AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่กุ๊บกิ๊บเผย! อุ้มลูกเข้าเอว ขาโก่ง ความเชื่อโบราณผิดๆ

อุ้มลูกเข้าเอว ขาโก่ง …กลายเป็นเรื่องดราม่าไปเลย เมื่อคุณแม่กุ๊บกิ๊บ ออกมาบอกว่าไม่เชื่อเรื่องการอุ้มลูกแล้วจะทำให้ลูกขาโก่ง จนถูกชาวเน็ตต่อว่ากลับมา!

แม่กุ๊บกิ๊บเผย! อุ้มลูกเข้าเอว ขาโก่ง ความเชื่อโบราณผิดๆ

เรียกว่าเกิดดราม่าขึ้นมาเบาๆเลยทีเดียวจ้าเมื่อคุณแม่กุ๊บกิ๊บ สุมณทิพย์ สุดแซ่บ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เจอกระแสที่ชาวเน็ตได้คอมเมนต์เรื่อง ขาโก่ง ของน้องเป่าเปาจนมีคำถามสงสัยกันไปต่างๆนานาๆว่าไปดัดขาลูกสาวบ้าง โตขึ้นไม่สวยบ้าง ล่าสุดคุณแม่กุ๊บกิ๊บก็ออกมาโพสต์ภาพพร้อมแคปชั่นที่เผยความจริงให้ทุกคนได้ลูกว่า แท้จริงลูกขาโก่งเพราะอะไร ซึ่งเป็นภาพขณะที่น้องเปาเปากำลังยืนขาตรงเป๊ะ พร้อมทั้งเขียนแคปชั่นว่า

*อุ้มเข้าเอวจะทำให้ขาโก่ง!!!!! #อีก1ความเชื่อโบราณที่ผิดๆ #ไม่เห็นจะโก่งเลอะ #เด็กเล็กห้ามดัดขาอันตรายมาก #คุณแม่มือใหม่จำไว้ความรู้ใหม่ที่ใครๆ หลายๆ คนไม่รู้ค่ะอย่าเชื่อคำใครเค้าว่ากันว่าค่ะ 😊🙏 ปล. บางครั้งเด็กที่ขาโก่งมาจากพันธุกรรม,กรรมพันธุ์ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกค่ะ!!! อ้างอิงจากแพทย์ทั่วโลก!!!!! 😊❤️👌

แต่งานนี้ก็ยังมีชาวเน็ตเข้ามาคอมเมนต์ตอบกลับคุณแม่กุ๊บกิ๊บ เกี่ยวกับเรื่องการแย้งความเชื่อโบราณของคุณแม่กุ๊บกิ๊บว่า…

(ขอบคุณภาพจาก : gggubgib36)

แต่คุณแม่กุ๊บกิ๊บก็ไม่ได้ออกมาไม่ตอบโต้แต่อย่างใด เพราะได้บอกไปในแคปชั่นแล้วว่า ความเชื่อเกี่ยวกับ การอุ้มเด็กเข้าเอวที่คุณแม่หลายๆคนถนัดกันนั้นไม่ได้ทำให้เด็กน้อยขาโก่งแต่อย่างใด  และการดัดขาของลูกน้อยนั้น ก็เป็นเรื่องไม่จำเป็น เพราะปัญหาการขาโก่งนั้น มาจากกรรมพันธุ์ เป็นส่วนใหญ่นั่นเอง

♥ บทความแนะนำควรอ่าน : อุทาหรณ์! หมอเตือนดัดขาลูกจนขาหัก

อ่านต่อ >> คำชี้แจงจากหมอ เรื่อง “ขาโก่ง” ในลูกน้อย คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

(ขอบคุณภาพจาก : gggubgib36)

ทั้งนี้เรื่องการอุ้มลูกเข้าเอว ซึ่งรวมไปถึงความเชื่อต่างๆเกี่ยวการที่ลูกขาโก่ง แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด ได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้

เรื่องของขาโก่ง ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ที่พบลักษณะขาโก่ง (bowleg) ส่วนใหญ่เป็นภาวะปกติ ไม่ต้องการการรักษา มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ผิดปกติเนื่องจากเป็นโรคกระดูก เช่น ขาดวิตามินซี วิตามินดี หรือเป็นโรคพันธุกรรมที่พบได้ยาก ซึ่งหากเป็นความผิดปกติจริง เด็กต้องมีอาการผิดปกติของแขนหรือกระดูกส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย

หรือเป็นการโก่งที่มีการบิดของปลายเท้าชี้เข้าด้านใน (In Toeing) หรือพบขาโก่งร่วมกับตัวเตี้ยผิดปกติ ความผิดปกติเหล่านี้ต้องรักษาโดยวิธีผ่าตัดแก้ไขรูปทรง หรือการตัดรองเท้าพิเศษโดยศัลยแพทย์โรคกระดูกเฉพาะทางสำหรับเด็ก

ทำไมทารกจึง “ขาโก่ง”?

ภาวะโก่งแบบปกติที่พบในเด็กแรกเกิดทุกคนเกิดจากการที่เขาอยู่ในท้องแม่ซึ่งเป็นที่แคบๆ จึงต้องงอแขนงอขาให้มากที่สุด ทำให้กล้ามเนื้อบางมัด เส้นเอ็นบางเส้น ตึงมากกว่าอีกด้านหนึ่ง ลักษณะของกระดูกจึงไม่ตรง แต่เมื่อคลอดออกมาแล้ว แขนขาจะเหยียดออกมากขึ้น กระดูกจะดูตรงมากขึ้นเองเมื่ออายุ 2 ขวบ หากบางคนยังอาจดูโค้งเหมือนโก่งนิดๆ จนโต อาจพบได้ในครอบครัวเดียวกัน เป็นลักษณะกรรมพันธุ์ ไม่ต้องรักษา เนื่องจากไม่ส่งผลทำให้การเดิน การวิ่งผิดปกติ

วิธีตรวจดูว่าขาโก่งมากผิดปกติหรือไม่

ทำโดยจับขาให้เหยียดตรง โดยให้ตาตุ่มด้านในอยู่ชิดกันมากที่สุด แล้วสังเกตว่าด้านในของข้อเข่าอยู่ห่างกันกี่เซนติเมตร ปกติจะไม่เกิน 5 เซนติเมตร หากไม่แน่ใจควรปรึกษากุมารแพทย์หรือศัลยแพทย์โรคกระดูกเฉพาะทางสำหรับเด็ก

และหากลูกเข้าวัย 2-3 ขวบ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจสังเกตเห็นว่าขาของลูกมีลักษณะผิดปกติ เมื่อลูกยืนกางขา แยกเท้าห่าง หัวเข่ากลับโค้งเข้าหากัน ถ้าเป็นแบบนี้อย่าเพิ่งตกใจ อาการนี้เรียกว่า Knock Knee เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ในเด็กวัย 2 – 4 ขวบ และจะหายไปเองเมื่อเข้าวัย 5 – 6 ขวบ

ถึงแม้ว่าสาเหตุจะยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่การศึกษาพบว่า เด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ในช่วงแรกเกิดมีแนวโน้มที่จะมีอาการขาโก่งเข้า ทั้งนี้เนื่องจากกระดูกและข้อต่อของเขาไม่สามารถรับน้ำหนักของร่างกายได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่อาการขาโก่งเข้าไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ยกเว้นแต่อาจทำให้ลูกวิ่งไม่สะดวกเท่าปกติ

ในกรณีที่มีการติดเชื้อโรคกระดูกอ่อน หรือบาดเจ็บบริเวณกระดูกหน้าแข้ง อาจทำให้เกิดอาการขาโก่งเข้าแบบถาวรได้ ดังนั้น หากลูกอายุ 6 ขวบแล้ว อาการขาโก่งยังไม่หายไป ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป

อ่านต่อ >> ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาวะ “ขาโก่ง” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

(ขอบคุณภาพจาก : gggubgib36)

ทั้งนี้ลูกคือคนที่รู้ดีที่สุดว่าควรยืนและเดินเมื่อใด  ลูกจะทำเมื่อเขาพร้อม และแน่นอนว่ากระดูกย่อมแข็งแรงเพียงพอแล้ว การยืนและเดินไม่ทำให้เกิดภาวะขาโก่งแน่นอน (ลักษณะที่โก่งอยู่แล้วเป็นลักษณะปกติที่พบได้ในเด็กวัยนี้)

ที่จริงแล้วการเดินและยืนจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นมีพัฒนาการที่ดีมากขึ้น รวมถึงทำให้รูปร่างของเท้าพัฒนาดีขึ้นเพราะการลงน้ำหนักที่เท้าทำให้เริ่มมีอุ้งเท้าขึ้นมา ส่วนที่อาจทำให้แย่น่าจะเป็นอาการปวดหลังของผู้ทำหน้าที่ช่วยจับแขนให้ลูกยืนหรือเกาะเดิน เพราะต้องคอยก้มจับลูกไว้ตลอดเวลามากกว่า

อย่างไรก็ดี ไม่ควรบังคับหรือจับเด็กที่ยังไม่พร้อมมาฝึกเช่นเดียวกับพัฒนาการด้านอื่นๆ คือควรให้ลูกเป็นผู้นำ และคุณแม่เป็นผู้คอยส่งเสริม เพื่อให้ลูกมีความสุขในสิ่งที่ได้กระทำด้วยตัวเองและเกิดการต่อต้านน้อยที่สุด

 

การหัดเดินก่อนเวลาอันควรจะก่อให้เกิดอันตรายกับขาของลูกหรือไม่?

