พิษสุนัขบ้า ปีนี้ระบาดหนัก ระบาดแรงกว่าเดิม หลังพบผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อน!
หากคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนเป็นแฟนที่คอยติดตามเพจดังอย่าง Drama-addict คงจะได้มีโอกาสอ่านบทความที่จ่าได้โพสต์เกี่ยวกับเรื่องของโรคพิษสุนัขบ้ากันใช่ไหมคะว่าล่าสุด สถิติการเกิดเคสของโรคดังกล่าวนั้นพุ่งสูงกว่าปีก่อนมากถึง 1.5 เท่าเลยละค่ะ เรียกได้ว่าน่ากลัวเสียเหลือเกินจริง ๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่ยังไม่มีโอกาสได้อ่านละก็ เราไปอ่านบทความของจ่าพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
อัพเดทล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องพิษสุนัขบ้า ล่าสุด ตายไปสองคนแล้วครับ โดนลูกหมากัดแล้วคิดว่าไม่เป็นอะไร คิดว่าแผลเล็กน้อย ไม่ได้ไปฉีดวัคซีน สุดท้ายติดเชื้อพิษสุนัขบ้าเสียชีวิต ส่วนตัวเลขเคสพิษสุนัขบ้าของเดือนนี้ ยังไม่สิ้นเดือน แต่สูงกว่าของปีที่แล้ว 1.5 เท่า ถ้าถึงสิ้นเดือนอาจใกล้ ๆ 2 เท่า เหมือนของเดือนมกรา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาก็พยายามแก้ปัญหา แต่ยากนะ ตราบใดที่ตัวเลขหมาจรจัดยังเยอะขนาดนี้ แถมยังมีพวกเลี้ยงหมาแบบให้ข้าวให้อาหารหมาแสร้งว่าเป็นคนใจบุญ แต่พอเกิดเหตุขึ้นมาก็ไม่มีใครรับผิดชอบห่าเหวใด ๆ กับที่หมาตัวนั้นทำ มันแก้ไม่ได้หรอกว่ะ ภาครัฐก็กล้า ๆ หน่อย วิธีการที่ควรใช้ในการแก้ปัญหานี้ คือเอาหมาจรจัดไปกำจัดเหมือนที่นานาประเทศเขาทำกันสิ
อ่านต่อ >> เนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่หน้าถัดไป
หลังจากทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้มีโอกาสไปอ่านบทความขอจ่า ก็รู้ทันทีเลยว่า เรื่องนี้ไม่สามารถเก็บไว้อ่านคนเดียวได้จริง ๆ จึงได้รีบทำการศึกษาหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะได้นำมาเผยแพร่ให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองทุก ๆ ท่านเฝ้าระวังลูกหลานของเราทันที จนพบว่า เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลจากกรมควบคุมโรคว่า ภายในเดือนเดียวของปี 2561 พบว่า มีสุนัขบ้าแล้วกว่า 135 ตัว
โดย นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของไทยขณะนี้ยังเป็นที่น่ากังวลอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมาผลการตรวจหัวสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ยังคงมีรายงานอย่างต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์รายงานว่าปี 2560 สุนัข แมวทั่วประเทศป่วยเป็นโรคดังกล่าวกว่า 800 ตัว และเริ่มปี 2561 เดือนเดียวพบสุนัขบ้าแล้วกว่า 135 ตัว ทำให้เรายังคงพบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีพบสัตว์ป่วยโรคนี้”
พร้อมกล่าวต่ออีกว่า การเสียชีวิตส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากการไปรับการรักษาเมื่ออาการของโรคเริ่มแสดงแล้ว ทำให้สายเกินกว่าจะยับยั้งเชื้อได้ทัน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการชะล่าใจในการป้องกัน และรักษาโรคเบื้องต้น จากการสำรวจความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าของคนไทยพบว่า คนไทยยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเรื่องโรคดังกล่าว ร้อยละ 60 คิดว่าโรคพิษสุนัขบ้า “รักษาหาย” และร้อยละ 59 คิดว่า “ไม่เป็นไร” เมื่อถูกสุนัข หรือแมวข่วนเป็นแผลเล็กน้อย จึงไม่ทำความสะอาดแผลเบื้องต้น หรือไม่เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ
พร้อมกันนี้ นายแพทย์สุวรรณชัย ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าว่า โรคดังกล่าวสามารถป้องกันได้ถ้าประชาชนรู้จักการป้องกันตัวเอง ดังนี้
- อย่า 5 ย. คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าหยิบ อย่ายุ่งกับสุนัขคนอื่น หรือสุนัขที่มีความผิดปกติ
- เมื่อถูกสุนัขหรือแมวข่วนหรือกัด ควรรีบล้างแผนด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลาย ๆ ครั้ง และใส่ยาเบตาดีนหลังล้างแผน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
- รีบพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการวินิจฉัยรับวัคซีนป้องกันโรค หากได้รับวัคซีนแล้วก็ควรที่จะไปตรงตามนัดทุกครั้ง
- เมื่อถูกกัด ควรกักสุนัขหรือแมวตัวที่ข่วนไว้ เพื่อเฝ้าสังเกตอาการเป็นระยะเวลา 10 วัน หากพบว่าสัตว์ที่กัดเราตาย ให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่โดยทันที
- เจ้าของสุนัขและแมว ควรนำสัตว์เลี้ยงของท่านเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเป็นประจำทุกปี
“โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย พบมากในสุนัขและแมว โดยติดเชื้อจากการสัมผัสน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อ เช่น ถูกกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังที่มีบาดแผล คนสามารถติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้จากการถูกกัด ข่วนจากสุนัขหรือแมว เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ระยะการแสดงอาการของโรคนั้นไม่แน่นอน บางรายอาจนานเป็นปี เมื่อผู้ป่วยมีอาการแล้ว จะรักษาไม่หายและเสียชีวิตทุกราย”นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว
ทำความรู้จักกับโรคดังกล่าวเพิ่มเติม คลิก!
ขอบคุณที่มา: New18
อาการของโรค พิษสุนัขบ้า
ในระยะ 2-3 วันแรก ผู้ป่วยอาจมีไข้ต่ำ ๆ ต่อไปจะมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณแผลที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว ต่อไปจะมีอาการตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่ชอบลม และไม่ชอบเสียงดัง กลืนลำบาก แม้จะเป็นของเหลวหรือน้ำ เจ็บมากเวลากลืน เพราะการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน แต่ยังมีสติพูดจารู้เรื่อง ต่อไปจะเอะอะมากขึ้น และสุดท้ายอาจมีอาการชัก เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิต เนื่องจากส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด
วิธีสังเกตสุนัขหรือแมวว่า เป็นโรคดังกล่าวหรือไม่นั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากอาการของสัตว์เลี้ยงซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบด้วยกันดังนี้ค่ะ
- แบบดุร้าย สัตว์เลี้ยงจะมีอาการหงุดหงิด ไล่กัดคนรวมถึงสัตว์อื่น ๆ ถ้าผูกโซ่หรือขังกรงไว้ ก็จัดกัดโซ่และกรง รวมถึงข้าวของต่าง ๆ จนบางครั้งฟันหักหรือลิ้นเป็นแผลไปเลยก็มี และภายหลังจากที่แสดงอาการดังกล่าวได้แล้วครบ 2-3 วันก็จะอ่อนเพลียลง ขาหลังไม่มีแรง เดินโซเซ และตายในที่สุด
- แบบเซื่องซึม สัตว์ที่เป็นโรคดังกล่าวจะชอบอ้าปากหุบไม่ได้ ลิ้นมีสีแดงคล้ำ บางครั้งมีสิ่งสกปรกติดอยู่และลิ้นห้อยออกมานอกปาก มีอาการคล้ายกระดูกติดคอ โดยเจ้าของมักจะเอามือล้วงแต่ไม่พบกระดูก สุนัขจะเอาขาหน้าตะกุยบริเวณแก้มปากและคอบวม สุนัขจะลุกนั่ง ยืน และเดินไปมาบ่อย ๆ กินของแปลก ๆ เช่น ใบไม้ ก้อนหิน หรือบางตัวจะกินปัสสาวะของตัวเอง ไม่กัด ถ้าไม่ถูกรบกวน สุนัขแบบหลังนี้จะสังเกตอาการยากมาก ดังนั้น หากสุนัขตายโดยไม่ทราบสาเหตุ วิธีการตรวจสอบที่ดีที่สุดคือ การตัดหัวไปตรวจสอบนั่นเองค่ะ
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่คะ หากพบว่าลูกของเราถูกสุนัขหรือแมวไม่ว่าจะข่วนหรือกัด อย่าได้นิ่งนอนใจนะคะ ถึงแม้ว่าเขาจะฉีดยาเป็นประจำทุกปีก็ตาม การล้างออกด้วยน้ำที่สะอาดและสบู่ 2 – 3 ครั้งก็จะช่วยป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ไม่ให้เข้าสู่แผลได้เช่นกัน หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับโรคดังกล่าวละก็ส ามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 หรือ สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร. 02-590-3177-8 ได้เลยค่ะ
ขอบคุณที่มา: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่