ประกาศจาก สพฐ.ออกแนวทางปฏิบัติโรงเรียน สั่งคุณครูทั่วประเทศ ลดการบ้าน ให้กับเด็กนักเรียน เพื่อสนองตามนโยบายของรัฐบาล
โดยเน้นบูรณาการระหว่งกลุ่มสาระ คำนึงถึงความเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน พร้อมกำหนดเวลาที่ใช้ทำการบ้านในแต่ละวันแต่ละระดับชั้น ย้ำ ผอ.สพท.กำชับผู้บริหารสถานศึกษาให้ติดตามการให้การบ้านของครูอย่างเคร่งครัด
สพฐ. สั่ง “ครูทั่วประเทศ” ลดการบ้าน เด็กนักเรียน
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกแนวปฏิบัติลดการบ้านของนักเรียนว่า..
แนวปฏิบัติดังกล่าวเป็นข้อเสนอของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. สืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยการที่ครูส่วนหนึ่งให้การบ้านนักเรียนมากเกินไป จนทำให้เด็กเกิดความเครียด
จึงมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการหาแนวทางลดการบ้านนักเรียน ทางสำนักวิชาการฯ จึงได้นำผลการวิจัยเรื่องการให้การบ้าน ที่ได้ดำเนินการวิจัยมาตั้งแต่ปี 2547 มาวิเคราะห์ และเห็นว่าสามารถนำมาใช้ได้อยู่ โดยมีเอกสารการวิจัยยืนยันว่าการทำการบ้านของเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก หากเกิน 1 ชั่วโมงเด็กจะเกิดความเครียด
จึงได้ลงนามในคำสั่งที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) 04010/ว4471 เรื่องแนวปฏิบัติการลดการบ้านของนักเรียน ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ทุกเขต ระบุว่า ด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยที่มีครูส่วนหนึ่งให้การบ้านนักเรียนเป็นจำนวนมาก และมอบหมายให้ ศธ.หาแนวทางลดการบ้านและตั้งเป้าหมายให้ลดการบ้านลงให้ได้ทันที
ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติการลดการบ้านของนักเรียน เพื่อเป็นแนวทางให้สถานศึกษามีความเข้าใจที่ชัดเจน และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จึงขอให้ สพท.แจ้งสถานศึกษาให้ดำเนินการ ดังนี้…
อ่านต่อ >> “แนวทางปฏิบัติการลดการบ้านของนักเรียน” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
แนวทางปฏิบัติโรงเรียน “ครู” ลด “ให้การบ้าน” เด็กนักเรียน
1. ให้สถานศึกษาวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ครอบคลุมถึงการมอบการบ้านให้นักเรียน โดยเฉพาะครูที่สอนระดับเดียวกันต้องมีการวางแผนร่วมกัน
2. ครูแต่ละกลุ่มสาระเรียนการเรียนรู้ ต้องมีการวางแผนการให้การบ้านแบบบูรณาการร่วมกัน การบ้าน 1 ชิ้นสามารถเป็นกิจกรรม/เครื่องมือในการวัดและประเมินผลร่วมกันของหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้
3. คำนึงถึงความเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ทั้งจำนวนสาระการเรียนรู้ ปริมาณของการบ้าน ระยะเวลาการส่งการบ้าน ความประหยัดและคุ้มค่า รวมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทำการบ้าน
4. เวลาที่ใช้ทำการบ้านในแต่ละวัน
⇒ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ให้ทำการบ้านประมาณ 30 นาที ไม่เกิน 1 ชั่วโมง
⇒ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ให้ทำการบ้านประมาณ 1 ชั่วโมง ไม่เกิน 1 ชั่วโมง 30 นาที
⇒ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ให้ทำการบ้านไม่เกิน 2 ชั่วโมง และสุดท้าย
5. ให้ ผอ.สพท.กำชับผู้บริหารสถานศึกษาให้ติดตามการให้การบ้านของครูเป็นระยะตามความเหมาะสมด้วย ถือเป็นข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป
ซึ่งเวลาที่กำหนดไว้เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติว่าถ้าจะให้การบ้าน เวลาที่เด็กต้องใช้ก็ไม่ควรเกินนี้เพราะจะไม่เกิดผล ซึ่งตนได้ทำความเข้าใจกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ในการประชุมผ่านระบบทางไกล รายการ “พุธเช้า ข่าว สพฐ.”ไปแล้ว พร้อมทั้งได้สั่งการให้ ผอ.สพท.กำชับผู้บริหารสถานศึกษาช่วยกำกับ ติดตาม การให้การบ้านของครู โดยตั้งเป้าลดการให้การบ้านในทันที ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นอีกหนึ่งของขวัญปีใหม่ให้กับเด็กไทย
อ่านต่อ >> “เคล็ดไม่ลับจากคุณหมอ จัดการลูกทำการบ้านไม่เสร็จ” คลิกหน้า 3
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : www.dailynews.co.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เมื่อ ลดการบ้าน แต่ลูกก็ยังทำการบ้านไม่เสร็จ
ให้ฝึกลูกรับผิดชอบชีวิตตัวเองใหม่!
เคยไหม เมื่อถึงวัยเรียน ลูกทำการบ้านนานมาก ทำไปหยุดไป มีการอิดออด หรือ ทำการบ้านไม่เสร็จ อยู่บ่อยๆ ปล่อยไว้คงไม่ดีแน่ เรามาดูวิธีแก้ไข “อย่างยั่งยืน” ของคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์กันค่ะ
Q: จะมีวิธีอย่างไรให้ลูกจดจ่อ มีสมาธิทำการบ้านตรงหน้าให้เสร็จเร็วขึ้นได้คะ ตอนนี้การบ้านที่ควรใช้เวลาทำ 10-15 นาที กลายเป็นครึ่งชั่วโมงขึ้นไปค่ะ เขียนได้ 3-4 ตัว ต้องมีและบอกเมื่อย หิวน้ำ ปวดหัว ไปหยิบของเล่นบ้าง จนแม่ต้องดุ ลูกอายุ 6 ขวบ อนุบาล 3 ค่ะ
เวลาพบปัญหาเฉพาะหน้า คุณแม่อย่ามัวแต่หมกมุ่นกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ควรระลึกเสมอว่าก่อนที่จะมีวันนี้ เขามีชีวิต 5 ปีก่อนหน้านี้ และชีวิต 5 ปีก่อนหน้านี้เป็นต้นเหตุนำมาสู่วันนี้ คือทำการบ้านไม่รู้จักเสร็จเสียที
พูดเช่นนี้มิใช่กล่าวหาว่าเราเลี้ยงไม่ดี “จะเลี้ยงยังไงก็ช่างเถอะ อย่ามัวแต่ฟื้นฝอยหาตะเข็บซึ่งกันและกัน แต่ให้มุ่งแก้ไขทั้งอดีตและปัจจุบัน” แก้ไขอดีตคือเตรียมความพร้อมกันใหม่ แก้ไขปัจจุบันคือจัดการเรื่องการทำการบ้านให้เสร็จในเวลาที่กำหนด นักกีฬาพื้นฐานไม่ดียังไงก็ต้องทำไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น
เรื่องในอดีตคือ เป็นไปได้ว่าเขาไม่เคยต้องรับผิดชอบทำอะไรให้สำเร็จเลย หรืออาจจะมีบ้างก็ไม่มากพอ (inadequate) เรื่องที่เด็กหรือมนุษย์ทุกคนควรได้รับการฝึกตั้งแต่แรกๆ คือ รับผิดชอบชีวิตและบ้านของตัวเอง
คุณแม่ลองนั่งทบทวนใหม่ตั้งแต่เช้าถึงเข้านอน เขาได้รับโอกาสหรือรับการฝึกอะไรบ้าง เก็บที่นอน เอาชุดนอนลงตะกร้า ไปล้างหน้าแปรงฟัน วางสบู่และแปรงสีฟันให้เข้าที่ หมุนฝาหลอดยาสีฟันให้เรียบร้อย แต่งตัวให้ทันเวลา ลงมากินอาหารเช้าให้ทันเวลา กินบนโต๊ะอาหารตามที่ผู้เจริญแล้วทำ กินเสร็จแล้วเอาจานไปวางในอ่างล้างจาน ช่วยเช็ดโต๊ะอาหารบ้างหรือเปล่า ตอนเช้ารีบๆ จะไม่ล้างจานเองก็ไม่เป็นไร แต่เสาร์อาทิตย์หรือมื้อเย็นรับผิดชอบล้างจานหรือไม่ ขึ้นรถทันเวลา ไปโรงเรียนให้ทัน หากลืมของอะไรก็จงรับผิดรับชอบ (accountable) การลืมของตนเอง มิใช่พ่อแม่ขับรถเอาของไปส่งให้ทุกครั้ง
ไล่ไปเถอะครับ จนถึงภาคเย็นเมื่อกลับเข้าบ้าน เขาได้รับโอกาสและการฝึกให้ทำอะไรสำเร็จเป็นชิ้นๆ หรือเป็นลำดับๆ บ้าง หากคุณแม่ว่าทำแล้ว ผมจะตอบว่า “ไม่พอ”
>> ย่อหน้าข้างต้นเขียนยาวเพื่อให้เห็นภาพ นี่ยังไม่เขียนเรื่อง “งานบ้าน” อีกทั้งกระบุงที่เราควรเปิดโอกาสหรือฝึกเขาทำทุกชนิดที่เขาช่วยได้ ปัดกวาดเช็ดถู ทิ้งขยะ เอาถังขยะไปทิ้ง ขัดล้างห้องน้ำ ซักผ้า ตากผ้าชิ้นเล็ก ผมเขียนไปจนครบหน้ากระดาษได้ไม่ยาก หากคุณแม่ว่าทำแล้ว ผมจะตอบว่า “ไม่พอ”
คำว่าฝึกพอแล้วหรือฝึกไม่พอขึ้นกับเด็กแต่ละคนครับ บางคนฝึกไม่มากก็รู้เรื่องทำเป็น บางคนต้องฝึกมากกว่ามากจึงจะรู้เรื่อง ถามว่ารู้อะไร คำตอบมิใช่ว่ารู้วิธีถูบ้าน อย่าหลงประเด็น คำตอบคือรู้ว่า “เกิดเป็นคนต้องทำอะไรบางอย่างให้เสร็จในเวลาที่กำหนดให้”
สรุปว่าหากคุณแม่อยากแก้ปัญหาเรื่องทำการบ้าน ให้ไปฝึกทักษะการใช้ชีวิตใหม่หมด หากทำได้เขาจะดีไปหมดทุกเรื่อง หากไม่ทำ จบเรื่องการบ้านก็รับประกันว่าจะมีเรื่องใหม่มาให้ท่านปวดศีรษะอีก
คราวนี้เรื่องการบ้าน ก่อนอื่นขอให้เข้าใจลูกก่อนว่าการบ้านจากโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นการบ้านที่ไม่เข้าท่า ไม่ค่อยมีประโยชน์ และทำเสร็จไปก็เท่านั้น ไม่ได้ทำให้ลูกเราฉลาดหรือเป็นนักเรียนรู้ที่ดีกี่มากน้อย ไปเล่นยังมีประโยชน์กว่าเยอะ อย่างไรก็ตามเรามีหน้าที่สอนให้เขาทำตามกติกาสังคม
เมื่อเข้าใจสถานการณ์น่าอึดอัดและแสนจะไม่สนุกแล้ว เราจะได้เห็นใจเขามากขึ้น ไม่ต้องดุแต่ต้องนั่งคุมเขาทำให้เสร็จ เป็นเรื่องจำเป็นที่คุณแม่ต้องเสียสละเวลาส่วนตัวมานั่งใกล้ๆ คุ้มกฎและให้กำลังใจ ไม่เสร็จไม่ให้ลุก เสร็จเมื่อไรก็หอมแก้มสักฟอดแล้วไปได้ ^^
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
-
ลูกไม่อยากทำการบ้าน ทำอย่างไรดี?
-
วัยทวีนมีการบ้านมากไปหรือเปล่า
-
5 เทคนิคช่วยลูกทำการบ้าน
-
ฝึกลูกบริหารเวลา รับมือการบ้านเยอะ
บทความโดย: นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์