อวัยวะที่น่าห่วงไม่น่าจะใช่ขาของลูก แต่เป็นหลังของคุณเสียมากกว่า (เพราะต้องคอยก้มตัวเพื่อพาเขาเดิน) อันที่จริง ถ้าขาของลูกยังไม่พร้อมสำหรับกิจกรรมการเดิน เขาก็คงไม่เรียกร้องที่จะทำอย่างนั้นหรอกค่ะ และการหัดเดินแต่เนิ่นๆ ก็เหมือนกับการเริ่มยืนแต่เนิ่นๆ ตรงที่มันไม่ใช่สาเหตุที่จะทำให้ลูกขาโก่ง หรือมีความผิดปกติทางกายภาพอื่นๆ

ตรงกันข้าม กิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดประโยชน์กับลูกด้วยซ้ำ เพราะเขาจะได้ออกกำลังกายและบริหารกล้ามเนื้อที่จำเป็นต่อการเดินแบบเต็มรูปแบบในวันข้างหน้า ยิ่งลูกเดินเท้าเปล่า ยิ่งเป็นการช่วยเพิ่มกำลังให้เท้าของเขาเข้าไปอีก

ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาวะ “ขาโก่ง”

การดัดขาหลังอาบน้ำจะช่วยให้ขาตรงมากขึ้น!

ไม่จริง และไม่ควรทำ เพราะอาจทำให้ลูกเจ็บ และไม่สามารถป้องกันได้ เพราะการดัดขาโดยใช้มือทำเป็นครั้ง ๆ ไม่สามารถสร้างแรงกดกับกระดูกขาได้เลย จึงไม่ได้ช่วยหรือป้องกันขาโก่งได้แต่อย่างใด

การใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปจะทำให้ขาโก่งมากขึ้น!

ไม่จริง ที่จริงแล้วยังใช้เป็นการรักษาภาวะข้อสะโพกเคลื่อนได้ด้วย แต่สำหรับผลร้ายของการใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป คือ ทำให้มีอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเพิ่มขึ้น หากลูกถ่ายอุจจาระออกมาแล้วไม่ได้ล้างทันที หรือล้างทันที แต่ไม่สะอาด ยังเหลือเศษอุจจาระตกค้าง จะมีเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในเศษอุจจาระเข้าไปตามท่อปัสสาวะ แบ่งตัวเพิ่มจำนวนจนเกิดปัญหาติดเชื้อตามมา ผ้าอ้อมสำเร็จรูปทำให้เกิดผิวหนังอักเสบบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม อาจมีอาการแพ้ เป็นผื่นแดง คัน เพราะแพ้สารดูดซับความชื้น หรือความอับชื้นทำให้เกิดเชื้อรา วิธีแก้ไข คืออย่าใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปตลอดเวลา ควรเปลี่ยนเป็นผ้าอ้อมผ้าหรือให้เปิดโล่งบริเวณดังกล่าวเป็นบางขณะ

การอุ้มเข้าสะเอว หรือนั่งบนเป้อุ้ม จะทำให้ขาโก่งมากขึ้น!

ไม่จริง และเช่นเดียวกับการใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป หมอแนะนำให้ทำเพื่อเป็นการรักษาภาวะข้อสะโพกเคลื่อน ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ว่าจะอุ้มท่าไหน การสัมผัส การพูดคุย และการเล่นกับลูก ล้วนแล้วแต่เป็นการช่วยเชื่อมสายสัมพันธ์ ความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ส่งผลให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีสมวัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จนกระทั่งลูกเข้าสู่วัยคลานหรือหัดเดินคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรอุ้มลูกมากเกินไป ควรปล่อยให้ลูกได้ใช้กล้ามเนื้อทุก ๆ ส่วน เพื่อให้กล้าเนื้อได้เจริญเติบโตและแข็งแรงสมวัย

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด จาก กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids