ยาดม เป็นของใช้ข้างกายที่ขาดไม่ได้เวลาที่รู้สึกเวียนศีรษะ ปวดหัว หรือหายใจไม่สะดวก หลายคนใช้ยาดมเพราะรู้สึกสดชื่น ยิ่งดม ยิ่งติด จนบางครั้งอาจกลายเป็นบุคลิกภาพที่ไม่ดี ด้วยความที่สะดวก พกพาง่าย จึงสามารถหยิบขึ้นมาสูดดมได้ตลอดเวลา จนบางคนถึงขั้นเสพติด ขาดไม่ได้
คำเตือน! เรื่อง ยาดม
นางสาวเสริมศรี คงศักดิ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้เก็บตัวอย่างยาดมที่นิยมใช้กันทั่วไป เพื่อบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก หน้ามืดตาลาย วิงเวียนศีรษะ และใช้ทาถูแก้เคล็ดขัดยอก แมลงกัดต่อย ฯลฯ พบว่ามีอันตรายต่อผู้ใช้ และทำให้เกิดการเสพติด
ส่วนผสมของยาดม
ยาดมนั้น มีส่วนประกอบของเมนทอล การบูร พิมเสน น้ำมันหอมระเหย และอื่นๆ เช่น น้ำมันสะระแหน่ น้ำมันเขียว น้ำมันกานพลู น้ำมันยูคาลิปตัส และยังมีน้ำมันที่ยากต่อการละลาย เช่น น้ำมันงา น้ำมันแร่ หรือสารสกัดจากสมุนไพร องค์ประกอบหลักของเมนทอล หรือเกล็ดสะระแหน่ การบูร และพิมเสน รวมไปถึงน้ำมันหอมระเหยเหล่านี้ ทำให้เกิดความรู้สึกเย็น ซ่า อยู่ในโพรงจมูก รู้สึกสดชื่น ตื่นตัว แต่การสูดดมบ่อยๆ ก็อาจทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจระคายเคืองได้
ประโยชน์ของยาดม
1.ทำให้รู้สึกตื่นตัว เพราะมีส่วนผสมของมิ้นท์ และทำให้รู้สึกมีพลังขึ้นมา ทำให้รู้สึกสดชื่น มีชีวิตชีวาอีกครั้ง
2.ใช้บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก หน้ามืดตาลาย วิงเวียนศีรษะ มีกลิ่นบำบัดช่วยให้ผ่อนคลาย
3.ยาดมช่วยทดแทนการสูบบุหรี่ สำหรับผู้ที่ต้องการเลิก หรืออดบุหรี่
4.การบูรที่เป็นส่วนผสมในยาดมชนิดน้ำ สามารถนำมาใช้ทาแก้เคล็ดบวม ขัดยอก แพลง แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อยได้
5.พิมเสนที่เป็นส่วนผสมในยาดม ใช้สูดดม แก้ลมวิงเวียน ทาภายนอกแก้เคล็ดขัดยอกได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “โทษของยาดม” คลิกหน้า 2
โทษของยาดม
1.การใช้ยาดม ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ มีผลทำให้เกิดอาการจาม คัดจมูก และอาการอื่นๆ ตามมา อาจถึงขั้นเกิดการอักเสบรุนแรง รักษาไม่หายขาดก็เป็นได้
2.สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ยาดม จะทำให้มีอาการจาม และคัดจมูกตลอดเวลา
3.เมนทอลหรือเกล็ดสะระแหน่ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ เมื่อสูดดม และอาจทำให้เกิดปอดอักเสบ
4.การบูร อาจทำให้เกิดอันตรายจากการสูดดม ทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ อาจทำให้เด็กทารกเกิดอาการชักหากกินเข้าไป และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะปอด และตับ
5.พิมเสน อาจทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ และมีฤทธิ์กระตุ้น และสงบระบบประสาทส่วนกลาง
6.ยาดมอาจทำให้เกิดการเสพติด เพราะสารเคมีที่ใช้ในส่วนผสม เช่น เมนทอล และการบูร ซึ่งมีผลต่อระบบประสาท อาจทำให้เกิดการเสพติดยาดม
7.ทำให้เกิดอาการแดง ผื่น คัน บริเวณที่ผิวหนังสัมผัส และเกิดโรคผิวหนังติดเชื้อ
8.เด็กทารกที่มีอาการหวัด อาจทำให้เกิดอาการหายใจไม่ออก และอาจถึงขั้นช็อกได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “ข้อควรระวังในการใช้ยาดม” คลิกหน้า 3
ข้อควรระวังในการใช้ยาดม
1.เด็กทารก และเด็กเล็ก ไม่ควรใช้ยาดม เพราะมีสารเคมีเข้มข้นสูง อาจทำให้เป็นอันตรายถ้าใช้ผิดวิธี ดังนั้นจึงควรเก็บไว้ให้ห่างจากมือเด็ก และไม่ควรนำไปใช้กับเด็กทารกโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เด็กหายใจไม่ออกได้
2.ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับโพรงจมูกควรหลีกเลี่ยง เช่น ไซนัส ติดเชื้อในโพรงจมูก เพราะอาจจะทำให้เนื้อเยื่อในโพรงจมูกเสียหายมากขึ้น
3.การสูดดมที่ถูกวิธี ไม่ควรปักคาจมูก สูดดมใกล้ๆ แต่ไม่สัมผัสโดยตรง ไม่ควรให้หลอดยาเข้าไปค้างไว้ในจมูก เพราะสารทุกตัวอาจทำให้เกิดการระคายเคืองเมื่อสัมผัส
4.ไม่ควรใช้ยาดมร่วมกับผู้อื่น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดมที่สัมผัสกับจมูกของผู้อื่นแล้ว เพราะอาจจะทำให้ติดเชื้อจากคนสู่คนได้
5.ยาดมแบบป้าย ต้องใช้อย่างปลอดภัย เช่น ยาน้ำ ยาขี้ผึ้ง ให้ป้ายสำลี หรือผ้าเช็ดหน้า หรือทาบางๆ ที่หน้าอก แล้วสูดดม หรือทาด้านนอกจมูกในปริมาณน้อยๆ ก็เพียงพอ
6.ควรอ่านฉลาก และรายละเอียดให้ดีเสียก่อน ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน และควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัย
7.เมื่อใช้ยาดมแล้วเกิดความผิดปกติ ควรหยุดใช้ทันที หรือถ้ามีอาการรุนแรงควรรีบพบแพทย์ และคนที่มีอาการแพ้ควรหลีกเลี่ยง
เครดิต: รองศาสตราจารย์ยุวดี วงษ์กระจ่าง มหาวิทยาลัยมหิดล, หมอชาวบ้าน, Voice TV, กระปุก
อ่านเพิ่มเติม คลิก!!
แม่ระวัง! ยาแก้ไอผสม โคเดอีน อันตรายเสี่ยงลูกเสียชีวิต
ยาหมดอายุ-เสื่อมคุณภาพ…อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม! พร้อมวิธีสังเกต
ยาอมแก้เจ็บคอ และบรรเทาอาการไอที่ถูกจัดให้เป็นยาอันตราย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
Save
Save