นายสัตวแพทย์อยุทธ์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่ามีรายงานพบเด็กชาย อายุ 12 ปี อาศัยอยู่ในแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ป่วยด้วยโรคแท้งติดต่อ หรือ โรคบรูเซลโลซีส (Brucellosis) ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยมีโค,กระบือ,แพะ,แกะ เป็นพาหะนำโรคนั้น
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ได้สอบสวนโรคแท้งติดต่อหรือโรคบรูเซลโลซิส ที่บ้านผู้ป่วยและสันนิษฐานว่าเด็กน่าจะติดเชื้อจากการสัมผัสแพะในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งมีฟาร์มเลี้ยงแพะหลายแห่งหรือเด็กอาจจะดื่มนมแพะที่ไม่ผ่านการต้มฆ่าเชื้อ อธิบดีกรมปศุสัตว์ จึงได้ระดมเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ เจาะเลือดแพะทุกตัว ทุกฟาร์มในพื้นที่แขวงหัวหมาก เพื่อค้นหาแพะที่เป็นพาหะนำโรคแท้งติดต่อ หรือ บรูเซลโลซีส ในพื้นที่ต่อไป
โรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis) หรือ “โรคแท้ง” “โรคแท้งติดต่อ” เป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่สำคัญของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น โค กระบือ สุกร แพะ ม้า สุนัข เป็นต้น และติดต่อสู่คนได้ ลักษณะที่ควรสังเกตของโรคนี้ คือ สัตว์จะแท้งลูกในช่วงท้ายของการตั้งท้องและอัตราการผสมติดในฝูงจะต่ำ และเนื่องจากโรคนี้สามารถติดต่อถึงคนได้ โดยทำให้คนมีไข้สูงหรือมีการติดเชื้อเฉพาะที่เช่น กระดูก เนื้อเยื่อ และอวัยวะในระบบต่างๆ เมื่อสัตว์เป็นโรคนี้แล้ว ไม่แนะนำให้รักษาเนื่องจากไม่ให้ผลดีเท่าที่ควร
ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ การควบคุมและป้องกัน โดยที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรตรวจโรคทุกๆ 6 เดือน ในฝูงโคและแพะที่ยังไม่ปลอดโรค และทุกปีในฝูงโคและแพะที่ปลอดโรค ในกรณีที่มีสัตว์ที่ตรวจพบว่าเป็นโรคควรจะแยกออกจากฝูง คอกสัตว์ป่วยด้วยโรคนี้ ต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดแล้วทิ้งร้างไว้อย่างน้อย 1 เดือน ก่อนนำสัตว์ใหม่เข้าคอก ทำลายลูกที่แท้ง รก น้ำคร่ำ โดยการฝังหรือเผา แล้วทำความสะอาดพื้นที่นั้นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ กำจัด นก หนู แมลง สุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงอื่นซึ่งเป็นตัวแพร่โรคออกไป สัตว์ที่นำมาเลี้ยงใหม่ ต้องปลอดจากโรคนี้ก่อนนำเข้าคอก
อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยังได้กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ โคและแพะพ่อพันธุ์ที่ใช้ในฟาร์มต้องไม่เป็นโรคนี้และควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ในโค กระบือ เพศเมีย อายุ 3 – 8 เดือน ซึ่งจะทำให้มีภูมิคุ้มกันโรคได้นานถึง 6 ปี…
อ่านต่อ >> “ทำความรู้จัก “โรคแท้งติดต่อ”(บรูเซลโลซิส) โรคติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยง” คลิกหน้า 2
“บรูเซลโลซิส” โรคติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยง
บรูเซลโลซิส โรคที่เกิดกับสัตว์มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “โรคแท้งติดต่อในสัตว์” โดยเฉพาะสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น โค กระบือ สุกร แพะ ม้า สุนัข เป็นต้น และติดต่อสู่คนได้
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บรูเซลลา (brucella) ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ย่อย คนเราสามารถติดโรคจากสัตว์ได้หลายทาง ได้แก่
- สัมผัสสิ่งปนเปื้อน น้ำนม เลือด รก น้ำเมือกในอวัยวะเพศของสัตว์เพศเมีย น้ำเมือกตามตัวลูกสัตว์ที่ตกลูกออกมาใหม่ๆ มูลหรือปัสสาวะสัตว์ เชื้อโรคจะเข้าทางบาดแผลหรือรอยถลอก
- กินเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ หรือนมสัตว์ (รวมทั้งผลิตภัณฑ์นม เช่น ไอศกรีม เนยแข็ง) ที่ติดเชื้อโดยไม่ได้ปรุงให้สุกหรือผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อ
- หายใจสูดเอาฝุ่นหรือละอองของสิ่งคัดหลั่ง น้ำนมที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ขณะรีดนมในคอกสัตว์
- ถูกเข็มฉีดวัคซีนป้องกันโรคแก่สัตว์ทิ่มแทง เชื้อบรูเซลลาสามารถเข้ากระแสเลือด แพร่กระจายไปยังอวัยวะแทบทุกส่วน ก่อให้เกิดอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆ
อาการ
มักมีอาการค่อยเป็นค่อยไปแบบเรื้อรังมากกว่าเฉียบพลัน อาการที่พบบ่อย คือ มีไข้สูงๆ ต่ำๆ แบบเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ ไม่แน่นอน (อาจมีไข้ 1-3 สัปดาห์ สลับกับไม่มีไข้ 1-3 วัน) ร่วมกับอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามร่างกายทั่วไป มึน ซึม หนาวสั่น เหงื่อออกมาก ไอ เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด ตับโต ม้ามโต อัณฑะอักเสบ ระยะการเจ็บป่วยอาจนานหลายวัน หลายเดือน ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจนานเป็นปีหรือนานกว่า และมักมีอาการซูบผอมจากการขาดอาหาร ในรายที่ติดเชื้อทางอาหารการกิน อาจมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเดิน หรือท้องผูก ปวดหลัง ปวดข้อ ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจมีเพียงอาการไข้ต่ำๆ หรือมีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคทางจิตประสาทได้ บางรายอาจติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการชัดเจนก็ได้
การดูแลตนเอง
หากมีไข้และดูแลตนเอง (เช่น กินยาลดไข้ นอนพักผ่อน) ประมาณ 3-4 วันแล้วไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีประวัติทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือกินเนื้อสัตว์ดิบหรือดื่มนม (เช่น นมแพะ) ที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง ก็ควรจะรีบไปพบแพทย์ เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคบรูเซลโลซิส ก็ควรกินยารักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจัง
การรักษา
- คือการให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อบรูเซลลา แพทย์มักจะให้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 2 ชนิดร่วมกัน นาน 6 สัปดาห์ (สำหรับเด็ก แพทย์จะให้โคไตรม็อกซาโซลร่วมกับไรแฟมพิซิน หรืออะมิโนไกลโคไซด์) ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ อาจต้องให้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกัน 3-4 ชนิด และให้นานกว่า 6 สัปดาห์ ในรายที่เป็นฝีตับ อาจต้องทำการระบายเอาหนองออก ในรายที่มีภาวะผิดปกติของลิ้นหัวใจอาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ผลการรักษานับว่าได้ผลดี แต่ถ้ากินยาไม่สม่ำเสมอ หรือหยุดยาก่อนกำหนดเวลา ก็อาจมีอาการ กำเริบซ้ำได้อีก ในรายที่มีเยื่อบุหัวใจอักเสบร่วมด้วย มักมีอัตราตายค่อนข้างสูง ในรายที่ไม่ได้รับการรักษา มีอัตราตายโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 2
การป้องกัน
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบรูเซลโลซิสในสัตว์เลี้ยง (โค กระบือ แพะ แกะ หมู)
- ถ้าสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงเป็นโรคนี้ เช่น สัตว์ในคอก มีไข้ ซึม เต้านมอักเสบ ข้อขาอักเสบ เยื่อหุ้มข้ออักเสบ อัณฑะอักเสบ ขาหลังเป็นอัมพาต สัตว์แท้งลูกบ่อยๆ (โรคนี้มีชื่อเรียกว่า “โรคแท้งติดต่อในสัตว์”) เป็นหมัน ให้น้ำนมน้อยลง เป็นฝีตามที่ต่างๆ ลูกที่ตกออกมาไม่แข็งแรง เป็นต้น ก็ควรปรึกษาสัตวแพทย์ ถ้าเป็นโรคนี้ก็ควรกำจัดทิ้ง กรณีที่สัตว์แท้งลูก ควรเก็บลูกสัตว์ที่แท้งและรกส่งตรวจหาสาเหตุของโรค
- หมั่นตรวจสอบการติดเชื้อในฝูงสัตว์เลี้ยงด้วยการตรวจเลือด และน้ำนม ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อควรทำการคัดแยกและทำลาย
- คนที่ทำงานในฟาร์ม (โดยเฉพาะฟาร์มแพะ) ควรป้องกันไม่ให้สัมผัสถูกเชื้อโดยตรง เช่น ขณะทำงาน ควรสวมถุงมือยางชนิดหนาและทนทาน สวมหน้ากากปิดปากและจมูก ใส่ชุดกันเปื้อน ระวังอย่าให้เข็มฉีดยาหรือเจาะเลือดทิ่มตำล้างมือด้วยสบู่ภายหลังการสัมผัสถูกน้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ สารคัดหลั่งจากอวัยวะสืบพันธุ์ เลือด น้ำเหลือง มูลสัตว์ รกและลูกสัตว์ที่แท้ง
- ถ้าถูกเข็มฉีดวัคซีนโรคนี้ทิ่มตำเข้าโดยบังเอิญ ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อทันที และควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ยาป้องกัน ถ้าวัคซีนบังเอิญเข้าตาควรรีบล้างออกและควรกินยาป้องกันนาน 4-6 สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ปรุงให้สุก และนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีในการฆ่าเชื้อ (พาสเจอร์ไรซ์) การต้ม หรือการทำให้สุกด้วยความร้อนวิธีอื่นๆ
- เมื่อมีผู้ป่วยเกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องแยกผู้ป่วย แต่ต้องระวังอย่าสัมผัสถูกหนอง และน้ำเหลืองของผู้ป่วย หนองและเลือดที่ติดตามเสื้อผ้าหรือบริเวณต่างๆ ต้องผ่านการทำลายเชื้อ
อัตราการเกิดโรคแท้งติดต่อ
โรคนี้พบได้ประปรายเป็นครั้งคราวในกลุ่มคนที่เสี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ หรือดื่มนมที่ปนเปื้อนเชื้อ
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : www.prachachat.net , news.thaipbs.or.th , www.posttoday.com , www.doctor.or.th