดแปลงจากนมวัว นมแพะ หรือนมถั่วเหลือง ว่ามีบทบาทในการช่วยส่งเสริมภาวะสมดุลโภชนาการในวัยเด็กเล็ก เนื่องจากมีการเติมสารอาหารจำเป็นในกลุ่มวิตามินแร่ธาตุซึ่งเป็นสารอาหารกลุ่มรอง (Micronutrient) เช่น ธาตุเหล็ก วิตามินซี  วิตามินดี เป็นต้น โดยมีการกำหนดปริมาณการเติมสารอาหารแต่ละชนิดได้ตามที่ WHO/FAO แนะนำ

ที่สำคัญ นมเสริมสารอาหารมีการดัดแปลงโดยลดปริมาณโปรตีนให้เหมาะสมกับช่วงวัยเมื่อเทียบกับปริมาณโปรตีนที่มีมากในนมวัว เพื่อว่าหากให้เด็กกินนมเสริมสารอาหารเป็นอาหารเสริมทุกวันจะไม่ทำให้เด็กได้รับโปรตีนโดยรวมซึ่งได้รับจากอาหารมื้อหลักอยู่แล้วมากเกินไป และนมเสริมสารอาหารสำหรับเด็กเล็กถือเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อเพิ่มการได้รับสารอาหารที่เด็กอาจได้ไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม แวดวงวิชาการด้านโภชนาการในระดับสากล ยังคงมีการศึกษาเรื่อง YCF มาอย่างต่อเนื่อง มีบทความวิชาการให้ข้อมูลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาหารเสริมสำหรับช่วงวัยเด็กเล็กที่เผยแพร่ในสื่อชั้นนำระดับโลก คือ Annals of Nutrition&Metabolism (https://www.karger.com/Article/FullText/438495) ซึ่งทำวิจัยร่วมกันหลายประเทศ ว่าด้วยส่วนประกอบของสารอาหารจำเป็นต่างๆ ในอาหารทางเลือก Young Children Formula: YCF ซึ่งเป็นอาหารสูตรสำหรับเด็กเล็กอายุ 1-3 ปี โดยประเทศไทยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยและสถาบัน Early Nutrition Academy

ปัจจุบันยังไม่พบว่าการกินนมเสริมสารอาหารจะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของเด็ก แต่มีความกังวลในประเด็นที่เด็กจะชอบกินนมมากกว่ากินอาหารตามวัยทั่วไป ซึ่งการให้ลูกกินนมมากกว่าอาหารมื้อหลักไม่ใช่พฤติกรรมการกินที่ดีนัก หลายครอบครัวอาจไม่พร้อมที่จ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ลูกกินนมเสริมสารอาหาร ตรงนี้จึงให้ถือเป็นอาหารทางเลือก แต่สิ่งสำคัญคือ ให้คุณแม่ยึดหลักสมดุลการจัดอาหารตามวัยครบคุณค่าห้าหมู่ที่หลากหลายและให้ลูกกินนมร่วมด้วยทุกวัน