AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

วิธีสังเกตอาการแพ้ยาของลูกน้อยไม่ให้รุนแรง

อาการแพ้ยา โดยเฉพาะทางผิวหนัง เป็นอาการที่พบได้บ่อย และมีอาการรุนแรง ถึงขั้นอาจทำให้เสียชีวิต เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ หรือลูกน้อยพบว่ามีประวัติในการแพ้ยา ควรจดจำชื่อยาเหล่านั้นเอาไว้ให้แม่น เพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแพ้ยา จนทำให้เสียชีวิต

อาการแพ้ยา

อาการแพ้ยาพบได้บ่อยในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้สูงอายุ ซึ่งบางครั้งจำเป็นจะต้องใช้ยาร่วมกันหลายชนิด ทำให้มีโอกาสแพ้ยาสูงขึ้น อาการแพ้ยาจะแสดงออกมาทางผิวหนัง เป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ง่าย ซึ่งผื่นแพ้ยาเป็นอาการที่พบได้บ่อย และบางครั้งอาจมีอาการรุนแรง จนทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนอาการแพ้ยาที่แสดงออกระบบอื่นๆ เช่น เป็นไข้เรื้อรัง ปวดข้อ เป็นแผลในปาก ตับอักเสบ ไตวาย ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น

อาการนี้เกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีความไวต่อยามากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการรับประทาน ฉีด ทา หรือสูดดม อาการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทุกคน แต่เป็นกับเฉพาะบางคนที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายไวต่อยามากกว่าปกติ อาการข้างเคียงจะเหมือนกับทุกคนที่ได้รับยาชนิดเดียวกัน แต่อาการที่เกิดขึ้น จะมากน้อยแตกต่างกันไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วงจากยาเคมีบำบัด อาการแพ้ยานี้ จะแตกต่างจากที่เป็นผื่นแพ้ผิวหนัง เพราะเกิดจากการได้รับยาเกินขนาด ซึ่งมีความรุนแรงทำให้ถึงตายได้

โดยอาการแพ้ยาทางผิวหนังนั้น มีตั้งแต่อาการผื่นผิวหนังเล็กน้อย ไปจนถึงรุนแรงมาก หรือทำให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ปอด และระบบเลือดร่วมด้วย

เครดิตภาพ: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ฝ่ายเภสัชกรรม

อาการแพ้ยาชนิดรุนแรง

ผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง ถ้าได้รับยาเป็นครั้งแรก มักจะเกิดอาการหลังจากรับประทานยาไปแล้วประมาณ 1 – 3 สัปดาห์ แต่ถ้าเคยรับยามาก่อนแล้ว จะมีอาการภายใน 1 – 3 วัน โดยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัว ต่อมาจะเริ่มมีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า ลำตัว แขน ขา

ผื่นจะมีลักษณะสีแดง ตรงกลางมีสีเข้ม หรือสีน้ำตาล บางคนอาจมีตุ่มน้ำพองเจ็บ และผื่นอาจรวมกันเป็นวงกว้าง คนที่มีอาการรุนแรง พบว่ามีการตายของผิวหนังชั้นกำพร้า ทำให้เกิดการหลุดลอกของผิวหนัง โดยเฉพาะส่วนที่มีการเสียดสี หรือกดทับ อาจมีอาการที่เยื่อบุ เช่น ตาแดงอักเสบ เป็นแผลเจ็บที่ปาก หรืออวัยวะเพศ และอวัยวะภายใน เช่น ตับอักเสบ ไตวาย เม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำ เสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนได้

ยาทุกชนิด แม้กระทั่งยาสมุนไพร สามารถทำให้เกิดผื่นแพ้รุนแรงได้ โดยยาที่พบบ่อย เช่น ยารักษาโรคเกาต์ ยาลดการอักเสบกลุ่ม NSAIDs ,ยากันชัก และยาปฏิชีวนะ เช่น ยากลุ่ม Sulfa เป็นต้น

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “การสังเกต และยาที่ทำให้เกิดการแพ้รุนแรง” คลิกหน้า 2

วิธีสังเกตอาการแพ้ยาชนิดรุนแรง

คุณพ่อ คุณแม่สามารถสังเกตอาการแพ้ยาของลูกน้อยได้ง่ายๆ จากอาการหลังการใช้ยา ซึ่งได้แก่ เจ็บคอ มีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดข้อ หลังจากนั้นจะเริ่มมีผื่นบริเวณลำตัว แขน ขา หน้าบวม ตาบวม เจ็บผิว เจ็บตามตัว มีอาการเคืองตา เจ็บปาก กลืนอาหารแล้วรู้สึกเจ็บ ปัสสาวะแสบขัด ผื่นมีลักษณะพอง เป็นตุ่มน้ำ หรือเกิดการหลุดลอกของผิวหนัง หรือเยื่อบุต่างๆ ถ้ามีอาการรุนแรง อาจมีอาการแทรกซ้อนของอวัยวะภายใน เช่น มีแผลในทางเดินอาหาร ตับอักเสบ และอาจทำให้เสียชีวิตในที่สุด

ยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยารุนแรง

ยาทุกชนิด แม้กระทั่งยาสมุนไพร สามารถทำให้เกิดผื่นแพ้รุนแรงได้ โดยยาที่พบบ่อย ได้แก่

1.ยารักษาโรคเกาต์เช่น allopurinol

2.ยากันชัก เช่น carbamazepine, phenobarbital, phenytoin และ lamotrigine

3.ยาแก้ปวด/ต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDs เช่น ibuprofen, meloxicam, piroxicam และ tenoxicam

4.ยาต้านไวรัส HIV เช่น nevirapine, abacavir

5.ยากลุ่มซัลฟา เช่น co-trimoxazole, sulfasalazine

6.ยากลุ่มเพนนิซิลินเช่น amoxicillin

7.ยารักษาวัณโรคเช่น rifampicin, isoniazid pyrazinamide, ethambutol

8.Dapsone

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “การรักษา และการป้องกันอาการแพ้ยารุนแรง” คลิกหน้า 3

การรักษาอาการแพ้ยารุนแรง

การรักษาที่สำคัญที่สุด คือการหยุดยา ควรหยุดยาทุกตัวที่สงสัย หรือยาที่ไม่จำเป็น ซึ่งได้รับมาใหม่ในช่วง 2 เดือนแรกทั้งหมด แล้วจึงหาสาเหตุการแพ้ยา ถ้าลูกน้อยมีอาการแพ้ยาที่ไม่รุนแรง ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้ยาสเตียรอยด์ เพราะผื่นแพ้ยามักหายได้เองหลังจากหยุดยาไปแล้วประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ แต่สำหรับบางคนที่มีอาการรุนแรง อาจต้องใช้ยาสเตียรอยด์ในระยะแรก เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตได้ แต่ถ้ารักษาช้า อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนเสียชีวิตได้ และมีการรักษาตามอาการ ยาที่ใช้ได้แก่ ยาทาสเตรียรอยด์ ยาแอนติฮิสตามีน

เมื่อคุณพ่อ คุณแม่สังเกตแล้ว พบว่า ลูกน้อยเริ่มมีอาการเจ็บคอ เป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดข้อ และมีผื่นผิวหนัง ให้หยุดยาทันที พร้อมทั้งถ่ายรูปผื่นในระยะแรก และนำตัวยาทั้งหมดพร้อมฉลาก และชื่อยามาให้คุณหมดตรวจ

การป้องกันอาการแพ้ยารุนแรง

1.อาการแพ้ยานั้น ไม่สามารถคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าว่าใครจะแพ้ยาอะไร แต่สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการไม่รับประทานยา ถ้าไม่จำเป็น

2.เมื่อมีประวัติแพ้ยา ควรจดจำชื่อยา และอาการแพ้ให้แม่นยำ หรือพกบัตรแพ้ยาติดตัว และยื่นแสดงบัตร เพื่อแจ้งชื่อยาที่แพ้ให้กับแพทย์ และเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่แพ้

3.ถ้าสงสัยว่าอาจแพ้ยาที่รับประทานอยู่ ให้หยุดยา ถ่ายรูปผื่นที่แพ้ แล้วนำฉลากยามาปรึกษาคุณหมอ

เครดิต: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส), คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ฝ่ายเภสัชกรรม

อ่านเพิ่มเติม คลิก!!

หนูน้อยเกือบเสียชีวิตเพราะ แพ้ยาไอบูโพรเฟน

ยาแก้ไอ สําหรับทารก เลือกแบบไหน อย่างไรให้ลูกดี?

ป้องกันผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids