ไม่อยากให้ใครพูดว่า ลูกเป็นโรคสมาธิสั้น … ต้องรีบอ่าน จะได้รู้ให้เท่าทัน ป้องกันโรคได้!
คงไม่มีคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนหรอกใช่ไหมละคะ ที่อยากจะให้คนอื่นมาว่าลูกของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่มีคนพูดว่า “ลูกของเธอน่าจะเป็นโรคสมาธิสั้น” เพราะเวลาที่เราฟังนั้น มารู้สึกจี๊ดที่ใจ และก็โกรธเอาเสียมาก ๆ ด้วยสิ คนพวกนี้มีสิทธิอะไร ถึงมาว่าลูกของเรา … จริงไหมคะ
พวกเขารู้แน่นอนแล้วหรือเปล่าว่า โรคดังกล่าวนั้นคืออะไร จู่ ๆ ก็มาพูด ทั้ง ๆ ที่บางคนลูกก็ไม่มีเสียด้วยซ้ำ!! ดังนั้น ถ้าเราอยากที่จะพูดได้เต็มปากว่า “ไม่!! ลูกฉันไม่ได้เป็น!” แล้วละก็ พ่อแม่มืออาชีพอย่างเราก็ควรที่จะรู้ให้ทันโรคดังกล่าวด้วยเช่นกัน
และในวันนี้ ทีมงาน Amarin Baby and Kids ก็จะมาขอนำเสนอเรื่องราวดังกล่าว พร้อมกับการคาดการณ์ถึงสถิติการป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นของเด็กไทย ที่บอกเลยว่า รู้แล้วจะต้องอึ้ง!! แน่นอนค่ะ
อ่านต่อเนื้อหาเพิ่มเติม >>
นายแพทย์ บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้รายงานว่าในปี 2560 นี้ที่ผ่านมานั้น เพียงแค่ช่วง 3 เดือนแรก พบผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาพฤติกรรม และอาการเสพติดเกมอยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรง ที่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาทางจิตเวชอย่างเร่งด่วน และต่อเนื่อง รวมจำนวน 53 คน ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 เท่าตัวในรอบ 3 ปี ร้อยละ 96 เป็นชาย ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีโรคร่วมทางจิตเวช อาทิ โรคสมาธิสั้น โรคดื้อต่อต้าน โรควิตกกังวลโรคซึมเศร้า โรคกล้ามเนื้อตากระตุก โรคบกพร่องทักษะการเรียนรู้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาพฤติกรรมการโกหก ขโมยเงิน เล่นการพนัน หนีเรียน ไม่ยอมไปโรงเรียน และหนีออกจากบ้าน ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 14-16 ปี แนวโน้มพบอายุน้อยลงเรื่อย ๆ น้อยที่สุดคือ 5 ขวบ ซึ่งสัมพันธ์กับปัญหาการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย ถือเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก โดยเรื่องติดเกมนี้ยังเป็นปัญหาอันดับ 2 ที่พ่อแม่โทรปรึกษาสายด่วน 1323 รองจากปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่น” นายแพทย์บุญเรือง กล่าว
ด้าน แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า อาการที่แสดงว่าเด็กกำลังเกิดปัญหาติดเกมที่ผู้ปกครองต้องพาไปพบจิตแพทย์โดยด่วน อาทิ เด็กใช้เวลาหมกมุ่นอย่างมากกับการเล่นเกม อินเตอร์เน็ต จนเกิดการกระหายโอกาสในการเข้าถึง เด็กใช้เวลาเล่นนานกว่า 2 ชั่วโมง และมีอาการถอนคือ อาการหงุดหงิด กระวนกระวาย อาละวาดเมื่อบอกให้หยุดเล่นเกม เด็กอาจมีอาการแตกต่างกันเช่นบางคนแค่หงุดหงิด บางคนรุนแรงทำลายข้าวของ ทำร้ายพ่อแม่ ทำร้ายตัวเอง ขาดสมาธิการเรียน โดดเรียน ไม่ยอมไปโรงเรียน บางคนอดนอน ขโมยเงิน ท้อแท้สิ้นหวังในโลกความเป็นจริง
อ่านต่อเนื้อหาเพิ่มเติม >>
ขอบคุณที่มา: Thai Tribune
ลูกเป็นโรคสมาธิสั้น เพราะพ่อแม่ไม่สนใจจริงหรือ?
