กรมควบคุมโรคออกมาเผยยอดผู้ป่วยและเสียชีวิตจาก โรคไข้กาฬหลังแอ่น ในปี 2017 พบมีเพิ่มขี้นในภาคเหนือและภาคใต้ หวั่นระบาดพุ่ง เตือนผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคคือ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องระวังเป็นพิเศษ
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เผยว่า…
จากการเฝ้าระวัง โรคไข้กาฬหลังแอ่น ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 28 พ.ย. 2560 มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 24 ราย เสียชีวิต 8 ราย ซึ่งจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ยะลา แม่ฮ่องสอน สตูล ปัตตานี และบึงกาฬ ตามลำดับ โดยปีนี้พบว่าจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิต เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คือ ปี 2559 ป่วย 17 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยเฉพาะจังหวัดในภาคใต้และภาคเหนือตามแนวชายแดนติดกับประเทศเมียนมา
ซึ่งโรคนี้พบได้ตลอดทั้งปีเฉลี่ยเดือนละ 2 – 4 ราย และมีรายงานผู้ป่วยล่าสุดในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 2 ราย ที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ปัตตานี
“โดยทางการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ ได้คาดว่ามีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคไข้กาฬหลังแอ่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดในภาคใต้และภาคเหนือ รวมถึงพื้นที่ตามแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน”
ทั้งนี้ทาง นพ.สุวรรณชัย ได้กล่าวว่า… โรคไข้กาฬหลังแอ่น ติดต่อโดยเชื้อโรคกระจายจากช่องปาก ช่องจมูก จากคนหนึ่งสู่อีกคนโดยตรง ผ่านระบบทางเดินหายใจ สามารถเกิดได้ทุกวัย แต่มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
อ่านต่อ “กลุ่มเสี่ยงโรคไข้กาฬหลังแอ่น” คลิกหน้า 2
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : www.newtv.co.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
โรคไข้กาฬหลังแอ่นคืออะไร?
โรคไข้กาฬหลังแอ่น คือ โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Meningococcal ที่มีชื่อเรียกว่า “Neisseria Meningitidis” ซึ่งการติดเชื้อของโรคดังกล่าวนั้น สามารถแบ่งออกได้ 2 ลักษณะคือ
1. การติดเชื้อแบบธรรมดา
2. กรณีที่เชื้อแบ่งตัว
ซึ่งก็สามารถแบ่งออกเป็นการแบ่งตัวอย่างช้า ๆ ในกระแสเลือดกับการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วในกระแสเลือด
- กรณีที่เชื้อแบ่งตัวอย่างช้า ๆ ในกระแสเลือด เชื้อจะเดินทางเข้าไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ที่พบบ่อยคือ เยื่อหุ้มสมอง และที่พบได้เป็นส่วนน้อย คือ ข้อต่อต่าง ๆ และเยื่อหุ้มหัวใจ และทำให้เกิดรอยโรคที่บริเวณนั้น ๆ เช่น การติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ Meningitis พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 3 จากลักษณะการติดเชื้อดังกล่าว
- กรณีที่เชื้อเกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วในกระแสเลือด ผู้ป่วยจะเกิดอาการของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด และเชื้ออาจเข้าไปอยู่ที่เยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย อัตราการเสียชีวิตร้อยละ 50 กรณีที่เชื้อมีการแบ่งตัวในกระแสเลือดอย่างรวดเร็วมาก จะส่งผลทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่รุนแรง
การติดต่อไข้กาฬหลังแอ่น
โรคนี้จะเกิดเฉพาะจากคนสู่คน ไม่มีสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค การติดต่อเกิดโดยการหายใจเอาเชื้อแบคทีเรียที่กระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย หรือของผู้ที่เป็นพาหะ หรือการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งเหล่านี้
แล้วนำมาสัมผัสกับเยื่อบุจมูก ตา หรือปากของเรา ผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วย หรืออาศัยอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่นที่เกิดภาวะติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด จะมีโอกาสติดเชื้อจากผู้ป่วยมากกว่า 400 เท่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไปๆที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย
ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
-
คนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี
-
ผู้ที่ถูกตัดม้าม
-
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
-
ผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น ยกตัวอย่างเช่น ประเทศในแถบแอฟริกา เป็นต้น
อ่านต่อ >> “วิธีการป้องกันลูกน้อยจากโรคไข้กาฬหลังแอ่น” คลิกหน้า 3
เครดิต: กรมควบคุมโรค Siam Health และ Thai Labonline
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ของ โรคไข้กาฬหลังแอ่น ในปัจจุบันนั้น พบว่า มีการค้นพบโรคดังกล่าวทั่วโลก ไม่จำกัดว่าจะมีลักษณะภูมิประเทศอยู่ในเขตอบอุ่นหรือร้อน แต่จะพบบ่อยและมากที่สุดในเขตพื้นที่ที่มีอากาศร้อนแห้ง
สำหรับในประเทศไทยนั้น พบว่ามีการพบผู้ป่วยที่เป็นโรคดังกล่าวในทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวัยทำงาน ซึ่งแนวโน้มของกลุ่มผู้ที่มีโอกาสเป็นโรคดังกล่าวนั้น ก็ได้แก่เด็ก หรือกลุ่มคนที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่แออัด และจะพบผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงของฤดูฝน
วิธีการป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น
การป้องกันโรคมี 2 วิธีหลัก คือ การกินยาต้านจุลชีพ และ ฉีดวัคซีน ซึ่งผู้ที่สมควรได้รับการป้องกัน ได้แก่ ผู้ที่สัมผัสโรคใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นเวลานาน เช่น สมาชิกในครัวเรือนเดียวกัน ร่วมห้องนอนเดียวกัน เด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็ก, ห้องเรียนเดียวกับผู้ป่วย ทหารในค่ายเดียวกัน
- โดยการกินยาต้านจุลชีพ ใช้กับผู้สัมผัสโรคตามข้อบ่งชี้ข้างต้น โดยแพทย์มักจะเลือกกลุ่ม rifampicin หรือ ciprofloxacin ซึ่งคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องรับการป้องกัน นอกจากจะเดินทางเข้าไปในเขตที่มีการระบาดเป็นประจำ ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องโรคไข้กาฬหลังแอ่น
- การฉีดวัคซีน ใช้ในกรณีที่คนที่จะเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเป็นประจำ เช่น ประเทศแถบแอฟริกาบางประเทศ หรือ ให้วัคซีนแก่ประชาชนที่อยู่เขตระบาดซึ่งทราบสายพันธุ์ (serogroup) ของเชื้อซึ่งระบาดอยู่ก่อน เพราะวัคซีนจะป้องกันได้เพียงบางสายพันธุ์เท่านั้น
ดังนั้นการใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น จะได้ผลในบางพื้นที่ที่ทราบถึงสายพันธุ์ของเชื้อแล้วเท่านั้น ผู้ที่จะเดินทางเข้าไปในเขตที่มีโรคชุกชุม อาจติดต่อขอรับวัคซีนได้ที่หน่วยงานของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
ซึ่งวัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่นที่มีใช้ในประเทศไทย เป็นชนิดที่สามารถป้องกันได้ 4 สายพันธุ์คือ A, C, Y, W-135 โดยจะมี 2 ชนิดย่อยๆ คือ Conjugated tetravalent meningococcal vaccine (Menactra®) และ Polysaccraride tetravalent meningococcal vaccine (Menomune®), โดยภูมิคุ้มกันจะขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนแล้วประมาณ 7-10 วัน และฉีด 1 ครั้งภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้ 3-5 ปี
และเนื่องจากวัคซีนชนิดนี้ไม่ได้ฉีดให้คนไทยโดยทั่วไป จึงอาจหาได้ยาก และไม่มีในโรงพยาบาลทั่วไป ผู้ที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนสามารถติดต่อได้ที่ คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน, สถานเสาวภา สภากาชาดไทย, สถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข
การป้องกันที่สำคัญและได้ผลดีกว่า
คือ ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น สมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วย และผู้สัมผัสใกล้ชิดในชุมชนสมควรได้รับยาเพื่อป้องกันการถ่ายทอดโรคไข้กาฬหลังแอ่น ซึ่งยาดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกัน โดยไม่ขึ้นกับสายพันธุ์ของเชื้อ อย่างไรก็ตาม แพทย์จะสามารถให้คำปรึกษาแนะนำได้ว่า ผู้สัมผัสโรคสมควรได้รับยาป้องกันหรือไม่
อย่างไรก็ดีหากคุณพ่อคุณแม่หรือลูกน้อยมีอาการป่วยสงสัยว่าเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น ควรรีบพบแพทย์ทันที สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- โรคปอดบวมในเด็ก หาหมอช้าอาจสูญเสียอวัยวะบางส่วนได้
- รู้จัก โรคกระดูกอ่อน ในเด็กพร้อมสาเหตุและวิธีป้องกัน
- 5 อาการสัญญาณเตือน “โรคหัวใจในเด็ก” ที่พ่อแม่ควรรู้!
- UN เผย เด็กเสียชีวิตวันละกว่า 1.5 หมื่นคน จากโรคที่ป้องกันได้!
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.si.mahidol.ac.th , www.thaitravelclinic.com , haamor.com/th