AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เตือนแม่ระวัง! ลูกโดนน้ำร้อนลวก จนต้องผ่าตัดถึง 2 รอบ

แม่แชร์ประสบการณ์ตรง! ลูกโดนน้ำร้อนลวก ถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด และต้องผ่าตัดถึง 2 รอบ!

 

 

คุณแม่ท่านน้องแพรว อนุญาตให้ทีมงาน Amarin Baby and Kids ถ่ายทอดเรื่องราวดังกล่าวนี้ เพื่อเป็นอุทาหรณ์กับทุก ๆ ครอบครัว ที่กำลังมีลูกหลานอยู่ในวัยกำลังซนและปีนป่ายว่า

สวัสดีคะคุณแม่ทุกคน วันนี้มีประสบการณ์มาเล่าให้ฟังลูกสาวชื่อน้องแพรว เมื่อวันที่ 21เดือนมิถุนายน น้อง1ขวบ11 เดือน 21 วัน ยายกำลังจะชงนมให้หลาน กระติกน้ำร้อนกำลังเดือด ๆ ด้วยความที่ยายใช้วิธีเปิดฝากระติกน้ำร้อนหันข้างไปชงนมให้หลาน ปรากฎว่าน้องแพรวปีนถังน้ำใช้มือคว้ากระติกจนน้ำได้คว่ำลาดเกือบจะทั้งตัวน้อง

แน่นอนคนเป็นยายตกใจจนทำอะไรไม่ถูก รีบนำตัวเข้าส่งทางโรงพยาบาลทันทีคือ เรากำลังไปส่งพี่ของน้องที่โรงเรียน ไปถึงเห็นสภาพน้องกรี๊ดร้องด้วยความเจ็บปวดทรมานอย่างมาก หมอได้เดินมาแจ้งว่า ทางโรงพยาบาลไม่มีห้องปลอดเชื้อ และได้ทำการติดต่อไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ต่อมาน้องได้รักษานอนที่โรงพยาบาลกินนอนที่นั่นได้ประมาณเดือนกว่า

อ่านต่อเรื่องราวของคุณแม่ได้ที่หน้าถัดไปค่ะ >>

 

 

น้องได้เกิดอาการติดเชื้อในกระแสเลือดถึงขั้นมีเลือดไหลออกทางรูปัสสาวะ เลือดที่ออกมานั้นประมาณ 1 ขันต่อรอบ หมอบอกว่า มีเลือดในตัวแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ คนเป็นแม่ใจแทบสลาย หมอบอกให้ทำใจ ต้องขอตัวน้องเข้าห้องผ่าตัดถึง 2 รอบ แต่ละรอบเสี่ยงกับการผ่าตัดทุกครั้ง

ช่วงที่น้องนอนโรงพยาบาล แม่ออกบนตามสถานที่ที่ต่าง ๆ ทำบุญถวายสังฆทานทุก ๆ เช้า โชคดีคะที่ร่างกายน้องเข้มแข็งมาก ๆ น้องใช้เวลารักษาตัวอยู่ประมาณเกือบสามเดือน หมอให้กลับบ้านได้ ทุกวันนี้เหลือแค่แผลเล็กน้อย กับแผลเป็นที่ต้องมารักษาเอง…บ้านไหนมีลูกกำลังซนชอบปีนป่ายระวังกันด้วยนะคะ ขอบพระคุณที่รับฟังค่ะ

นอกจากนี้ คุณแม่ยังได้ฝากทิ้งท้ายกับคุณพ่อคุณแม่ทุกคนอีกว่า อยากให้ช่วยกันระวังเด็กในช่วงวัยกำลังหัดคลานหัดเดินด้วยค่ะ คนเป็นแม่เห็นลูกปวดแสบปวดร้อนทุรนทุรายใจแม่จะขาดเลยทีเดียว อยากให้ช่วยกันระวัง หูตาต้องไว วินาทีเดียวก้อเจ็บตัวได้ตลอดเลยจริง ๆ ค่ะ

ชมคลิปวิธีการปฐมพยาบาลกรณี ลูกโดนน้ำร้อนลวก

ดูแลแผลน้ำร้อนลวกอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ >>


เครดิต: คุณแม่น้องแพรววา

 

 

ดูแลแผลน้ำร้อนลวกอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ

วิธีการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือโดนน้ำมันกระเด็นใส่นั้น คุณแม่จะต้องดูจากอาการที่ลูกหรือสามาชิกในบ้านประสบมาก่อนว่า มีความอันตรายอยู่ที่ระดับใด และโดนตามส่วนบริเวณต่าง ๆ ในร่างกายมาเยอะแค่ไหน แล้วจึงจะสามารถรักษาได้ตามอาการ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ที่โดนของร้อนลวก หรือไหม้ตามร่างกายมานั้นมีเหมือนกัน คือ อาการปวดแสบปวดร้อนแบบเฉียบพลัน และกินระยะเวลานาน จนบางคนอาจใช้ยาสีฟัน หรือน้ำปลามาทากันการปวดแสบร้อน ตามความเชื่อในสมัยโบราณ ที่ถือว่าผิดมหันต์ และยังส่งผลให้แผลอาจติดเชื้อได้โดยง่ายอีกด้วย

แผลไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก แบ่งได้ 3 ระดับ

1. แผลในระดับแรก เป็นการโดนไหม้ หรือลวกในระดับแค่เล็กน้อย โดนทำลายแค่ผิวหนังกำพร้าชั้นนอกเท่านั้น โดยแผลนั้นจะไม่มีตุ่มพองใส แต่จะแค่ผิวหนังบริเวณนั้นมีสีแดงกว่าปกติ มีความรู้สึกว่าปวดแสบและร้อนไม่มากนัก จะไม่ทิ้งรอยแผลเป็นไว้เมื่อหายปวด โดยทั่วไปแผลระดับแรกนี้จะหายไปในระยะเวลา 7 วัน

วิธีการรักษา แค่ใช้น้ำอุณหภูมิปกติไหลผ่านแผล แล้วจึงใช้น้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบไว้สักครู่หนึ่ง อาการปวดก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ หรือถ้าใครมีคูลฟีเวอร์ ( แปะหน้าผากลดไข้เด็ก ) ก็สามารถนำมาแปะที่แผลไว้ พออาการปวดดีขึ้นก็ให้ทายารักษาอาการ คุณแม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปค่ะ

2. แผลในระดับที่สอง คือแผลที่โดนลึกขึ้น และกินบริเวณกว้างกว่าแผลในระดับแรก เข้าไปถึงชั้นหนังกำพร้า แล้วลึกลงไปถึงชั้นหนังแท้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังหลงเหลือเซลล์ที่สามารถเจริญเติบโตมาทดแทนชั้นหนังที่ตายแล้วได้อยู่ แผลนั้นจะมี 2 แบบ คือทั้งแบบเป็นตุ่มพองมีน้ำใส ๆ ข้างใน พอแกะน้ำออกมาผิวบริเวณนั้นจะมีสีชมพู และมีน้ำเหลืองไหลออกมาเล็กน้อย แผลระดับนี้จะเริ่มมีอาการปวดแสบมากขึ้น เพราะเส้นประสาทถูกทำลายไปด้วย แต่ไม่เยอะมากนักค่ะ แผลนั้นจะหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ และจะไม่เกิดแผลเป็น ส่วนอีกแบบนึงจะเป็นแผลที่ไม่มีตุ่มพองแผลจะแห้ง มีสีเหลืองขาวและไม่ค่อยปวด แต่จะทำให้เกิดแผลเป็นได้

วิธีการรักษา แผลระดับนี้ ยังคงใช้วิธีการรักษาเบื้องต้น แบบแผลระดับแรก เพียงอาจจะต้องมีการสะกิดตุ่มหนองในแผลแบบที่ 1 ออก แล้วจึงทายาเพื่อรักษาอาการต่อไป และต้องมีการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับแผลแบบที่ 2 เพื่อลดการติดเชื้อ

3. แผลในระดับที่สาม เป็นแผลที่ลึกลงไปทำลายหนังกำพร้า หนังแท้ รูขุมขน ต่อมเหงื่อ และเซลล์ประสาทจนหมด ซึ่งแผลระดับนี้ถือว่ารุนแรงมาก เพราะอาจกินลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อและกระดูก แต่จะไม่มีอาการปวดจากแผล เพราะเซลล์ประสาทโดนทำลายไปทั้งหมด ทำให้ไม่รับรู้ถึงอาการปวด ลักษณะของแผลจะมีสีซีดออกเหลือง หรืออาจจะมีสีไหม้ออกดำ จะแข็งด้าน ในบางรายอาจมองเห็นได้ถึงเส้นเลือด แผลชนิดนี้จะมีอาการผิวหนังตึง และขยับร่างกายลำบาก เมื่อหายแล้วก็จะเป็นแผลเป็น หรือในบางรายอาจกลายเป็นแผลนูนขึ้นมาแทนก็ได้

วิธีการรักษา แผลชนิดนี้เมื่อเป็นแล้ว ไม่สามารถรักษาอาการเองได้ ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์เท่านั้นนะคะ และมีเพียงแค่การปลูกถ่ายผิวหนังใหม่เท่านั้นที่เป็นวิธีการรักษา แผลระดับสามนี้ต้องดูแลเป็นอย่างดีจากแพทย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรงกว่าแผลระดับอื่นนั่นเอง

เพื่อเป็นการป้องกันและหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ การไม่ประมาทนั่นเองค่ะ

เครดิต: Honest Docs

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids