AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

กรมสุขภาพจิต เผย! เด็กไทยติด เกมแนว “MOBA” เสี่ยงป่วยทางจิตเวชร่วมด้วย

มีหลายบ้านที่ ลูกติดเกม rov หรือเกมแนว Mobile MOBA ที่ตอนนี้กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นเกมเพลย์ที่ต้องร่วมมือกับผู้เล่นฝ่ายตัวเองในการต่อกรกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม โดยมีระบบการเล่นที่จะต้องต่อสู้กับคู่ต่อสู้ที่เป็นคนเหมือนกัน โดยต้องมีการวางแผนและทีมเวิร์คที่ดี ทำให้การเล่นเกมแนว MOBA นั้นเติบโตอย่างยิ่งใหญ่และมั่นคงในโลกของ E-Sports ที่ค่อยๆ แพร่หลายมากขึ้นเรื่อย

ลูกติดเกม rov แนว “MOBAระวัง! เสี่ยงป่วยทางจิตเวช

พ่อแม่ควรรู้ก่อน! เกมแนว Mobile MOBA และ E-Sports คืออะไร?


สำหรับประเทศไทย กีฬา E-Sports กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นในปัจจุบัน เพราะเป็นกีฬาที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศ วัย ความแข็งแกร่ง เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ใช้ทักษะความสามารถทางด้านสมองมากกว่ากีฬาทั่วๆ ไปที่ใช้ร่างกายเป็นหลัก จึงมีผู้เข้าแข่งขันกีฬา E-Sports และยังทำให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อตั้งเป็นทีมลงแข่งขันอย่างจริงจังในหลายๆ เกม1

หากกล่าวโดยสรุปคือ เกมแนวโมบ้า หรือ MOBA เป็นเกม แบบต่อสู้ ปล่อยพลัง โดยใช้ทักษะที่แตกต่างไปของแต่ละตัวละคร ซึ่งต้องใช้การวางแผนและทำงานร่วมกันเป็นทีมที่ดี เพื่อให้ชนะฝ่ายตรงข้าม โดยอาศัยการใช้สมองคิดกลยุทธ์ เสมือนอยู่ในสนามรบจริง ๆ และเมื่อชนะ ตัวละครที่เราสร้างมาก็จะได้คะแนนเพิ่มด้วย ทำให้มีพลังที่เก่งขึ้น เพราะด้วยลักษณะการเล่นแบบนี้ก็เปรียบได้เสมือนกับการลงแข่งขันกีฬา ที่ต้องอาศียทีมเวิร์ค และการวางแผน พร้อมทักษะที่ดีต่างๆของนักกีฬา จึงเรียกเกมแนวนี้ว่า เป็นกีฬา E-Sports นั้นเอง

และด้วยเหตุนี้เอง เกมแนว MOBA จึงทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ติดกันงอมแงม ซึ่งความจริงแล้วอายุที่เหมาสมของเกมแนวนี้ มีเรตเกม E10+ ซึ่งทางกรมสุขภาพจิต ได้ออกมาเผยว่าเด็กไทยติดเกมเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าใน 3 ปี มักพบป่วยทางจิตเวชร่วมด้วย ทั้งสมาธิสั้น โรคดื้อต่อต้าน ซึมเศร้า อายุน้อยสุดเพียง 5 ขวบ!!!

Good you know : E10+ (10 ปีขึ้นไป) เป็นเรตเกมใหม่ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2004 ซึ่งผู้ที่ได้รับ อนุญาตให้เล่นต้องมีอายุ 10 ปีขึ้นไป โดยเกมที่ได้เรทนี้ เป็นเกมที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จากการใช้อาวุธ มีการใช้ภาษาที่รุนแรงขึ้น แต่ไม่มีคำหยาบ ไม่มียาเสพติด เรตเกมนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับเกมที่มีความรุนแรงแบบการ์ตูนที่มีมากขึ้น แต่ต้องไม่มีภาพที่รุนแรงแบบสมจริง²

กรมสุขภาพจิตเร่งพัฒนาระบบบริการรักษาและป้องกันปัญหาเด็กติดเกม

โดย น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้เร่งพัฒนาระบบบริการรักษาและป้องกันปัญหาเด็กติดเกม ซึ่งกำลังมีแนวโน้มขยายตัวรุนแรงขึ้น ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ รายงานว่า ใน 2560 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม เพียง 3 เดือน พบผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่ได้รับการวินิจฉัย ว่า มีปัญหาพฤติกรรมและอาการเสพติดเกมอยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรงที่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาทางจิตเวชอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง รวมจำนวน 53 คน ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 เท่าตัวในรอบ 3 ปี ร้อยละ 96 เป็นชาย

อ่านต่อ >> กรมสุขภาพจิต เผย ลูกติดเกม rov แนว “MOBAระวัง! เสี่ยงป่วยทางจิตเวชร่วมด้วย คลิกหน้า 2

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


1esport-teen.blogspot.com

²game.mthai.com

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

 

โดยจิตแพทย์ตรวจพบว่า เด็กกลุ่มนี้จะมีโรคร่วมทางจิตเวช เช่น โรคสมาธิสั้น โรคดื้อต่อต้าน โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคกล้ามเนื้อตากระตุก โรคบกพร่องทักษะการเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังพบปัญหาพฤติกรรมโกหก ขโมยเงิน เล่นการพนัน หนีเรียน ไม่ยอมไปโรงเรียน และหนีออกจากบ้าน

♥ Must read : รวม 11 โรค กับวิธีสังเกต ลูกมีปัญหาสุขภาพจิต

ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 14 – 16 ปี แนวโน้มพบอายุน้อยลงเรื่อยๆ น้อยที่สุด คือ 5 ขวบ ซึ่งสัมพันธ์กับปัญหาการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย นับว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก โดยเรื่องติดเกมนี้ยังเป็นปัญหาอันดับ 2 ที่พ่อแม่โทร.ปรึกษาสายด่วน 1323 รองจากปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่น เช่น เรื่องความรัก

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเกมแนว MOBA ของพ่อแม่

เรื่องที่น่ากังวล ขณะนี้ คือ ประชาชนไทยยังเข้าใจผิดคิดว่า เกมบนสมาร์ทโฟน เกมออนไลน์ การแข่งขันเกมต่อสู้ออนไลน์ คือ ของเล่นของเด็กทุกวัย และที่น่าวิตกยิ่งไปกว่านั้น ยังเข้าใจผิดว่าการแข่งขันเกมต่อสู้ออนไลน์ที่รู้จักกันว่า โมบ้า ซึ่งเป็นเกมที่มีลักษณะจำลองการต่อสู้เสมือนจริงของทั้ง 2 ฝ่ายที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นและเยาวชนทั่วโลก เล่นกันเป็นทีม ผู้เล่นสามารถควบคุมตัวละครฮีโร่ของตัวเอง พูดคุยสื่อสารกับผู้เล่นอื่น และหลายคนยังเข้าใจผิดว่าเกมชนิดนี้เป็นกีฬาทางสมอง หรือที่เรียกว่า อี-สปอร์ต (E-Sports)

ซึ่งแท้จริงแล้ว เกมโมบ้า นี้ มีอันตรายต่อสมองที่บริเวณสมองส่วนหน้าของเด็กและวัยรุ่น ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ สมาธิ ความจำ และการตัดสินใจด้วยเหตุผล ซึ่งมีผลต่อการควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมโดยตรง สมองส่วนนี้จะทำงานลดลง ในขณะที่สมองส่วนอยาก หรือที่เรียกว่าระบบลิมบิก จะทำงานเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยความอยากความสนุกตื่นเต้นความท้าทายจากการต่อสู้ และการได้คะแนนหรือชัยชนะในเกมบ่อยๆ ซ้ำๆ ต่อเนื่องนานๆ จะนำไปสู่วงจรสมองติดเกมในที่สุด เป็นการเสพติดทางพฤติกรรมจนเกิดความเคยชิน จึงเลิกยากมาก ซึ่งขณะนี้จิตแพทย์พบว่าเกมชนิดนี้กำลังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กติดเกมมากจนต้องเข้ารับการบำบัด : อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

อาการที่แสดงถึงพฤติกรรมของการเสพติดเกม แนว MOBA

จะเริ่มจากความอยากกระหายที่จะเล่นเกม ใช้เวลาเล่นนานขึ้น เมื่อไม่ได้เล่นเกมจะมีลักษณะ “อาการถอน” คือ มีอารมณ์หงุดหงิด วิตกกังวล กระวนกระวาย จนถึงขั้นพฤติกรรมก้าวร้าว และเสียหน้าที่ในชีวิตประจำวัน เช่น ผลการเรียนแย่ลง ขาดสมาธิในการเรียน/การทำงาน แยกตัวไม่เข้าสังคม และสัมพันธภาพในครอบครัวแย่ลง จึงไม่แนะนำให้เด็กๆ เล่นเกมชนิดนี้

⇒ Must read : Kid Safety พิชิตปัญหาลูกติดเกม

สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนขณะนี้ ก็คือ การเลี้ยงดูลูกหลานในยุคดิจิตอลให้มีความปลอดภัยในการใช้สื่อออนไลน์ทุกชนิด คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครอง ไม่ควรปล่อยปละละเลยลูกอย่างเด็ดขาด!! ต้องมีกฎกติกาภายในบ้านอย่างชัดเจน อาทิ วินัยและการรับผิดชอบการเรียนในชีวิตประจำวัน การแบ่งเวลาการเล่น การมีเวลาสำหรับกิจกรรมกีฬา กิจกรรมร่วมในครอบครัว ควรเอาใจใส่การใช้เวลากับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อินเทอร์เน็ตของลูกอย่างใกล้ชิด ควรทำความรู้จักกับเกมก่อนตัดสินใจให้ลูกเล่น เป็นต้น สิ่งที่ไม่ควรทำเลยคือการหยิบยื่นเกมให้เด็กเล่นแทนของเล่น หรือเป็นของรางวัล

ปัญหาเรื่องช่วงอายุ ของเด็กที่ติดเกม

ด้านผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า เด็กทุกคนที่เล่นเกมจะมีโอกาสติดเกม โดยสถาบันฯ ได้ร่วมกับ รพ.รามาธิบดีและศิริราชพยาบาล ศึกษาปัญหาติดเกมในประเทศไทยใน พ.ศ. 2558 พบว่า วัยรุ่นไทยมีอัตราเสพติดเกมร้อยละ 13.3 – 16.6 จึงคาดว่ามีวัยรุ่นไทยติดเกมประมาณ 1.3 – 1.6 ล้านคน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน เด็กที่ติดเกมส่วนมากจะมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักกีฬา อี-สปอร์ต (E-Sports) ซึ่งโอกาสที่จะเป็นซูเปอร์สตาร์ในวงการนักแข่งเกมมีน้อยมากเพียง 0.00007 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบวัยรุ่นมีแนวโน้มก่อพฤติกรรมรุนแรงจากการเลียนแบบเกมที่เล่น และยังมีพฤติกรรมเสี่ยงเข้าถึงเกมพนันในหมู่วัยรุ่นอายุ 15 – 24 ปี เป็นนักพนันหน้าใหม่ร้อยละ 0.6 ด้วย

อ่านต่อ >> อาการแสดงว่าลูกกำลังติดเกมที่ต้องพาไปพบจิตแพทย์โดยด่วน! คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

⇒ อาการที่แสดงว่าลูกกำลังเกิดปัญหาติดเกมที่ผู้ปกครองต้องพาไปพบจิตแพทย์โดยด่วน

♥ การบำบัดรักษาลูกติดเกม

สำหรับการบำบัดรักษาเด็กที่ติดเกม ในปัจจุบันจะใช้ยาทางจิตเวชรักษาร่วมกับการทำจิตบำบัดรายบุคคล กลุ่มบำบัดและครอบครัวบำบัด เพื่อปรับพฤติกรรมอารมณ์และความคิด แต่ละรายใช้เวลารักษาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ขณะนี้สถาบันฯ ได้พัฒนาระบบบริการรักษาที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น

โดยพัฒนาโปรแกรมบำบัดชนิดใหม่ในรูปแบบกิจกรรมค่ายบำบัดครอบครัวที่มีเด็กติดเกม (Family Smart Player Camp) ภายใต้แนวคิด ฉลาดเล่น รู้วินัย ฉลาดรัก รู้จักเลือก เป็นกิจกรรมการเรียนรู้และแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ใช้ทีมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น นักจิตวิทยา พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ดำเนินการ ใช้เวลา 3 วัน เพื่อให้วัยรุ่นตระหนักเข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาติดเกม พัฒนาความคิด การตัดสินใจ ความกล้าหาญ ความภาคภูมิใจ

ซึ่งทางสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้จัดไปแล้ว 1 รุ่น พบว่า ได้ผลดี โดยสถาบันฯจะทำการศึกษาติดตามประเมินผล เพื่อพัฒนาให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้เปิดแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า ค้นพบความสุขกับลูกวัยรุ่น เพิ่มช่องทางให้ความรู้แก่พ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยรุ่นได้เข้าใจธรรมชาติวัยรุ่นมากขึ้น รู้วิธีพูดกับวัยรุ่นได้อย่างเข้าใจ ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอปฯนี้ฟรีในเพลย์สโตร์ ทั้งระบบ IOS และแอนดรอยด์ ขณะนี้มีผู้ดาวน์โหลดแล้วกว่า 1,000 ครั้ง ได้รับการตอบรับจากผู้ใช้ว่าเป็นแอปพลิเคชันที่เหมาะสำหรับการสื่อสารกับลูกในยุคดิจิตอล อย่างไรก็ดี หากพ่อแม่ต้องการขอรับคำปรึกษาการเลี้ยงลูกวัยรุ่น สามารถโทรที่สายด่วน 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมงได้เช่นกัน

√ 5 วิธีช่วยลูกหลานให้รอดพ้นจาก ภัยเกม!

1…สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกๆ โดยรู้จักเปิดใจรับฟังลูกๆ ด้วยความเข้าใจ ไม่เอาแต่จ้องจะตำหนิติบ่น หรือก่นด่า ทำให้ลูกรู้สึกได้ว่า”อบอุ่นและปลอดภัย” เมื่ออยู่ใกล้พ่อแม่ ให้พวกเขามั่นใจในความรักของเรา ให้พวกเขาเห็นว่าเราเป็นเสมือน”เพื่อนรุ่นพี่”ที่ทั้งน่าศรัทธาและเป็นกันเอง ไม่ใช่เป็นปีศาจร้ายที่อยากหนีไปไกลๆ

2… ไม่ถึงกับห้ามเล่นเกมอย่างเด็ดขาด เพราะหากหักดิบเช่นนั้น ในขณะที่ลูกกำลังติดเกม ก็เสี่ยงต่อการเกิดบาดหมางใจตามมา ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเห็นใจ ให้กำลังใจ เป็นที่ปรึกษาที่ดีของลูก ช่วยลูกเลือกเกม เช่น เกมที่เพิ่มทักษะทางด้านภาษา และ งดเกมประเภทไล่ล่าฆ่าฟัน หยาบคาย หรือความรุนแรงอื่นๆ

อย่างไรเสีย ข้อตกลงเพื่อจำกัดเวลาในการเล่น เป็นเรื่องจำเป็น เช่น ให้เล่นได้เฉพาะในวันหยุดไม่เกิน 2 ชั่วโมง และมีเวลาพักระหว่างเล่นทุก 20 นาที เป็นต้น

3…ชักชวนลูกๆ ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เพื่อมาแทนที่การติดเกม กิจกรรมที่อยากแนะนำคือ การท่องเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกันทั้งครอบครัว  หรือที่ผู้ใหญ่ในยุคนี้มักจะหลงลืม  แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า เด็กๆ กลับตื่นเต้นและให้ความสนอกสนใจมากยิ่งกว่าที่เราคาดคิดไว้เสียอีก เช่น  ไปหอสมุดแห่งชาติ, ท้องฟ้า, จำลอง, พิพิธภัณฑ์, หอศิลป์, สวนสัตว์เขาดิน, วัดพระแก้ว  ฯลฯ

4…ค้นหาสิ่งที่ลูกของเราสนใจเป็นพิเศษ แล้วส่งเสริมสนับสนุนให้เหมาะสม แล้วคุณจะแปลกใจ ปลื้มใจ และสนุกสนานไปกับกิจกรรมที่ลูกๆ ชอบไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกทำอาหารเป็นพ่อครัวหัวป่าก์, เป็นนักกีฬาตัวน้อย, ดีเจวิทยุ, พิธีกรคนเก่ง, นักถ่ายรูปมือโปร ฯลฯ

5…จากการวิจัยที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ระบุไว้ชัดเจนว่า วิธีฝึกสมองที่ดีที่สุดคือ “การอ่านหนังสือ” ดังนั้น  ชวนลูกเข้าร้านหนังสือซิด่วน! ให้เขาเลือกเล่มที่เขาชอบแล้วซื้อให้ ลงทุนเรื่องหนังสือนั้นคุ้มค่ากว่าอะไรอื่น โดยเฉพาะดีกว่าสะสมแผ่นเกมอย่างเทียบกันไม่ได้เลย

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : www.manager.co.th

บทความโดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี