ปัญหาสังคมเรื่องหนึ่งที่ยังมีเกิดขึ้นให้เห็นกับคุณแม่ตั้งครรภ์คือ เมื่อคุณแม่เกิดตั้งครรภ์แล้วฝ่ายชายกลับไม่รับผิดชอบ ท้องแล้วแฟนทิ้ง จะทำอย่างไรดี ควรทำแท้งหรือไม่ หรือจะเก็บลูกน้อยเอาไว้ดี มาดูกรณีตัวอย่างจากคุณแม่ท่านนี้ที่ถูกคนรักบังคับให้ทำแท้ง เพื่อเป็นอุทาหรณ์กันค่ะ
คุณแม่ชาวสิงคโปร์ ตั้งครรภ์ได้ 5 เดือน แท้งลูกหลังจากที่คนรักของเธอไม่ยอมปล่อยให้เธอมีลูก เธอเขียนจดหมายในเฟซบุ๊กถึงลูกของเธอ ที่ไม่มีวันลืมตาดูโลก เธอเขียนด้วยความเสียใจว่า
“แม่ขอโทษลูกรัก แม่ขอโทษที่ไม่สามารถทำให้ลูกเกิดมาลืมตาดูโลกได้ แม่ขอโทษที่จะไม่มีโอกาสได้กอดลูกไว้ในอ้อมแขน หรือบอกว่าแม่รักลูกมากแค่ไหน แม่จะไม่ได้เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกแบบที่แม่ทั่วไปเขาทำกัน แม่จะไม่มีความรู้สึกนี้อีกต่อไปแล้ว แม่ขอโทษที่ปล่อยให้ลูกจากไปทั้งๆ ที่ลูกยังไร้เดียงสา และไม่รู้ว่ากำลังจะต้องกลับไปสู่อ้อมแขนของพระผู้เป็นเจ้าในเร็วๆ นี้”
คุณแม่ยังเขียนข้อความไปถึงคนรักด้วยหัวใจที่สลายว่า “เขาได้เก็บฉันไว้ในนรกถึง 5 เดือน เราทะเลาะกันทุกคืน ถึงขั้นลงไม้ลงมือ เขาเตะฉันและลูกหลายครั้ง รวมทั้งบังคับให้ทำแท้ง คงไม่มีอะไรที่เจ็บปวดทั้งกายใจเท่านี้อีกแล้ว แต่การดิ้นของลูกก็ทำให้ฉันผ่านพ้นค่ำคืนที่ยากลำบากนี้ไปได้“
“บางทีมันอาจดูโง่ที่แม่เขียนถึงลูกราวกับว่าลูกจะสามารถอ่านข้อความนี้ได้ แต่แม่ไม่รู้จะไประบายความเจ็บปวดนี้ได้ที่ไหน แม่เสียใจที่พ่อของลูกไม่ต้องการรับผิดชอบ และขอโทษที่ปล่อยให้เขาตีและเตะลูกหลายครั้งในขณะที่ลูกกำลังเจริญเติบโตอยู่ในท้อง” คุณแม่โทษตัวเองที่ไม่ระมัดระวัง
“ในขณะที่พ่อของลูกจากไปโดยไม่มีรอยแผล หรือความเจ็บปวด และไม่แคร์อะไรบนโลกใบนี้ ได้พบผู้หญิงคนใหม่ เป็นสิ่งที่แม่ได้พบเจอเมื่อลืมตาตื่นขึ้นมา แม่นอนหลับไม่ลงเลยสักคืน ด้วยความเสียใจ และน้ำตาที่ไหลไม่มีวันสิ้นสุด แม่คิดถึงลูกเหลือเกิน แม่หวังว่าลูกจะไปเกิดในที่ที่ดี ไม่ต้องพบเจอกับเรื่องแบบนี้ มีชีวิตที่ดี และได้รับความรักจากทุกคน อภัยให้แม่ด้วยที่ไม่สามารถทำหน้าที่แม่ได้ แม่ควรจะปกป้องลูกให้ดี แม่คือปีศาจและสมควรเป็นคนจากไปไม่ใช่ลูก” คุณแม่กล่าวอย่างเจ็บปวด
อ่านต่อ “ท้องแล้วไม่รับผิดชอบ ผิดกฎหมาย” คลิกหน้า 2
ท้องแล้วไม่รับผิดชอบ ผิดกฎหมาย
ในประเทศไทย ทางกฎหมายแล้ว คุณแม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้ผู้ชายรับผิดชอบได้ โดยฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นลูก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1555,1556 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ศาลก็จะพิจารณาเป็นกรณีไป คุณแม่ต้องยื่นฟ้องขอให้ผู้ชายตรวจ DNA แล้วเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ทางออกในการฟ้องร้อง ก็จะต้องใช้ก้อนเงินจำนวนหนึ่ง เรียกร้องความรับผิดชอบจากฝ่ายชาย ต้องชั่งใจดูว่า คุ้มหรือไม่ ถ้าลูกที่เกิดมาต้องมีพ่อที่ขาดเยื่อใย หรือสุดท้ายแล้วอาจต้องเว้นว่าง “ชื่อบิดา” เอาไว้ หากคุณแม่เข้มแข็งพอ ที่จะเลี้ยงลูกด้วยตัวคนเดียว
มาตรา 1555 ระบุว่า ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นลูกชอบด้วยกฎหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นลูกชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชาย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
1.ข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขัง โดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลา ซึ่งอาจตั้งครรภ์
2.มีการลักพาไปในทางชู้สาว หรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีในระยะเวลา ซึ่งอาจตั้งครรภ์ได้
3.เมื่อมีเอกสารของพ่อแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน
4.ปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่า เป็นบุตรมีหลักฐานว่าพ่อเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
5.เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลา ซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้
6.ร่วมประเวณีในระยะเวลา ซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
7.รู้กันทั่วว่าเป็นบุตร เช่น บิดาให้การศึกษา อุปการะเลี้ยงดู หรือยอมให้ใช้ชื่อสกุลของตน
มาตรา 1556 การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่เด็กเป็นผู้เยาว์ ถ้าเด็กมีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน
ในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ญาติสนิทของเด็ก หรือ อัยการอาจร้องขอต่อศาล ให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำ หน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็กก็ได้
เมื่อเด็กมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์เด็กต้องฟ้องเอง ทั้งนี้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม
ส่วนในใบแจ้งเกิดนั้น สามารถเว้นว่างช่องบิดาผู้ให้กำเนิดได้ เพราะหากกรอกข้อมูลที่เป็นเท็จ ย่อมมีความผิดอาญา ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ จดข้อความอันเป็นเท็จลงในสูติบัตรอันเป็นเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน ตาม ป.อ. มาตรา 267
เด็กทุกคนมีสิทธิ์ลืมตาขึ้นมาดูโลก ถ้ากลัวว่าจะท้องทั้งๆ ที่ยังไม่พร้อมควรที่จะหาวิธีป้องกัน
อ่านเพิ่มเติมคลิก “คุมกำเนิดหลังคลอด ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ให้นม”
เครดิต: www.malaysiandigest.com, Mthai