AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

Aline ร่วมเป็นกำลังใจ!! น้องอลิน ผ่านเกณฑ์สามารถทำบอลลูนรักษาโรคลิ้นหัวใจตีบได้แล้วตอนอายุ 1 ขวบ

นับตั้งแต่วันที่ หมอโอ๊ค สมิทธิ์ กับ โอปอล์ ปาณิสรา ได้รับข่าวดีว่าทั้งสองคนได้ตั้งท้องลูกแฝดชายหญิง เรื่องราวทั้งหมดก็เต็มไปด้วยความยินดี แต่สุดท้ายโอปอล์เองก็มารู้ว่าตนเองมีภาวะครรภ์เป็นพิษ จนเป็นเหตุให้ต้องคลอดน้องอลิน น้องอรัญ ก่อนกำหนด

แต่อุปสรรคและโรคภัยต่าง ๆ กลับทำให้ครอบครัวนี้แข็งแกร่งขึ้น คุณพ่อคุณแม่เองก็สู้ไม่ถอย ส่วนลูก ๆ เองก็เป็นเด็กดี ทำให้ 2 หนูน้อยโตวันโตคืน และเริ่มมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อย ๆ สุขภาพที่แข็งแรงขึ้น จ้ำม่ำน่ารัก ทว่า มีสิ่งหนึ่งที่หมอโอ๊คและโอปอล์ยังคงเป็นกังวล คืออาการป่วยลิ้นหัวใจตีบของน้องอลิน

และเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมาหมอโอ๊ค และโอปอล์ ได้พาน้องอลิน วัย 7 เดือนเศษ ไปตรวจร่างกายเพื่อเตรียมตัวเข้ารักษาอาการป่วยลิ้นหัวใจตีบ โดยบอกว่า น้องสามารถเข้ารับการผ่าตัดทำบอลลูนหัวใจได้แล้วตอนอายุครบ 1 ขวบ ก่อน ซึ่งตนคาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนกันยายนปีนี้ ซึ่งที่ผ่านมาจากการตรวจร่างกายอย่างละเอียดทุก 3 เดือน ไม่พบอาการผิดปกติ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

ทั้งนี้หมอโอ๊ค ได้บอกอีกว่า มีหลายคนไถ่ถามกันมาว่าน้องป่วยเป็นอะไร จึงถือโอกาสนี้อธิบายทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้เลยว่า ภาวะของน้องอลินคือ ลิ้นหัวใจ pulmonary ที่นำเลือดจากหัวใจไปฟอกที่ปอดตีบ ทำให้หัวใจห้องขวาต้องทำงานหนัก ทำให้เด็ก ๆ บางคนมีภาวะหัวใจเขียวหรือหัวใจวายได้

นอกจากนี้คุณแม่โอปอล์  ยังให้เคล็ดลับการเลี้ยงดู น้องอลิน น้องอรัญ ด้วยว่า ทุกวันนี้เลี้ยงลูกให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ฝืน ไม่ประคบประหงม เพื่อให้ลูก ๆ มีร่างกายที่แข็งแรงอย่างสมวัย

อ่าน >> อาการโรคลิ้นหัวใจรั่วในเด็กและวิธีการรักษา คลิ๊กเลย

โรคลิ้นหัวใจ

โรคลิ้นหัวใจ(Valvular heart disease หรือ Heart valve disease) คือ โรคที่เกิดจากลิ้นหัวใจ (Heart valve) ทำงานผิดปกติ จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการไหลเวียนโลหิต เกิดปัญหาต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งในรายที่รุนแรง จะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (หัวใจวาย) และเสียชีวิตได้ โรคลิ้นหัวใจพบได้ในคนทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ เพศชายและเพศหญิงมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน

โรคลิ้นหัวใจมีอาการอย่างไร?

อาการที่เฉพาะของโรคลิ้นหัวใจ คือ การมีเสียงเต้นของหัวใจผิดปกติ ที่เรียกว่า เสียงฟู่ (Murmur) ซึ่งเกิดจากการที่เลือดไหลผ่านลิ้นหัวใจที่ผิดปกติ จึงทำให้เกิดเสียงขึ้นนั่นเอง โดยแพทย์จะตรวจพบได้จากการใช้หูฟัง ฟังเสียงการเต้นของหัวใจ

โรคลิ้นหัวใจที่เกิดขึ้นในระยะแรก ที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด ถ้าลิ้นหัวใจยังเสื่อมไม่มาก ผู้ป่วยอาจยังไม่มีอาการถึงแม้การเต้นของหัวใจจะมีเสียงฟู่ก็ตาม แต่เมื่อเวลาผ่านไป ลิ้นหัวใจเสื่อมมากขึ้น ผู้ป่วยจึงจะค่อยๆมีอาการ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย คือ

รักษาโรคลิ้นหัวใจได้อย่างไร?
ความผิดปกติของหัวใจในเด็กนั้นมากกว่า 90% เป็นความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด และกว่า 80% ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดแก้ไขนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่
1. ระยะแรกคลอด (น้อยกว่า 1 เดือน)
2. ระยะขวบปีแรก
3. ระยะเด็กเล็ก
4. ระยะเด็กโต
5. ไปจนถึงระยะผู้ใหญ่

>> คลิกอ่านต่อ วิธีการผ่าตัดโรคลิ้นหัวใจ

การเลือกวิธีผ่าตัด

การเลือกวิธีการผ่าตัดแบบใดนั้น ขึ้นกับชนิดและความซับซ้อนของความผิดปกติของหัวใจที่ตรวจพบ รวมทั้งความสามารถ และความถนัดของศัลยแพทย์ของแต่ละสถาบัน ซึ่งได้แก่

  1. การผ่าตัดแบบประคับประคอง(ไม่สามารถแก้ไขความผิดปกติทั้งหมดได้) และบางรายอาจต้องผ่าตัดแบบประคับประคองอีกหลายครั้ง ซึ่งสุดท้ายก็ยังคงได้แค่ประคับประคองอยู่ดี
  2. การผ่าตัดแบบประคับประคองไปก่อนสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยทำการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติทั้งหมดให้เหมือนปกติในภายหลัง
  3. การผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติทั้งหมดให้เหมือนปกติในคราวเดียวเลย

วิธีการผ่าตัดต่างๆ นี้ ถ้าแบ่งตามเทคนิคในการใช้เครื่องมือแล้ว สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  1. กลุ่มที่ผ่าตัดโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องปอดหัวใจเทียม
  2. กลุ่มที่ผ่าตัดโดยอาศัยเครื่องปอดหัวใจเทียมโดยระหว่างที่ทำการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติ

– บางชนิดสามารถทำได้ในขณะที่หัวใจยังเต้นอยู่

– บางชนิดต้องทำให้หัวใจหยุดเต้นก่อนจึงจะทำการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติได้

– หรือบางชนิดต้องลดอุณหภูมิลงไปเย็นมาก ที่อุณหภูมิประมาณ 15 – 18 องศาเซลเซียส แล้วหยุดระบบไหลเวียนทั้งหมดของร่างกาย โดยหยุดหัวใจและเครื่องปอดหัวใจเทียมด้วย ต่อจากนั้นจึงจะทำการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติได้

เนื่องจากการผ่าตัดแก้ไขโรคหัวใจในเด็กนั้น ความผิดปกติบางอย่างสามารถรอได้นาน บางอย่างก็ต้องทำการผ่าตัดแก้ไขทันที แต่ด้วยความเข้าใจผิดหรือความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งแพทย์ที่ดูแลเบื้องต้นเกี่ยวกับการดำเนินของโรค ทำให้มีเด็กโรคหัวใจจำนวนมากที่เสียโอกาสในการผ่าตัดแก้ไข บางรายไม่สามารถทำการผ่าตัดแก้ไขได้ ( เนื่องจากเกิดความเสียหายอย่างถาวรต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และปอดแล้ว ) หรือผลของการผ่าตัดไม่ดีเท่าที่ควรเนื่องจากมารับการผ่าตัดแก้ไขช้าเกินไป

ดังนั้นเด็กที่เป็นโรคหัวใจควรจะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ และได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องครบถ้วนจากกุมารแพทย์โรคหัวใจตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือตั้งแต่เริ่มวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ทั้งนี้เพื่อที่กุมารแพทย์โรคหัวใจจะได้ส่งเด็กไปให้ศัลยแพทย์โรคหัวใจเด็กทำการผ่าตัดแก้ไขในช่วงเวลาที่เหมาะสม 


ภาพจาก Instagram opalpanisara

women.kapook.com

www.doctordek.com

haamor.com