AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เพราะล้างไม่สะอาด

จากประสบการณ์ของคุณแม่ที่มีลูกสาววัย 1 ขวบ 11 เดือน ลูกติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เพราะล้างก้นไม่สะอาด จนทำให้เชื้อย้อนเข้าไปในทางเดินปัสสาวะ และชอบกลั้นปัสสาวะ เพราะติดเล่นมากจนเกินไป จึงทำให้ลูกติดเชื้อได้ง่ายขึ้น คุณแม่จึงมาแชร์ประสบการณ์ไว้เป็นอุทาหรณ์

ลูกติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

แชร์ประสบการณ์การป่วยของลูก

โรคฮิตเด็กหญิง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะค่ะ

ลูกสาวเรา 1 ขวบ 11 เดือน

เริ่มจากวันเสาร์ที่ 14 วันเด็ก เราพาลูกเที่ยว กลับมาตอนเย็นมีไข้ขึ้น วัดได้ 38 ก็คิดว่าน่าจะเหนื่อยรึเปล่า เลยเช็ดตัว ให้กินยาลดไข้แล้วนอน ตอนเช้าตื่นมาไข้หาย ก็โอเคคงไม่เป็นไรมาก ปรากฏว่าบ่ายๆ เย็นๆ ไข้ขึ้นอีกแล้ว เช้ามาก็หาย เป็นแบบนี้ 2 คืน อาการอื่นไม่มี และกินอาหารได้ปกติ พอวันที่ 3 ไข้ลงทั้งวัน ไม่มีไข้ทั้งกลางวันกลางคืน

พอตอนเช้าอีกวันผื่นแดงขึ้นทั้งตัว ก็เบาใจว่าคงเป็นส่าไข้ แต่ไข้ที่ลงไปแล้วกลับขึ้นมาใหม่ เลยรีบพาไปหาหมอ หมอก็บอกน่าจะติดไวรัสประมาณส่าไข้นั่นแหละ บางเชื้อ ไข้ขึ้น 2 รอบก็มี ก็เบาใจ แต่หมอบอกถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้มาเจาะไข้เลือดออก

กลับมาบ้านอาการแย่ลง เริ่มกินอาหารไม่ได้ ซึม ไข้กลางคืนวัดได้ 39.5 กินยาเช็ดตัวกันทั้งคืน ต้องอุ้มตลอด นอนไม่ได้เลย ตอนเช้าเลยพาไปหาหมออีกรอบ เพื่อเจาะเลือด สรุปไม่เป็นไข้เลือดออก แต่ผลเลือดมีเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ แสดงว่ามีอาการอักเสบ หมอคิดว่าเป็นโรคคาวาซากิ แต่สั่งเก็บปัสสาวะด้วย เพื่อความชัวร์ ผลปัสสาวะมีแบคทีเรียในปริมาณน้อย (5 – 10 ตัว) จนหมอคิดว่าเกิดจากการปนเปื้อนตอนเก็บ และผลปัสสาวะเริ่มแสดงว่าลูกเราเริ่มมีการขาดอาหารเนื่องจากกินไม่ได้ หมอเลยให้แอดมิทให้น้ำเกลือ และสั่งเก็บปัสสาวะเพิ่ม

เก็บปัสสาวะรอบสอง พบแบคทีเรียเพิ่มขึ้น หมอเลยให้ไปเก็บปัสสาวะแบบสวนเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะอีกรอบ เพื่อจะได้ไม่มีการปนเปื้อนแล้วเอาไปเพาะเชื้อ พร้อมทั้งให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียผ่านสายน้ำเกลือทันที ช่วง 2 วันแรกที่อยู่ รพ ไข้ 39 ตลอด จนวันที่ 3 ไข้ลง ผลเพาะเชื้อก็มาพอดี ว่าเป็นเชื้ออีโคไล

สรุปคือ 3 วันแรกที่ลูกเป็นไข้คือติดไวรัสส่าไข้ พอหาย วันที่ผื่นขึ้นดันติดเชื้อทางเดินปัสสาวะต่อจนกรวยไตอักเสบ ทำให้หมอสับสนใจการวิเคราะห์โรคนิดหน่อย

เชื้ออีโคไลมาจากอุจจาระของตัวเอง ที่อาจเกิดจากการล้างก้นที่ไม่ดี ทำให้เชื้อย้อนเข้าไปในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจเกิดจากดวงซวยเชื้อพลัดเข้าไปพอดีจังหวะ หรืออาจเป็นเพราะท่อปัสสาวะของลูกผิดปกติก็เป็นได้ อันนี้หมอบอกถ้าเป็นรอบ 2 ต้องไปฉีดสีดูทางเดินปัสสาวะ อีกปัจจัยที่ลูกเราเป็น เพราะตั้งแต่ 1.8 ขวบที่เลิกผ้าอ้อมสำเร็จรูป นางชอบกลั้นฉี่ เพราะติดเล่น ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นค่ะ

แอดมิทไป 5 คืน สงสารนางมากค่ะ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในเด็ก” คลิกหน้า 2

การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในเด็ก

การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในเด็ก เป็นอาการที่พบบ่อยพอสมควร บางครั้งอาการอาจไม่ชัดเจน ทำให้ไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง บางคนอาจเนิ่นนานจนเกิดปัญหาแทรกซ้อน เช่น โรคไตเรื้อรัง หรือไตวายได้ ซึ่งท่อปัสสาวะของเด็กผู้หญิงจะสั้นกว่าเด็กผู้ชาย จึงทำให้ติดเชื้อได้มากกว่า ส่วนเด็กชายที่ไม่ได้รับการขลิบ ก็จะมีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าเด็กชายที่ขลิบแล้ว

โดยส่วนใหญ่พบว่าเด็กผู้หญิงประมาณ 3% และเด็กผู้ชายประมาณ 1% จะมีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะตอนเด็กไปจนถึงอายุ 11 ขวบ และพบว่าเด็กเล็กๆ จะมีไข้สูง โดยไม่มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย ประมาณ 1 ใน 20 เป็นเด็กที่ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โดยตำแหน่งที่ติดเชื้อ เช่น ท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ หรือที่เนื้อไต

สาเหตุการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

ประมาณ 75-95% ของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เกิดจากการติดเชื้อของเชื้อแบคทีเรีย อีโคไล เป็นแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ ที่ปนอยู่ในอุจจาระ และบริเวณปากทวารหนัก ซึ่งอยู่ใกล้กับปากท่อปัสสาวะของผู้หญิง ทำให้เด็กผู้หญิงได้รับเชื้อแบคทีเรียที่ช่องคลอดได้ง่ายกว่าเด็กผู้ชาย

อาการของเด็กที่ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

1.มีไข้ เจ็บ หรือแสบเวลาปัสสาวะ ปวดปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด หรือกลั้นฉี่ไม่ค่อยได้

2.อาเจียน ปวดท้อง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดหลัง หรือปวดด้านข้างของลำตัว

3.มีปัสสาวะขุ่น หรือมีสีผิดปกติ เช่น สีแดงปนเลือด และมีกลิ่นเหม็น

4.ในเด็กเล็ก อาจมีอาการร้องกวน งอแง หงุดหงิดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีการเจริญเติบโตช้า ตัวเล็ก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “การรักษา และป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ” คลิกหน้า 3

การรักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในเด็ก

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จึงจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา คุณหมอจะเลือกชนิด และขนาดยา รวมทั้งวิธีการให้ยาตามความเหมาะสม อาจเป็นการฉีด หรือรับประทาน บางคนที่มีอาการรุนแรง จะมีไข้สูง อาเจียน ปวดท้องร่วมด้วย ก็จะใช้วิธีการฉีดยา อาจต้องนอนโรงพยาบาลตามความเหมาะสม แต่ถ้าเป็นไม่มาก ก็เพียงแค่รับประทานยา

คุณพ่อ คุณแม่ต้องขจัดเชื้อโรคออกไปให้หมดจด เพื่อป้องกันการติดเชื้อลุกลามไปยังระบบอื่นๆ ของร่างกาย และลดโอกาสในการติดเชื้อที่ไต ซึ่งระยะเวลาในการรักษาจะประมาณ 7-14 วัน บางคนอาจต้องรักษานานกว่านั้น คุณพ่อ คุณแม่ควรให้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่หมอสั่ง อย่าหยุดยาเอง

การดูแลลูกน้อยเมื่อติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

1.เมื่อมีอาการควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา รับยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องตามปริมาณที่เหมาะสม

2.ดื่มน้ำสะอาดให้มากกว่าเดิม อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว และไม่กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ

3.พยายามให้ลูกน้อยเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ ไม่นั่ง หรือนอนนานๆ สวมกางเกงที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป

4.ล้างอวัยวะเพศให้สะอาด จากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อลดการปนเปื้อนของแบคทีเรียที่ปากทวารหนัก

5.รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อโอกาสติดเชื้อเพิ่มเติม หลังขับถ่ายควรล้างด้วยน้ำสะอาด และซับให้แห้ง

การป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะให้ลูกน้อย

1.ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว

2.เคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ ไม่อยู่นิ่งๆ นานๆ

3.ไม่กลั้นปัสสาวะ เพราะอาจจะติดเชื้อได้ง่าย

4.ทำความสะอาดหลังจากขับถ่ายอยู่เสมอ


เครดิต: Paan Kittiampon‎, คลินิกเด็กดอทคอม, หาหมอดอทคอม

อ่านเพิ่มเติม คลิก!!

รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

Save