AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

สิทธิประโยชน์เพื่อครอบครัว เจ็บป่วย ฉุกเฉิน รักษาฟรี ทุกรพ.

ย้ำชัด ๆ กันอีกครั้ง! กับโครงการดี ๆ ที่มีไว้เพื่อรองรับการเจ็บป่วยแบบ ฉุกเฉิน รักษาฟรี ทุกโรงพยาบาล

 

 

คุณพ่อคุณแม่และบางครอบครัวอาจจะยังไม่ทราบว่า กระทรวงสาธารณสุขเขาได้เปิดโครงการดี ๆ นำร่องเพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกคน ทั้งยังเป็นการดำเนินงานตามนโยบายที่ทางรัฐบาลได้จัดไว้นั่นคือ “ฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” หรือเรียกอีกอย่างว่า ยูเสป (UCEP)

โครงการดังกล่าวจะเป็นอย่างไรนั้น คำว่า การเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ต้องมีอาการแบบไหน ถึงสามารถรักษาได้ฟรี ไปอ่านต่อรายละเอียดนี้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ

อ่านต่อเนื้อหาเพิ่มเติม >>

 

 

เจ็บป่วย ฉุกเฉิน รักษาฟรี ทุกโรงพยาบาลแน่นอน!

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล “ฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP” ว่า โครงการนี้ช่วยให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สามารถเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทั้งรัฐและเอกชน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยชีวิตโดยเร็วที่สุดภายใน 72 ชั่วโมง

ซึ่งจากผลการดำเงินการที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.2560-30 กันยายน 2560 ที่ผ่านมานั้น มีจำนวนผู้ป่วยขอใช้สิทธิ์ 15,243 ราย เป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ 6,757 ราย หรือประมาณร้อยละ 44 ในจำนวนนี้อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 3,117 ราย ส่วนใหญ่เป็นสิทธิ์หลักประกันสุขภาพ

โดยนายแพทย์ปิยะสกล ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงเริ่มโครงการพบว่า ประชาชนและสถานบริการยังมีปัญหาเรื่องเกณฑ์การเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติที่สามารถใช้สิทธิ์นี้ ซึ่งหากเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้น แนะนำให้แจ้งสายด่วนที่เบอร์ 1669 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทางด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นผู้ประเมิณในเบื้องต้น และจะได้ส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทัน

กฎเกณฑ์การเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ที่สามารถรักษาฟรีได้ มีอะไรบ้าง >>

 

 อาการฉุกเฉินวิกฤติที่สามารถเข้ารักษารักษาได้ฟรี

สำหรับอาการฉุกเฉินวิกฤติที่ว่านี้ ได้แก่

  1. หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่ตอบสนองต่อการเรียกหรือกระตุ้ม ไม่มีชีพจร จำเป็นต้องได้รับการกู้ชีกโดยทันที
  2. การรับรู้ สติเปลี่ยนไป บอกเวลา สถานที่ คนที่คุ้นเคยผิดอย่างเฉียบพลัน
  3. ระบบหายใจไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ หายใจเร็ว แรง และลึก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ พูดได้แค่สั้น ๆ หรือร้องไม่ออก ออกเสียงไม่ได้ สำลัก อุดตันทางเดินหายใจกับมีอาการเขียวคล้ำ
  4. ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤติอย่างน้อย 2 ข้อ คือ ตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกจนท่วมตัว หมดสติชั่ววูบ หรือวูบเมื่อลุกขึ้นยืน เป็นต้น
  5. อวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ
  6. อาการอื่น ๆ ที่มีภาวะเสี่ยงต่อชีวิตสูง เช่น เจ็บหน้าอกรุนแรง แขน-ขาอ่อนแรงทันที หรือกำลังชักขณะแรกรับที่จุดคัดแยก

อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่คะ หากมีการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้น ขอให้แจ้งไปยังสายด่วนที่เบอร์ 1669 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินนั้นเป็นผู้ประเมิณ และจะได้ส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แต่ย้ำนะคะว่า จะต้องเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติตามที่ได้กล่าวมานี้เท่านั้น

อ่านต่อคำถามที่พบบ่อย >>


เครดิต: สสส.

 

 

คำถามที่พบได้บ่อย

หลังจาก 72 ชั่วโมง แต่ยังรักษาไม่หาย ใครจะเป็นคนจ่าย?

คำตอบ: หลังจากทำการรักษาครบ 72 ชั่วโมงแต่พบว่าผู้ป่วยยังต้องทำการรักษาต่อจากนี้ ก็จะเป็นกระบวนการขั้นตอนส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อในโรงพยาบาลคู่สัญญา กับกองทุนที่ผู้ป่วยคนนั้นมีสิทธ์ในการรักษา โดยเริ่มจากสามกองทุนก่อน นั่นก็คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือจะมีการเช็คสิทธิ์ว่าผู้ป่วยมีสิทธิ์รักษาพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลอะไร หลังจากนั้นก็จะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลนั้นค่ะ

แล้วถ้าป่วยฉุกเฉิน แต่พอไปถึงโรงพยาบาล โรงพยาบาลกลับบอกว่าไม่เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตล่ะ?

เรื่องนี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปเลยค่ะ เพราะหากมีข้อโต้แย้ง ในกรณีการตัดสินการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต แพทย์ประจำศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จะร่วมกับวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยจะประเมินภาวะฉุกเฉินของผู้ป่วยภายใน 15 นาที ซึ่งคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสพฉ. ให้ถือเป็นที่สุด ฉะนั้นโรงพยาบาลจะอ้างไม่ได้ ว่าผู้ป่วยไม่เข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือหากเกิดปัญหาค่ะ

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ.ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่หมายเลข 028721669 นะคะ

เครดิต: JobsDB

อ่านต่อเนื้อหาอื่นที่น่าสนใจ:

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids