ไม่รู้ว่าคุณพ่อคุณแม่สอนให้พี่น้องรักกัน มาอย่างไร จึงเกิดภาพน่าประทับใจและสุดซึ้ง ของสองพี่น้อง น้องภูและน้องเภา นี้ เรียกได้ว่าน่าปลื้มใจแทนคุณแม่เอ๋ พรทิพย์ และพ่อป๋อ ณัฐวุฒิ เลยทีเดียว
แม่เอ๋เผย! นี่คือภาพที่ทำให้คนเป็นแม่รู้ว่า “พี่น้องคู่นี้โตมาไม่ทิ้งกัน”
เรียกได้ว่าใครเห็นก็ต้องชื่นใจแทน โดยเฉพาะคนเป็นพ่อเป็นแม่ เมื่อ “น้องเภา” ลูกชายคนเล็กไปหาหมอ แล้วได้พี่ชายอย่าง “น้องภู” ตามประกบคอยดูแลน้องชายอย่างใกล้ชิด ขนาดที่ว่า แม่เอ๋ พรทิพย์ ต้องออกปากแซวว่าแทบจะสิงน้องเลยก็ว่าได้
แต่ที่แน่ๆ ภาพพี่ชายดูแลน้องในวันนี้ทำให้แม่เอ๋มั่นใจแล้วว่าพี่น้องคู่นี้ไม่มีวันทิ้งกันแน่นอน โดยแม่เอ๋บอกว่า…
“ภาพนี้ทำให้คนเป็นแม่รู้ว่า พี่น้องคู่นี้โตมาไม่ทิ้งกัน เห็นแล้วชื่นใจ”
เรียกได้ว่าทั้งน่ารักและอบอุ่นมากๆ
…อย่างไรก็ดีการปลูกฝังเรื่องต่าง ๆ ให้กับลูก โดยเฉพาะเรื่องความการแบ่งปัน ความเมตตาแบบนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำตั้งแต่ลูกยังอยู่ในวัยเยาว์ค่ะ รวมทั้งเรื่องการสอนให้พี่น้องรักกัน แต่ถ้าจะมีน้องอีกคน คุณแม่อาจกังวลว่าลูกคนโตจะปรับตัวได้หรือเปล่า เพื่อป้องกันความรู้สึกน้อยใจ อิจฉา ที่ลูกคนโตต้องพบ ทุกคนในครอบครัวก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากไอจี @ aey_pornthip
โดยในเรื่องการต้อนรับน้องตัวเล็กสำหรับพี่ ๆ นั้น คุณแม่อาจกังวลว่า ลูกคนโตจะปรับตัวได้หรือเปล่า? และเพื่อป้องกันความรู้สึกน้อยใจ อิจฉา หรือความรู้สึกขัดแย้งอื่น ๆ ที่ลูกคนโตต้องพบ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่คุณแม่และคนในครอบครัวก็ต้องปรับตัวและเตรียมใจด้วยเช่นกัน ขอเพียงเข้าใจลูกให้มากขึ้นกว่าเดิมสักนิด รับรองได้ว่าบ้านนี้มีแต่พี่น้องรักกันแน่นอนค่ะ…
อ่านต่อ >> “7 วิธีเตรียม “พี่มือใหม่” ต้อนรับน้องตัวเล็ก ป้องกันความรู้สึกอิจฉา-น้อยใจ” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธีเตรียม “พี่มือใหม่” ต้อนรับน้องตัวเล็ก
ป้องกันความรู้สึก อิจฉา น้อยใจ ปลูกฝังสอนให้พี่น้องรักกัน
1. ก่อนและหลังคลอด ต้องไม่มีการล้อ
เช่น แม่มีน้องใหม่เดี๋ยวก็ตกกระป๋องแล้ว เพราะจะทำให้เด็กเสียความมั่นใจ คิดว่าความรักที่พ่อและแม่เคยมีให้ตนคนเดียวต้องถูกแบ่งไปให้น้องอีกคน แรกๆ เด็กอาจไม่ได้คิดอะไรด้วยซ้ำ แต่หากคนรอบข้างพูดกรอกหูบ่อยๆ คงไม่ดีแน่
2. แนะนำให้ลูกรู้จักกับน้องตั้งแต่อยู่ในครรภ์
ให้ลูกได้คุ้นเคย ได้สัมผัสท้อง และพูดคุยกับน้องในท้อง ทำได้ง่ายๆ เช่น เวลาแม่จะทาครีมที่ท้อง ลองให้ลูกช่วยทาด้วยก็ได้ เป็นการบ่มเพาะความรักความผูกพันระหว่างพี่และน้องไว้เนิ่นๆ ก่อนที่จะได้เจอหน้ากัน และถือเป็นการปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อน้องให้กับพี่ไปในตัว
3. ให้ลูกดูรูปตัวเองตอนที่ยังเป็นทารก
และเล่าให้ฟังว่าตอนเด็กๆ เขาเป็นอย่างไรบ้าง เลี้ยงยากไหม ร้องไห้บ่อยหรือเปล่า อธิบายว่าน้องที่เกิดใหม่ยังพูดไม่ได้จึงร้องไห้แทน พ่อแม่เลยต้องเอาใจใส่น้องมากหน่อย พอโตแล้วน้องก็จะเลิกร้องไห้ เป็นเด็กดี พูดรู้เรื่องและทำอะไรได้สารพัดเหมือนพี่ยังไงล่ะ
4. เมื่อแม่กลับถึงบ้านหลังคลอด
ให้ความสนใจกับลูกที่รอเราอยู่ที่บ้านเป็นอันดับแรก เพราะลูกอาจรู้สึกเหงาและคิดถึงแม่ที่หายหน้าไปคลอดน้อง รับขวัญโดยการกอดเขาแน่นๆ เสียหน่อย ให้คนอื่นอุ้มน้องเบบี๋เอาไว้ก่อน หรือถ้าวุ่นวายจนไม่มีโอกาสกอดลูก แนะนำให้พาลูกไปฝากที่บ้านญาติเสียก่อน คุณควรพร้อมจริงๆ ที่จะกอดให้ลูกมั่นใจว่ายังรักเขาเหมือนเดิมทันทีที่พบกัน
5. มอบหมายหน้าที่ให้เขาช่วยดูแลน้อง
หาวิธีดีๆ ให้ลูกมีส่วนร่วมในการช่วยเลี้ยงน้อง ในฐานะที่เป็นพี่ต้องคอยดูแลปกป้องน้องจากอันตราย อย่าให้ใครมาจับน้องแรงๆ การมอบหมายหน้าที่ช่วยเลี้ยงน้องแบบง่ายๆ ที่เขาทำได้ตามวัย นอกจากจะช่วยให้ลูกรู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญแล้ว ยังปลูกฝังความรู้สึกภูมิใจในการเป็นพี่ให้เขาด้วย
อ่านต่อ >> “วิธีเตรียม “พี่มือใหม่” ป้องกันความรู้สึกอิจฉา น้อยใจ ปลูกฝังให้พี่น้องรักกัน” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
6. หากิจกรรมให้ลูกทำ
ขณะที่คุณวุ่นอยู่กับการเลี้ยงเจ้าคนเล็ก อาจหาขนมให้กิน หรือบอกให้เขาเลือกหนังสือนิทานที่จะให้คุณอ่านให้ฟัง เตรียมเอาไว้หลังจากที่เปลี่ยนผ้าอ้อมให้น้องเสร็จ หรือไม่ก็ให้เขาเป็นลูกมือช่วยหยิบของเสียเลย ช่วยเบาแรงไปได้โขทีเดียว
7. อย่าด่วนตัดสินลูกด้วยอารมณ์
โดยเฉพาะอารมณ์โกรธค่ะ บางทีลูกเล่นกับน้องแรงๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งทำให้น้องร้องไห้ อย่าเพิ่งดุและลงโทษเขาแรงๆ โดยตัดสินว่าเขาจงใจแกล้งน้อง เพราะจะยิ่งทำให้เขาน้อยใจและเกลียดน้อง อย่าเพิ่งโมโห ใจเย็นเอาไว้ก่อน ปลอบลูกคนเล็กให้หยุดร้องไห้ พอพายุสงบ ให้พูดกับลูกคนโตอย่างตั้งใจ โดยคุกเข่าลงให้ตัวคุณอยู่ระดับเดียวกับเขาและสบตาเขา
วิธีเลี้ยงและสอนลูก สอนให้พี่น้องรักกัน
ทั้งนี้หากลูกเผลอทำรุนแรงกับน้องคุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายเหตุผลที่ไม่ควรเล่นกับน้องแรงๆ ให้เขาฟังด้วยท่าทีสงบแต่จริงจัง ข้อสำคัญ คุณแม่ต้องอดทน ลูกจะค่อยๆ เข้าใจมากขึ้นได้ตามวัยของเขาเอง
แต่ถ้าเตรียมเรื่องนี้ไม่ทันแล้ว การที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกมีความปรองดองและรักใคร่กัน เป็นพี่น้องที่ช่วยเหลือกันไปจนตลอดชีวิต ซึ่งดูเหมือนอาจเป็นเรื่องยากแต่ก็ไม่ยากเกินไป ลองตามไปดูวิธีการเลี้ยงและรู้จักลูกแต่ละคนโดยให้ความรักและให้กำลังใจที่ถูกต้องแก่ลูกๆ ดังนี้
1. ไม่มีลูกคนโปรดสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ในการเลี้ยงลูกให้รักกันคือ การไม่มีลูกคนโปรด ลูกทุกคนจะไวต่อความรู้สึกและจับได้ว่าคุณพ่อคุณแม่มีความลำเอียง ถึงแม้ว่าบางครั้งในใจของคุณพ่อคุณแม่จะมีความรักต่อลูกคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ แต่อย่าแสดงออกให้ลูกรู้ แต่ให้ลูกได้รับความรักที่เท่าเทียมกัน เพราะความลำเอียงจะก่อให้เกิดปัญหาในใจลูก เป็นเสมือนแผลเป็นที่ไม่รู้จักหาย และพร้อมจะกำเริบขึ้นมาทุกครั้งที่มีปัญหา
2. สอนลูกให้เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน หากเราต้องการให้ลูกมีความสัมพันธ์ที่ดีและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เราต้องสอนลูกให้รู้จักการแสดงความเป็นเพื่อนกัน อาจจะต้องใช้เวลาแต่สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ภายหลัง ไม่ใช้เพียงแต่การแสดงความเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเท่านั้น แต่ลูกจะเรียนรู้การเห็นอกเห็นใจกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา หากลูกเรียนรู้สิ่งนี้แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อลูกและการปรับตัวเข้ากับคนอื่นในอนาคตอีกด้วย
3. สอนให้ลูกแสดงความเห็นอกเห็นใจ หากลูกเริ่มเรียนรู้การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เมื่ออายุยังน้อย จะเป็นเหมือนศีลธรรม ประจำใจที่ติดตัวลูกไปเมื่อลูกโตขึ้น การแสดงออกถึงการเห็นอกเห็นใจ จะทำให้ลูกสนิทสนมกันมากขึ้นด้วยเมื่อลูกโตขึ้น
4. สอนให้ลูกเรียนรู้การให้อภัยกัน เมื่อลูกอยู่ด้วยกัน แน่นอนการกระทบกระทั่งกันย่อมเกิดขึ้นได้ แต่ให้ลูกเรียนรู้จักการขอโทษ และเริ่มต้นเล่นด้วยกันใหม่ ให้เรามีมาตรฐานในครอบครัวว่าให้ลูกกล่าวคำขอโทษและสำนึกเมื่อลูกแสดงสิ่งที่ไม่ดีต่อกัน ลูกจะไปถึงมาตรฐานนั้นได้แน่นอน
5. คุยถึงเรื่องความสนิทสนม ให้ลูกมีความใกล้ชิดกัน สนิทสนม เมื่อมีปัญหาอะไรก็ปรึกษากัน หากเรามีความคาดหวังให้ลูกสนิทสนมกัน รักกัน ลูกจะไปถึงความคาดหวังนั้นได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องมีความคิดทางบวกต่อสิ่งเหล่านี้ และใช้เทคนิคหลากหลายวิธีในการเรียนรู้ สอน และทำให้ดูเป็นตัวอย่างในเรื่องของการรักใคร่ ปรองดองกัน
สุดท้ายสอนให้ลูกแสดงแบบของความรักที่เป็นเอกลักษณ์ เฉพาะสำหรับครอบครัว บางครอบครัวมีการตั้งฉายาให้แต่ละคน (ไม่ใช่การล้อเลียนหรือทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเจ็บใจ) การล้อเล่นกันในแต่ละครอบครัว จะทำให้เราสนิทสนมและเป็นการแสดงเอกลักษณ์เฉพาะแบบของแต่ละคนอีกด้วย คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ลูกแน่ใจว่าได้รับการเสริมแรงในข้อนี้
อย่างไรก็ตามคนที่มีผลต่อเรื่องนี้มากที่สุดก็คือ “คุณพ่อคุณแม่” นั่นเอง การปลูกฝังและส่งเสริมด้วยวิธีที่ถูกต้อง จะช่วยป้องกันและแก้ปัญหาได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรคาดหวังมากเกินไปนะคะ เพราะเด็กวัยนี้ยังรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวไม่ดีพอ ต้องสอนอย่างค่อยเป็นค่อยไปค่ะ
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- ชมภาพอัพเดทน้องณดล ณดา สองพี่น้องปุณณกันต์
- เลี้ยงลูกให้ พี่น้องรักกัน คุณเองก็ทำได้!
- 5 กลยุทธ์สงบศึกพี่น้อง
- 3 เทคนิคดีๆ แก้ปัญหา“พี่น้องทะเลาะกันทุกวัน”
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.manager.co.th