กรมควบคุมโรคออกเตือน! ผ้าอ้อมลูกป่วย ติดเชื้อไวรัสโรต้า แหล่งแพร่เชื้อโรคที่มีอายุได้นานถึง 1 สัปดาห์!
หากพูดถึงโรคที่กำลังเป็นที่ระบาดและน่ากลัวอยู่ในขณะนี้ก็คงหนีไม่พ้น การติดเชื้อไวรัสโรต้า อีกหนึ่งโรคที่เป็นที่ขยาดของบรรดาคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย ส่วนใหญ่แล้วทุกคนคิดว่า ไวรัสโรต้า แพร่ระบาดจากการจับสิ่งของที่ผู้ป่วยโรคนี้เป็น รับประทานอาหารที่ไม่สดใหม่ และไม่ยอมล้างมือบ่อย ๆ เท่านั้น
ซึ่งได้มี คำเตือนของกรมควบคุมโรค ที่อาจจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ถึงกับตกใจ เมื่อผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ลูกใช้แล้วนั้น กลับกลายเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการแพร่ระบาดโรคดังกล่าว แถมมีอายุในการแพร่ระบาดนานเสียด้วยละค่ะ!
อ่านต่อคำเตือนของกรมควบคุมโรค คลิก!
ผ้าอ้อมสำเร็จรูปใช้แล้ว กลายเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการแพร่ระบาด และ ติดเชื้อไวรัสโรต้า เนื่องจากไวรัสโรต้า สามารถอยู่ได้ในอุจจาระนานถึง 1 สัปดาห์ ดังนั้น การกำจัดต้นตอของการแพร่เชื้อนั้นเป็นสิ่งสำคัญ โดยกรมควบคุมโรค ได้ออกมาเสนอวิธีการกำจัดผ้าอ้อมสำเร็จรูปอย่างถูกวิธีและปลอดภัยเอาไว้ดังต่อไปนี้ค่ะ
- เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อ ให้นำน้ำยาซักผ้าขาวจำนวนครึ่งฝาไปผสมกับน้ำจำนวน 600 ซีซี และเอาผ้าอ้อมของลูกที่ใช้แล้วนั้น แช่ลงไปนานประมาณ 30 นาที
- เสร็จแล้วให้นำผ้าอ้อมใช้แล้วไปแยกถุงขยะ โดยรัดปากถุงให้แน่น ที่สำคัญควรมีถุงอีกใบซ้อนไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันถุงใบแรกขาดหรือชำรุดค่ะ ส่วนน้ำยาซักผ้าขาวที่ใช้ตามข้อ 1 นั้นให้เททิ้งลงไปในโถส้วม เพื่อเป็นการเข้าสู่การบำบัดสิ่งปฏิกูลต่อไป
- คุณพ่อคุณแม่และสมาชิกทุกคนในบ้าน ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังการสัมผัสอาหาร หลังการถ่ายอุจจาระและหลังกำจัดขยะ เป็นต้น
หมายเหตุ:
- ในกรณีที่ไม่มีรถเก็บขยะนั้น ให้คุณพ่อคุณแม่ขุดหลุมและกลบใต้ดินลึกประมาณ 50 เซนติเมตรและควรอยู่ห่างจากแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 700 เมตร
- ไม่ควรทิ้งลงแหล่งน้ำ และที่สาธารณะทั่วไป เพราะจะส่งผลให้เชื้อนั้น แพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมได้
- ควรสวมใส่ถุงมือทุกครั้งที่สัมผัส (ถ้ามี) และไม่ลืมที่จะต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่กันนะคะ
ทำความรู้จักกับเชื้อไวรัสโรต้า >>
ทำความรู้จักกับ เชื้อไวรัสโรต้า
ไวรัสโรต้า เป็นไวรัสกลุ่มอาร์เอ็นเอ ในตระกูล Reoviridae ซึ่งมี 7 สายพันธุ์ (A, B, C, D, E, F, G) เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบเกือบทุกคน จะติดเชื้อไวรัสโรต้าอย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า ติดต่อโดยการรับเชื้อเข้าทางปาก จากการปนเปื้อนของเชื้อในน้ำดื่มและน้ำใช้ หรือการสัมผัสกับเครื่องใช้หรือของเล่นต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสโรต้า โดยมักจะมีอาการภายใน 2-10 วันหลังการรับเชื้อเข้าไป
เชื้อที่ออกจากร่างกาย ไปติดตามสิ่งของต่าง ๆ จะคงทนอยู่นานหลายเดือน หากไม่เช็ดออกด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งเชื้อเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดการติดโรคได้เช่นกัน
อาการเมื่อ ติดเชื้อไวรัสโรต้า
เมื่อผู้ป่วย ติดเชื้อไวรัสโรต้า จะมีอาการ ท้องเสีย ถ่ายเหลว 3 ครั้งต่อวัน หรือมากกว่า มีไข้สูงและอาเจียน ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการขาดน้ำ หากรับการรักษาไม่ทันหรือไม่เหมาะสม อาจเกิดภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ จากข้อมูลยังพบอีกว่า ก่อนอายุ 5 ปีเด็กทุกคนจะมีการติดเชื้อซ้ำได้หลายครั้ง
อ่านต่อวิธีการรักษาโรค >>
วิธีการรักษาเมื่อ ติดเชื้อไวรัสโรต้า
คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ไวรัสโรต้า ไม่มียารักษาเฉพาะ แต่สามารถรักษาผู้ป่วยที่ ติดเชื้อไวรัสโรต้า ให้หายได้โดยรักษาตามอาการ โดยให้สารละลายเกลือแร่กินให้เพียงพอกับน้ำ และเกลือแร่ที่เสียไปกับการอาเจียน และท้องร่วง ท้องเสีย ท้องเดินซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการรักษา หากเด็กกินไม่ได้ ต้องให้น้ำเกลือแร่ทดแทนทางหลอดเลือดดำ โดยปกติเด็กมักจะไม่ค่อยยอมกิน
หลักการที่ใช้ได้ผลส่วนมากคือ พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก ต้องเข้าใจและพยายาม ไม่ยอมกินต้องพยายามป้อนให้ได้ตลอด อาเจียนออก ก็ป้อนใหม่ ซึ่งอาการอาเจียนมักเกิดอยู่ไม่เกิน 2 วันค่ะ
การรักษาที่ดีคือให้น้ำและเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอและให้ทันเวลา เด็กจะไม่ซึม ปัสสาวะได้ดี ไม่หอบเหนื่อย เกลือแร่ที่มีขายเป็นซองใช้ก็ได้นะคะ แต่ต้องดูการผสมให้ถูกต้องว่า 1 ซองผสมน้ำเท่าใดด้วย
ส่วนวิธีป้องกันนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ดังนี้ค่ะ
- หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลล้างมือทั้งก่อนปรุงประกอบอาหาร และภายหลังการใช้ห้องน้ำ
- กำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหารเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน
- รับประทานอาหารที่ปรุง “สุก ร้อน สะอาด” ไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม หากต้องการจะเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้วไว้รับประทานในวันต่อไป ควรใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บไว้ในตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง และการเก็บรักษาที่ปรุงสุกแล้ว ควรแยกจากอาหารหรือวัตถุดิบที่ยังไม่ปรุง เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน
- ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า แต่ช่วงที่ให้วัคซีนกิน ครั้งแรก จะอยู่ในช่วง 6 สัปดาห์ถึง 4 เดือน และจะต้องให้ครบ ภายใน 8 เดือน หลัง 8 เดือนไปแล้ว เราจะไม่ให้วัคซีนป้องกันไวรัส ทั้งนี้เพราะในเด็กที่อายุมาก การเริ่มให้วัคซีนอาจจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดลำไส้กลืนกัน จึงไม่แนะนำให้วัคซีนหลังอายุ 8 เดือน
ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิดด้วยนะคะ หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่