AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แพทย์เตือนพ่อแม่เฝ้าระวัง! 7 โรคระบาดปี 2561

รู้ก่อนปลอดภัยก่อน! กับ 7 โรคระบาดปี 2561 ที่บอกเลยไม่ใช่โรคใหม่ แต่ความอันตรายมีมากกว่าเดิม!

 

 

พบกับ 7 โรคระบาดที่่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวังกันเป็นอย่างมากอีกครั้งประจำปี 2561 ที่บอกเลย แต่ละโรคนั้นไม่ใช่โรคใหม่อะไรเลยค่ะ แต่ระดับความอันครายหรือพัฒนาการของโรคนั้น อาจจะมีเพิ่มขึ้น … ซึ่งหากเรารู้ทัน รู้ไว และป้องกันได้เร็ว อัตราความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลานนั้น ก็มีโอกาสลดน้อยลง

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้จัดแถลงข่าวเรื่อง “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญ พ.ศ. 2561” โดยมีวัตถุประสงค์ในการเตือนให้ผู้ปกครองและประชาชนโดยทั่วไป เฝ้าระวังโรคต่าง ๆ เหล่านี้เอาไว้ให้ดี จะมีโรคอะไรบ้างนั้น ไปชมพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

อ่านต่อ >> โรคระบาดที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวังประจำปี 2561

 

 

โรคระบาดปี 2561 ที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวัง!

1.โรคไข้เลือดออก จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 50,033 ราย เสียชีวิต 59 ราย โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมาพบโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่อง สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 50,000 ราย  และจะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยจะพบผู้ป่วย 4,500–9,000 รายต่อเดือน และมีพื้นที่เสี่ยง 35 จังหวัดทั่วประเทศ  กรมควบคุมโรคมีมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้าน 2.เก็บขยะ และ 3.เก็บน้ำ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

2.โรคไข้หวัดใหญ่ จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 189,870 ราย เสียชีวิต 54 ราย สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 220,000 ราย โดยจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในฤดูฝน ประมาณ 13,000-48,000 รายต่อเดือน ส่วนจังหวัดที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงสูงมี 23 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล  กรมควบคุมโรคมีมาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนี้ 1.ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม 2.ล้าง คือ ล้างมือบ่อย ๆ 3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย  4.หยุด คือ เมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน

3.โรคมือ เท้า ปาก จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 68,084 ราย เสียชีวิต 3 ราย การพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 94,000 ราย อาจมีผู้ป่วย 8,000–23,000 รายต่อเดือน ซึ่งโรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพอง และอุจจาระของผู้ป่วย วิธีป้องกันคือ “รักษาความสะอาดร่างกาย หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน หากมีเด็กในสถานศึกษาป่วยโรคมือ เท้า ปาก ต้องแยกเด็กป่วยออก เป็นต้น

อ่านต่อ >> โรคระบาดที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวังประจำปี 2561

 

 

4.โรคตาแดง จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 105,415 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต การพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 146,000 ราย  อาจมีผู้ป่วย 8,000–35,000 รายต่อเดือน โรคตาแดงติดต่อกันจากการสัมผัสกับน้ำตา หรือติดจากการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกัน หลังติดเชื้อประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการระคายเคืองตา น้ำตาไหล แสบตาเวลาถูกแสง มีขี้ตามากกว่าปกติ “ผู้ที่เป็นโรคนี้ แนะนำให้ใช้กระดาษทิชชูเช็ดขี้ตา ล้างมือฟอกสบู่บ่อย ๆ ไม่ควรขยี้ตา แยกของใช้ส่วนตัวกันด้วยนะคะ”

5.โรคอาหารเป็นพิษ จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 101,000 ราย เสียชีวิต 3 ราย การพยากรณ์โรคอาหารเป็นพิษ ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 100,000 ราย  อาจมีผู้ป่วย 9,000–11,000 รายต่อเดือน กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “สุก ร้อน สะอาด”  คือ รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ และรักษาสุขอนามัย เป็นต้น

6.โรคไข้ฉี่หนู จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 3,257 ราย เสียชีวิต 59 ราย โดยพบว่าภาคใต้จะมีจำนวนผู้ป่วยสูงในช่วงเดือนพฤศจิกายน–มกราคม ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีจำนวนผู้ป่วยสูง การพยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 5,000 ราย กรมควบคุมโรค แนะนำประชาชน “หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ หากมีบาดแผลที่เท้าหรือที่บริเวณขา ขอให้ใช้ถุงพลาสติกห่อหุ้มขาและเท้า”

7.โรคเมลิออยโดสิส จากข้อมูลในปี 2560 พบผู้ป่วย 3,140 ราย เสียชีวิต 68 ราย พบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝนของทุกปี สำหรับการพยากรณ์โรคเมลิออยโดสิส ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 3,000 ราย โดยในช่วงฤดูฝนอาจมีผู้ป่วยประมาณ 200-300 รายต่อเดือน โรคนี้ติดต่อจากการสัมผัสดินหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้อเข้าทางบาดแผล ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน และผู้ที่มีบาดแผลควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินหรือแหล่งน้ำ หากจำเป็นต้องสัมผัสหรือเหยียบย่ำดินแล้วละก็ แนะนำให้ใส่รองเท้าบู๊ทด้วยทุกครั้งนะคะ

แน่นอนค่ะว่า ยังมีโรคอื่น ๆ อีกมากมายที่เราควรระวัง ไม่ใช่แต่เพียง 7 โรคที่ว่านี้เท่านั้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ การป้องกันในเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็น การปลูกฝังให้ลูกล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งและบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัด เป็นต้น

เครดิต: กรมควบคุมโรค สสส และ TNews

อ่านต่อเนื้อหาอื่นที่น่าสนใจ:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids