สำนักงานประกันสังคม จะเริ่มนำร่องสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม โดยไม่ต้องสำรองจ่าย วงเงิน 600 บาทต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยมอบหมายให้หน่วยรักษา 30 แห่ง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดให้บริการ ส่วนการขอเพิ่มวงเงินด้านทันตกรรม คาดว่า จะสรุปผลเสนอให้คณะกรรมการประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคมนี้
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป สำนักงานประกันสังคม จะเริ่มนำร่องการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม โดยผู้ประกันตัน ไม่ต้องสำรองจ่ายเงินรักษาพยาบาล ในวงเงิน 600 บาท ต่อปี เบื้องต้น มอบหมายให้หน่วยรักษาทั่วประเทศ 30 แห่ง แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 12 หน่วย และที่เหลืออีก 18 หน่วย กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ
ส่วนกรณี เครือข่ายผู้ประกันสังคมคนทำงาน หรือ คปค. เครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เรียกร้องให้เพิ่มวงเงินสิทธิประโยชน์ทันตกรรมให้มากกว่า 600 บาทต่อปี นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการการแพทย์
ซึ่งนอกจากการพิจารณาคำร้อง สำนักงานประกันสังคม ยังได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งต้องวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น และความสามารถในการจ่ายของกองทุนประกันสังคม แต่คาดว่าจะสามารถเพิ่มได้มากกว่า 600 บาทต่อปี เบื้องต้นคาดว่า น่าจะได้ข้อสรุปและเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคม ในเดือนกรกฎาคมนี้
อ่านต่อ >> “สิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมจากสำนักงานประกันสังคม” คลิกหน้า 2
กรณีทันตกรรม (ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ผ่าตัดฟันคุด และใส่ฟันเทียม)
หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
การถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง 600 บาท/ครั้ง/ปี
กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วนให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(ก) 1-5 ซี่ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาท
(ข) มากกว่า 5 ซึ่ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท
กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(ก) ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท
(ข) ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท
หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับประโยชน์กรณีทันตกรรม
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม (สปส.2-16)
- ใบรับรองแพทย์
- ใบเสร็จรับเงิน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
- เวชระเบียนของแพทย์ผู้รักษา (กรณีเบิกฟันปลอมฐานอคริลิก)
- กรณีขอรับเงินทางธนาคาร ให้แนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี 11 ธนาคารดังนี้
1) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
2) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
3) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
4) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
5) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
6) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
7) ธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน)
8) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
9) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
10) ธนาคารออมสิน (ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโปรแกรม)
11) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโปรแกรม)
สถานที่ยื่นเรื่อง
ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Workpoint News – ข่าวเวิร์คพอยท์
และ www.sso.go.th/wpr/content.jsp?cat=868&id=3648 , www.matichon.co.th/news/161294 , http://board.postjung.com/969904.html