ผลจากงานวิจัยของ สวรส. หรือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข คาดการณ์เอาไว้ว่า ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยของเรา น่าจะมีเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น หรือ ADHD มากถึง 1 ล้านคน!
ซึ่งโรคดังกล่าวนี้ เป็นโรคที่เกิดจากความบกพร่องของพัฒนาการ ในประเทศไทยพบว่าเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นเด็กนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 5 คิดเป็นร้อย 8.1 ซึ่งสามารถประมาณการได้ว่ามีเด็กนักเรียนชั้น ป.1- 5 ทั่วประเทศป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นถึง 1 ล้านคน และมักพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ในอัตราส่วน 3:1
และหากไม่ได้รับการวินิจฉัย รักษา และปรับพฤติกรรมอย่างถูกต้อง เด็กจะมีโอกาสไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน เกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุมากกว่าเด็กปกติ มีปัญหาการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น ฯลฯ ส่งผลเป็นปัญหาระยะยาว เช่น กลายเป็นคนต่อต้านสังคม มีความเสี่ยงติดยาเสพติด เกิดภาวะซึมเศร้า ได้
โดยสาเหตุของการที่เด็กเป็นโรคดังกล่าวนั้นพบว่า ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยให้ความสนใจ หรือมีอะไรก็หยิบยื่นมือถือให้กับลูก เพื่อที่ลูกจะได้ไม่ดื้อและไม่ซน ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือว่าเป็นการทำร้ายลูกของเราอย่างสิ้นเชิง บางครอบครัวถึงกับซื้อให้ลูกได้ใช้เป็นส่วนตัว โดยที่ไม่ต้องมาเอาของคุณพ่อคุณแม่เลยก็มี
ว่าแต่เด็กที่มีสมาธิสั้น กับเด็กที่ซน ต่างกันอย่างไร อ่านต่อ คลิก!
เด็กที่มีสมาธิสั้น กับ เด็กที่ซน ต่างกันอย่างไร ?
ลักษณะอาการของเด็กสมาธิสั้นต่างจากเด็กซน โดยพฤติกรรมของเด็กสมาธิสั้นสามารถแบ่งเป็นกลุ่มอาการหลัก ได้ดังต่อไปนี้ค่ะ
• กลุ่มอาการขาดสมาธิ เช่น เหม่อลอย ขี้ลืม ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น วอกแวกง่ายจากสิ่งเร้าต่าง ๆ เป็นต้น
• กลุ่มอาการอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น เช่น มักยุกยิกอยู่ไม่สุข ปีนป่าย พูดมาก พูดแทรก อดทนรอคอยไม่ได้ เป็นต้น
“โรคสมาธิสั้น” ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง
- ผลต่อตัวเด็ก ทำให้ลูกมีปัญหาด้านการเรียน การเข้าสังคม รวมไปถึงการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย อาจส่งผลในระยะยาวต่อพัฒนาการในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ได้ เช่น มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม ติดยาเสพติด เกิดภาวะซึมเศร้า
- ผลต่อครอบครัว ทำให้ลูกเกิดภาวะความเครียดในครอบครัวสูงขึ้น บุคคลในครอบครัวเสียโอกาสในอาชีพการงาน เนื่องจากใช้เวลาไปกับการดูแลเด็ก ขาดความสงบสุข และอาจนำไปสู่ปัญหาการหย่าร้างได้มากขึ้น
- ผลต่อประเทศ ทำให้ประเทศเกิดการสูญเสียทรัพยากรบุคคลจากโรคสมาธิสั้นในวัยเด็ก และงบประมาณในการดูแลรักษา เป็นต้น
มาถึงตอนนี้ คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านก็คงจะเข้าแล้วว่า เจ้าโรคสมาธิสั้น หรือ ADHD ที่คนเขาพูดกันนั้น เป็นโรคเกี่ยวกับอะไร คราวนี้ละค่ะ ไม่มีใครสามารถมาว่าลูกของเราได้อีกแล้ว ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่คะอย่าลืมสร้างเกราะป้องกันโรคดังกล่าวให้กับลูก ด้วยการพาลูกน้อยของเราไปผจญภัย ทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกบ้านกันด้วยนะคะ
ข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
- แชร์ประสบการณ์ พาลูกตรวจเช็ก “โรคสมาธิสั้น” พร้อมวิธีแก้
- เครื่องดื่ม-ขนมผสมคาเฟอีน ส่งผลให้ ลูกเป็นโรคสมาธิสั้น
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่