พบกับผัก 8 ชนิด!! ที่จะมาช่วย แก้ท้องผูก แถมช่วยลดปัญหาอุจจาระตกค้างได้อย่างชะงัด!
ปวดท้อง ท้องอืด ท้องบวม อึไม่สุด!! ไม่อยากกินยาระบาย ต้องนี่เลยค่ะ … พบกับ 8 ผักมีเมือกที่จะมาช่วย แก้ท้องผูก จะมีผักอะไรบ้างนั้น ทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้เตรียมข้อมูลมาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านแล้วละค่ะ
ท้องผูกเกิดจากอะไร?
อาการท้องผูกนั้น เกิดจาก การที่อุจจาระแห้งซึ่งทำให้ยากต่อการขับถ่าย และรู้สึกเหมือนเวลาถ่ายแล้วถ่ายไม่สุด ซึ่งอาการท้องผูกนั้นเกิดจากการที่อาหารที่ย่อยแล้วใช้เวลาอยู่ในลำไส้นานเกินไป ซึ่งเกิดจากหลากหลายปัจจัยดังนี้ค่ะ
- รับประทานอาหารกากใยน้อย
- ปัญหาระบบทางเดินอาหาร ยกตัวอย่างเช่น โรคลำไส้แปรปรวน เนื้องอกอุดตันลำไส้ และโรคแพ้กลูเตน
- การเดินทางเป็นระยะเวลานาน
- เปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน
- ดื่มน้ำน้อย
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ใช้ยาระบาย และยาสวนถ่ายบ่อย ๆ เป็นต้น
จะรู้ได้อย่างไรว่าท้องผูก?
สำหรับอาการท้องผูกนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากอาการเหล่านี้ค่ะ
- มีอุจจาระแห้ง แข็ง เป็นก้อน ยากแก่การขับถ่าย
- ต้องใช้แรงมากในการเบ่งถ่าย
- รู้สึกว่าคุณยังต้องการถ่ายอีกหลังจากได้ถ่ายไปแล้ว (เหมือนกับว่าถ่ายออกมายังไม่หมด)
- รู้สึกว่ามีอะไรมาจุกหรืออุดกั้นบริเวณลำไส้หรือไส้ตรง
- ปวดท้องหรือท้องอืด
- เบื่ออาหาร
- มีความเซื่องซึมหรือเฉื่อยชา เป็นต้น
สำหรับวิธีการแก้นั้น คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะนึกถึงยาระบาย หรือยาถ่ายต่าง ๆ กันใช่ไหมละคะ … ซึ่งทานยาระบายบ่อย ๆ ก็ไม่ส่งผลดีเท่าไรนัก ดังนั้น ทีมงานมีวิธีการ แก้ท้องผูก แบบปลอดภัย สุขภาพดี ได้ประโยชน์แบบเต็ม ๆ มาฝากกันค่ะ … โดยวิธีที่แนะนำนั้นก็คือ การกินผัก นั่นเอง แต่เอ … จะมีผักอะไรบ้างนั้น พร้อมแล้วไปดูกันเลยค่ะ
ผัก 8 ชนิด แก้ท้องผูก
ผักบุ้ง
คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่กำลังประสบกับปัญหาท้องผูกละก็ แนะนำให้กินผักบุ้งสดหรือผักบุ้งลวกค่ะ จะเอามาจิ้มกับน้ำพริกสำหรับอาหารมื้อเย็น แล้วเอาส่วนน้ำต้มผักก็สามารถใช้ดื่ม สำหรับเหตุผลที่แนะนำให้ทานผักบุ้งนั้น เนื่องจากผักบุ้งมีคุณสมบัติช่วยให้อุจจาระนิ่ม และช่วยขับของเสียพร้อมดูดซับเอาของเสียนั้นออกมาพร้อมในกระบวนการขับถ่ายด้วยนั่นเอง ดังนั้น การกินผักบุ้งเป็นประจำ จะช่วยปัดกวาดทำความสะอาดเอาของเสียที่ตกค้างในลำไส้ออกมาด้วย ช่วยให้การดูดซึมอาหารดีขึ้นนั่นเองค่ะ
ผักเชียงคา
คนไทยส่วนใหญ่มักใช้ผักเชียงดารักษาอาการท้องผูกค่ะ และนิยมนำมารับปรุงอาหาร ยกตัวอย่างเช่น แกงผักเชียงดารวมกับผักตำลึงและยอดชะอม โดยมีงานวิจัยได้ระบุว่า “ผักเชียงดา” สามารถช่วย บำรุง “ตับอ่อน” ที่ไม่ผลิตอินซูลิน สาเหตุหนึ่งของโรคเบาหวานให้ทำงานได้ดีขึ้นค่ะ
ผักปลัง
สำหรับต้นปลักนั้น ไม่ว่าจะเป็น ลำต้น ราก และใบนั้นสามารถนำมารับประทานได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วย แก้ท้องผูก ค่ะ ส่วนยอดอ่อนหรือใบยอดอ่อนสดจะมีเส้นใย ช่วยหล่อลื่นลำไส้ และเป็นยาระบายอ่อน ๆ ที่เหมาะสำหรับเด็กและสตรีตั้งครรภ์ เมื่อนำมาต้มกินเป็นอาหารจะช่วยแก้อาการท้องผูกได้ และเมือกที่อยู่ในผักปลังจะมีคุณสมบัติเป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยทำให้ท้องไม่ผูกได้
กระเจี๊ยบเขียว
การรับประทานฝักกระเจี๊ยบเขียวเป็นประจำ จะช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร เยื้อบุกระเพาะและลำไส้อักเสบ อีกทั้งยังช่วยในการทำงานของระบบขับถ่าย จึงช่วยในการขับถ่าย ทำให้ถ่ายอุจจาระได้คล่อง จึงช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังช่วยในการทำงานของระบบดูดซีมสารอาหาร ช่วยสนับสนุนการขยายพันธุ์ของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ (โพรไบโอติกแบคทีเรีย) ช่วยลดความเสี่ยงของโรคแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร และผลช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้อีกด้วย
ตำลึง
พูดถึงตำลึง คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านก็คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประโยชน์ของตำลึงนั้นมีอะไรบ้าง แต่ถ้าหากใครยังไม่ทราบละก็ ทีมงานจะมาบอกเล่าให้ฟังค่ะ ประโยชน์ของตำลึงนั้น ช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง วิธีการรับประทานนั้น สามารถรับประทานสด ๆ ก็ได้นะคะ หรือว่าจะนำไปลวก หรือทำต้มจืดก็ได้ ล้วนแล้วแต่ช่วยระบายท้อง และช่วยขับสารพิษในลำไส้ แถมยังช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้ทั้งสิ้น
กุยช่าย
กุยช่าย อีกผักขึ้นชื่อที่มีกากใยสูง นิยมนำมาผัดหรือนำมาทำเป็นขนม เส้นใยอาหารมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยช่วยเพิ่มปริมาณกากใยอาหารในระบบทางเดินอาหาร เมือกของผักนี้ให้ขับถ่ายคล่องและลดปริมาณของเสียที่สะสมในลำไส้ จึงลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอักเสบและมะเร็งลำไส้ได้
ว่านหางจระเข้
ว่านหางจระเข้สามารถใช้เป็นยาถ่าย โดยเลือกตัดว่านหางจระเข้พันธุ์เฉพาะที่ใบใหญ่และมีน้ำยางสีเหลืองในปริมาณมาก อายุประมาณ 9 เดือนขึ้นไป รองน้ำยางที่ไหลออกมาจากใบ แล้วนำไปเคี่ยวให้ข้น เทลงในพิมพ์ขนาดเล็กให้แข็งเป็นก้อนรับประทานเป็นยาได้ ซึ่งเม็ดยาจะมีสีแดงอมน้ำตาลไปจนถึงดำ เรียกว่า ยาดำ แบ่งรับประทานครั้งละประมาณ 0.25 กรัม (250 มิลลิกรัม) จะเป็นขนาดที่เหมาะสมในการใช้เป็นยาถ่าย หากต้องการรับประทานแบบสด ๆ ก็สามารถทำได้ โดยการตัดวุ้นที่ล้างสะอาดแล้วออกเป็นขนาด 3-4 เซนติเมตร แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร หรือจะนำมาสับใส่ลงไปในน้ำต้มใส่ใบเตยก็ชื่นใจไปอีกแบบนะคะ แถมยังดับกระหายได้อีกด้วย
บวบ
ไม่ว่าจะเอามาผัดกับไข่ หรือจะเอามาใส่ในแกงเลียงก็ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ทั้งสิ้น หากใครเบื่อก็สามารถนำรากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระบาย ส่วนผลก็มีสรรพคุณเป็นยาระบายเช่นกันนะคะ เนื่องจากรากและเมล็ดบวบเหลี่ยมที่มีรสขม มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างคะผักบ้านเรา คุณสมบัติเพรียบพร้อมจริง ๆ เลยใช่ไหมละคะ ทราบแบบนี้แล้วต่อไปนี้เวลาท้องผูก อย่าลืม แก้ท้องผูก ด้วยการรับประทานผัก 8 ชนิดนี้กันนะคะ
ขอบคุณที่มา: HonestDocs, หนังสือสูตรเด็ดแก้เจ็บแก้จน, สมุนไพรหมอศุภ InThai Onboard และ Medthai
อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่