ลูกชอบกินสาหร่าย เพราะสาหร่ายกินแล้วดีมีประโยชน์ แต่จะต้องกินปริมาณเท่าไหร่ถึงจะไม่อันตราย?
“สาหร่าย” หนึ่งในอาหารยอดนิยมในใจทุกเพศและทุกวัย อีกทั้งยังขึ้นชื่อในการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารอย่าง ซูชิ ต้มจืด ขนม หรืออาหารเสริม … นอกจากจะอร่อยแล้ว ยังขึ้นชื่อในเรื่องของประโยชน์ที่ดีกับสุขภาพอีกด้วย
แต่กินมากแค่ไหนถึงจะได้รับประโยชน์มากกว่าโทษ งานนี้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนควรต้องทราบแล้วละค่ะ เพราะขืนปล่อยให้ลูกกินมากไป อาจจะเสียสุขภาพเอาได้ง่าย ๆ ในวันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของสาหร่าย รวมไปถึงปริมาณการรับประทานของแต่ละวัยมาฝากกันด้วยนะคะ พร้อมแล้วไปอ่านบทความนี้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ
อ่านต่อ >> คุณประโยชน์ของสาหร่าย
คุณประโยชน์ของสาหร่าย
ทราบไหมคะว่า สาหร่ายปริมาณ 1 ช้อนพูน ให้พลังงานเพียง 4 แคลอรี่ โดยประกอบไปด้วยแคลเซียม ธาตุเหล็ก ไฟเบอร์ โฟเลต แมกนีเซียม และไอโอดีนจำนวนมาก แต่ปราศจากโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน นอกจากนี้ในสาหร่ายสกัดยังมีสารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น สารฟิวโคแซนธิน ที่เชื่อว่าอาจช่วยลดน้ำหนัก และสารฟูคอยแดน ที่อาจมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้อีกด้วย … ว่าแล้วเรามาดูคุณประโยชน์ของเจ้าสาหร่ายนี้กันดีกว่าค่ะว่า กินไปแล้วจะมีประโยชน์อะไรกับร่างกายเราได้บ้าง
- ช่วยลดน้ำหนัก ข้อนี้คุณแม่หลาย ๆ ท่านคงจะชอบ และต่างพากันเข้าใจว่าการบริโภคสาหร่ายอาจทำให้ผอมลง ทั้งนี้ มีงานวิจัยบางส่วนได้กล่าวถึงประโยชน์ของสารสกัดจากสาหร่ายว่าอาจช่วยกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญอาหาร และช่วยลดความรู้สึกหิว ทำให้มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ได้ทำการศึกษากับกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 18-60 ปีจำนวน 23 คน โดยให้กลุ่มตัวอย่างนั้น ดื่มเครื่องดื่มไฟเบอร์และสารอัลจิเนต ที่สกัดจากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล พบว่าไฟเบอร์และสารอัลจิเนตจากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล อาจช่วยให้รู้สึกอยู่ท้องนานถึง 5 ชั่วโมงหลังการบริโภค และอาจทำให้รู้สึกหิวน้อยลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์
- ลดระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ว่าจะเด็กหรือว่าผู้ใหญ่ ก็มีโอกาสที่จะประสบกับภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งทางการแพทย์หลายท่านเชื่อว่า การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างสาหร่าย อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดความเสี่ยงจากโรคเบาหวานได้ อีกทั้งมีงานวิจัยหนึ่งทดลองในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเบาหวานชาวเกาหลี โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกควบคุมให้บริโภคอาหารปกติ และกลุ่มที่ 2 บริโภคสาหร่ายปริมาณ 48 กรัม/วัน หลังการทดลองปรากฏว่า กลุ่มที่บริโภคสาหร่ายได้รับไฟเบอร์สูงกว่าอีกกลุ่ม 2.5 เท่า และมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมากอย่างมีนัยสำคัญ
- ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง จากแหล่งที่มาตามธรรมชาติ สาหร่ายอุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร สารอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย จึงคาดว่าสาหร่ายอาจดีต่อสุขภาพ และป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น โดยมีงานวิจัยบางชิ้นศึกษาสารสกัดต่าง ๆ จากสาหร่ายทะเลหลากชนิดแล้วพบว่า สารเหล่านั้นอาจทำลายและชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ โดยเฉพาะสารฟูคอยแดนที่สกัดจากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล อาจมีฤทธิ์ต้านมะเร็งลำไส้และมะเร็งเต้านมได้ด้วยเช่นกัน
งานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมะเร็งกับสาหร่ายในหนูทดลองพบว่า หลังได้รับสาหร่ายในรูปอาหารเสริม หนูทดลองมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมลดจำนวนลง 25-38 เปอร์เซ็นต์ และลดการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลง 18-35 เปอร์เซ็นต์ ตามปริมาณการให้อาหารเสริมจากสาหร่ายเช่นกันค่ะ แต่ทุกอย่างล้วนมีข้อเสีย ดังนั้น การกินสาหร่ายมากเกินไป ก็อาจจะเกิดผลเสียกับร่างกายได้ด้วยเช่นกัน
อ่านต่อ >> สาหร่ายกินเท่าไหนถึงจะไม่เกิดโทษ
สาหร่าย กินเท่าไหน ถึงจะปลอดภัย!
แม้สาหร่ายมีสารอาหารและแร่ธาตุที่มีประโยชน์มากมาย ซึ่งอาจทำให้มีผลดีต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ ตามที่กล่าวมา แต่ขณะนี้ยังไม่มีการแนะนำให้ใช้สาหร่ายเพื่อรักษาหรือป้องกันโรคใด ๆ ผู้บริโภคจึงควรรับประทานสาหร่ายในปริมาณพอเหมาะ และคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพเสมอ โดยควรระมัดระวังปริมาณสารประกอบที่อาจเพิ่มขึ้นจากอาหารหรือขนมที่มีสาหร่ายเป็นส่วนประกอบ เช่น เกลือ น้ำตาล และน้ำมันค่ะ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดก็คือ ไอโอดีน
เนื่องจาก สาหร่ายนั้น ประกอบไปด้วยไอโอดีนจำนวนมาก โดยในสาหร่าย 1 กรัม จะมีไอโอดีนประมาณ 16-2,984 ไมโครกรัม แตกต่างกันไปตามชนิดของสาหร่าย ดังนั้น หากรับประทานมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ผู้บริโภคจึงควรคำนวณปริมาณการบริโภคสาหร่ายให้เหมาะสม
ในแต่ละวัน ควรบริโภคมากน้อยเพียงใด วันนี้ เราจะมาดูไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
- ทารกแรกเกิด-อายุ 6 เดือน 110 ไมโครกรัม/วัน
- ทารกอายุ 7-12 เดือน 130 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กอายุ 1-13 ปี 90-120 ไมโครกรัม/วัน
- วัยรุ่นอายุ 14-18 ปี และผู้ใหญ่ 150 ไมโครกรัม/วัน
- ผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร 220-290 ไมโครกรัม/วัน
นอกจากนี้ การบริโภคสาหร่ายปริมาณมากอาจทำให้เกิดปฏิกิริยากับยาบางชนิด เช่น ยาวาร์ฟาริน หรืออาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการแพ้ทางผิวหนัง โรคผิวหนังเหลือง โรคคอพอก และอาจมีผลต่อลำไส้ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือกำลังเผชิญภาวะใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคสาหร่ายและพืชทะเลอื่น ๆ ทุกครั้ง เช่น ผู้ป่วยไทรอยด์ เพราะอาจเกิดความผิดปกติขึ้นได้ หากได้รับไอโอดีนปริมาณมากและเข้มข้นจนเกินไป และผู้ที่ให้นมบุตรยิ่งควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะไอโอดีนอาจถูกส่งผ่านทางน้ำนมแล้วส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ของทารกได้ค่ะ
ขอบคุณที่มา: Pobpad
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่