เพราะ ความซื่อสัตย์ เป็นหนึ่งในคำสอนที่พ่อแม่และคุณครูคอยบอกอยู่เสมอ และนี่จึงทำให้เด็กชายชาวเขาทั้ง 2 คนนี้ได้รับตอบแทนกลับมาอย่างคุ้มค่า หลังนำเงินที่เจอไปส่งคืนคุณครูเพื่อหาเจ้าของ โดยไม่ได้มีจิตใจที่จะเก็บเอาไว้ …แต่หลังผ่านไป 1 ปี แล้ว ไม่มีคนมารับคืน ทางโรงเรียนจึงตัดสินใจทำบางอย่าง!!!
สืบเนื่องมาจากเรื่องราวที่เคยเป็นข่าวดังเมื่อช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา กรณีที่มีเด็กนักเรียนชาวเขา 2 คน เก็บเงินที่ได้จากกระเป๋ากางเกงยีนส์ตัวหนึ่ง ที่มีผู้ใจบุญนำมาบริจาค ซึ่งนับแล้วเป็นจำนวนเงิน 1 แสนบาทพอดี ที่โรงเรียนบ้านขุนห้วยแม่ท้อ ในพื้นที่ อ.แม่ระมาด จ.ตาก
และเด็กทั้ง 2 ก็ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปส่งคืนคุณครู โดยไม่ได้มีจิตใจที่จะเก็บเอาไว้ส่วนตัวเลยแม้แต่น้อย จึงกลายเป็นข่าวโด่งดัง ถึงความซื่อสัตว์ต่อตัวเอง จนมีคนแห่ชื่นชมกันในโลกออนไลน์ไม่ขาดปาก
รางวัล ความซื่อสัตย์ เด็กชาวเขา 2 คนเก็บเงินแสนคืนเจ้าของ
ผ่านไป 1 ปีไม่มีใครมารับ!
โดยเด็กทั้งคู่มีชื่อว่า ด.ช.คำนนท์ แก่งวิจิตร และ ด.ช.นวพนธ์ โสภาเสรีสุข ซึ่งทางโรงเรียนก็ได้ทำการประกาศตามหาผู้เป็นเจ้าของ แต่เวลาผ่านไปครบ 1 ปีแล้ว กลับไม่มีผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของเงินตัวจริง มารับเงินคืนแต่อย่างใด
และแน่นอนว่า ตามกฎหมายแล้ว หากไม่มีผู้ใดมาแสดงตัว และมีหลักฐานมายืนยันว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นของเขา เมื่อครบ 1 ปี เต็ม ทรัพย์สิน หรือเงินจำนวนนั้น จะตกเป็นของผู้ที่เก็บได้ทันที ทางคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองและคณะครู จึงได้ทำการมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้กับเด็กนักเรียนทั้ง 2 คน
โดยผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านขุนห้วยแม่ท้อ กล่าวว่า…
ตามที่นักเรียนเจอเงินในกระเป๋ากางเกงจำนวน 100,000 บาท เมื่อช่วงปลายปี 2559 แล้วนำมาส่งให้คุณครูประจำชั้น เพื่อตามหาเจ้าของ จนตอนนี้ 1 ปีแล้วตามกฎหมายเมื่อไม่มีเจ้าของมาขอรับเงินคืน… จึงได้ทำการมอบเงินที่เก็บได้ เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนทั้ง 2 คน
อ่านต่อ >> “วิธีสอนลูกเรื่องความซื่อสัตย์ ช่วยลูกปลอดภัยจากกิเลส” คลิกหน้า 2
ขอบคุณภาพจาก : www.thairath.co.th , www2.manager.co.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ความรู้สึกของเด็กทั้ง 2 ที่เก็บเงินได้
ก่อนหน้านั้น ด.ช.คำนนท์ แก่งวิจิตร และด.ช.นวพนธ์ โสภาเสรีสุข นักเรียนที่เก็บเงินได้ เล่าให้ฟังว่า…
ตอนนั้นเขาทั้ง 2 คนอยู่ชั้น ป.1 ดีใจที่เห็นเงิน และตกใจด้วย จึงเอาเงินไปคืนคุณครูเพื่อหาเจ้าของเงิน เพราะว่าพ่อกับแม่และคุณครูเคยสอนว่า หากไม่ใช่ของของเรา ให้เอาไปคืนให้เจ้าของ
“พอถึงตอนนี้ไม่มีเจ้าของเงินมารับคืน รู้ว่าตัวเองจะได้เงินจำนวนนี้ก็ดีใจมาก พวกผมจะเอาเงินที่ได้ไปใช้เรียนหนังสือต่อไปครับ”
ทาง Amarin Baby & Kids ก็ขอแสดงความยินดีกับน้องทั้ง 2 คนจริง ๆ ค่ะ และนั้นเป็นเพราะความดีและความซื่อสัตย์ จึงส่งผลถึงการกระทำของน้องทั้ง 2 คน ได้รับสิ่งตอบแทนอันสมควรค่านั้นไป
อย่างไรก็ดีสำหรับเรื่อง ความซื่อสัตย์ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลยที่จะสอนลูก เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความซื่อสัตย์-สุจริต ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ ส่งผลให้เกิดคอร์รัปชั่น โกงกินเรื้อรัง แนะพ่อแม่ปลูกฝังความซื่อสัตย์-สุจริตให้ลูกตั้งแต่ช่วงปฐมวัย พร้อมกับทำตัวเป็นต้นแบบที่ดี และไม่ควรพูดโกหกกับลูก
คุณธรรมพื้นฐานเรื่อง ความซื่อสัตย์ มีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร?
การที่ลูกเป็นคนมีความซื่อสัตย์ พูดจริง ทำจริง เป็นคนจริงใจ เป็นคนตรง จะทำให้เขาเป็นที่เชื่อถือ เคารพนับถือของคนอื่น และเป็นผู้ที่เคารพนับถือตัวเองได้ การรักความจริง การทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ตรงกับความจริง จะทำให้เขาปลอดภัยจากกิเลส
สัจจะ คือ การพูดจริง ทำจริง จริงใจ เป็นความเข้มแข็งของจิตใจ การเสียสัจจะเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย การพูดเท็จเพราะกลัวครู กลัวผู้ใหญ่จะลงโทษ หรือว่ากลัวคนอื่นจะดูถูก เป็นนิสัยที่มักจะเกิดขึ้นในเด็กที่ยังไม่เป็นที่พึ่งของตน ยังอ่อนแอ ยังต้องอาศัยคนอื่น จึงจะมีชีวิตได้ ต้องพึ่งพ่อแม่ พึ่งครู กรณีนั้นก็เป็นธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นอิสระ จึงต้องระแวงว่าสิ่งที่ตนพึ่งอาศัยนั้นจะทอดทิ้งหรือจะหายไป นั่นจะเป็นเหตุอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การพูดเท็จของเด็ก
วิธีแก้วิธีหนึ่ง คือ การทำให้เกิดความรักสัจจะว่า สัจจะมันงามอย่างไร และให้เห็นว่ามันเกิดความรู้สึกที่ดีอย่างไร ให้เห็นว่าถ้าเราไม่ปิดบังอำพราง ถ้าเราไม่พยายามสร้างภาพตัวเองอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อจะได้รับคำชมเชยหรือความรัก จะทำให้เราไม่แย่อย่างที่คิด ตรงกันข้าม คนที่เกิดนิสัยที่จะต้องคิดว่าตัวเองต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งตลอดเวลา จึงจะเป็นที่รักของคนอื่น หรือว่าจะไม่ถูกทอดทิ้ง จะเป็นคนที่มีความทุกข์ มีความเก็บกดตลอดเวลา เราสอนให้เด็กพูดความจริง เราทำอะไรผิด เราก็ยอมรับไปเลย และตั้งใจจะไม่ทำอีกในครั้งต่อไป
ทั้งหมดนี้อยู่ที่ว่าเด็กเชื่อว่าพ่อแม่เป็นผู้ยุติธรรม มีความหวังดีต่อเขา ให้อภัยเขาได้ และอยู่ที่ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน สอนให้ทำอะไรก็ทำจริงจังตั้งใจ ไม่ใช่ว่าเหลาะแหละทำแบบสนุกสบาย
สัจจะ เป็นฆราวาสธรรม ซึ่งเป็นหลักธรรมสำหรับการครองชีวิตของคฤหัสถ์ และเป็นบารมีข้อหนึ่ง คือ เมื่อเราตั้งใจจะทำอะไรแล้ว ก็อยู่กับสิ่งนั้นจนสำเร็จ ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในการเรียน ในการทำงานอย่างแน่นอน ฆราวาสธรรม 4 ประการ ประกอบด้วย
- สัจจะความจริง คือ ดำรงมั่นในสัจจะ ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง จะทำอะไรก็ให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้
- ทมะฝึกตน คือ บังคับควบคุมตนเองได้ รู้จักปรับตัวและแก้ไขปรับปรุงตนให้ก้าวหน้าดีงามยิ่งขึ้นอยู่เสมอ
- ขันติอดทน คือ มุ่งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง อดทน ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมาย ไม่ท้อ ถอย
- จาคะเสียสละ คือ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ ชอบช่วยเหลือเกื้อกูล บำเพ็ญประโยชน์ สละโลภ ละทิฐิมานะได้ ร่วมงานกับคนอื่นได้ ไม่ใจแคบเห็นแก่ตัวหรือเอาแต่ใจตน
อ่านต่อ >> “9 ตัวช่วยคุณพ่อคุณแม่ ปลูกฝังความซื่อสัตย์ให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก” คลิกหน้า 3
ขอบคุณข้อมูลจาก : taamkru.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ตัวช่วยคุณพ่อคุณแม่ ปลูกฝังความซื่อสัตย์ให้กับลูกน้อย
1. เป็นแบบอย่างที่ดี
โดยการแสดงความซื่อสัตย์ให้ลูกเห็นทั้งในเรื่องของคำพูดและการกระทำเช่น ไม่พูดโกหกให้ลูกได้ยิน หรือเมื่อสัญญาว่าจะทำสิ่งใดก็ทำตามนั้น
2. พูดความจริง
ถ้าลูกพูดในสิ่งที่ที่ไม่เป็นจริง แม้สิ่งนั้นจะไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนก็ถือว่าเป็นเรื่องทีผิดเช่น เมื่อลูกบอกว่า “หนูยังไม่ง่วง” คุณต้องบอกลูกว่า “แม่รู้ว่าหนูยังอยากเล่นต่อ แต่แม่เห็นว่าลูกง่วงนอนมากแล้ว” การฝึกลูกให้กล้าพูดความจริงและไม่กลัวผลของการพูดความจริงในที่สุดลูกจะกลายเป็นเด็กที่ไม่โกหก
3. อย่าอ้างการโกหกว่าทำไปเพราะหวังดี
หลายคนมักจะให้เหตุผลของการโกหกว่าหากพูดความจริงแล้วจะทำให้คนอื่นไม่สบายใจ นั่นเท่ากับว่าคุณได้ปลูกฝังเรื่องความไม่ซื่อสัตย์ให้ลูกเข้าไปแล้วโดยไม่รู้ตัว
4. ชื่นชมลูกเสมอเมื่อลูกพูดความจริง
เช่นเมื่อทำจานแตกหรือสอบตกก็ควรชื่นชมที่ลูกกล้าบอกความจริง เพื่อให้ลูกรู้ว่าการพูดความจริงเป็นสิ่งที่ดี อีกทั้งพ่อแม่จะต้องให้ความรู้สึกปลอดภัยเสมอเมื่อลูกพูดความจริง
5. สอนผ่านเรื่องเล่านิทาน
เช่น เด็กเลี้ยงแกะ เพื่อลูกจะได้เข้าใจว่าการโกหกเป็นสิ่งไม่ดี ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและไม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง รวมถึงละครหรือการ์ตูนที่มีเนื้อหาที่ส่อถึงความไม่ซื่อสัตย์ พ่อแม่ควรสอนและอธิบายให้ลูกเข้าใจทันทีว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
6.สอนให้เคารพกฎระเบียบขั้นพื้นทางของสังคม
เพราะคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดลูกมากที่สุด ดังนั้นโอกาสที่เขาจะทำตามมีมาก วิธีการสอนลูกง่ายๆ ก็เช่น เมื่อขับรถเจอไฟจราจรสีแดง คุณพ่อต้องหยุดรถ และสอนลูกว่าทุกคนต้องทำตามกฎที่ตั้งขึ้นมาอย่างเคร่งครัด เพราะนอกจากลูกจะปลอดภัยแล้ว สังคมก็จะเป็นระเบียบอีกด้วย
7. ฝึกให้รู้จักรับผิดชอบสิ่งที่ตนทำ
ยกตัวอย่างง่ายๆเช่นในกรณีที่ลูกโกหก ต้องสอนให้ลูกยอมรับความจริง หากทำผิดก็ต้องบอกให้ลูกรับผิด คุณพ่อคุณแม่ต้องตักเตือน และช่วยแก้ไขปัญหาค่ะ ถึงแม้เรื่องนี้ดูจะเป็นเรื่องเล็กๆในบ้าน แต่ก็สามารถส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกในอนาคตได้
8. สอนให้เป็นเด็กรู้จักพอ ไม่ละโมบอยากได้ของผู้อื่น
หยิบคำสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบที่เข้าใจง่ายมาสอนลูก เช่น หากมีจักรยาน 2 คันที่ราคาต่างกัน ต้องสอนถึงกำลังในการซื้อที่เราสามารถซื้อของ และสอนเพิ่มเติมว่าถึงแม้จะราคาถูกกว่า แต่ก็สามารถใช้งานได้เหมือนกัน ลูกต้องรู้จักเก็บออมเงินเพื่อซื้อด้วยตนเอง ไม่ลักขโมย หรืออยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน
9. ปลูกฝังจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ผ่านเรื่องรอบตัวในชีวิตประจำวัน
ยกตัวอย่างเช่น หากไปเที่ยวนอกสถานที่ แล้วเจอกับถังขยะแต่ละประเภท ต้องสอนให้ลูกรู้จักแยกขยะเพื่อทิ้งลงถังให้ถูกต้อง อาจจะบอกเขาว่าให้ลูกลองคิดดู หากมีคนทิ้งขยะเช่น เศษแก้ว ลงในถังขยะผิดประเภท ผู้ที่มาเก็บขยะเพื่อนำไปขายก็อาจได้รับอันตรายถูกแก้วบาด ดังนั้นต้องมีจิตสำนึก นึกถึงส่วนรวม ซึ่งจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมนี้เองที่จะเป็นพื้นฐานให้ลูกมีความซื่อสัตย์ได้ค่ะ
อ่านต่อ >> “วิธีสอนลูกให้มีความซื่อสัตย์ ช่วยลูกปลอดภัยจากกิเลส” คลิกหน้า 4
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธีสอนลูกให้มีความซื่อสัตย์ พ่อแม่ควรปลูกฝังความซื่อสัตย์ให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก โดยเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความซื่อสัตย์ ทั้งการซื่อสัตย์ต่อครอบครัว ต่อการทำงาน และต่อการดำรงชีวิต พ่อแม่ควรสอนให้ลูกพิจารณาประโยชน์ของความซื่อสัตย์และโทษของความไม่ซื่อสัตย์ว่าเป็นอย่างไร สอนลูกให้สามารถฝึกหัดควบคุมตนให้ได้ โดยเริ่มจากการควบคุมทางกายและวาจาก่อน ด้วยการประพฤติตามหลักศีล 5 ที่เป็นส่วนเบื้องต้นของธรรมจริยา ได้แก่
-
เว้นจากปาณาติบาต
คือ ละเว้นการฆ่า การสังหาร ไม่ประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกาย เป็นเรื่องการเคารพในตัวคน ในชีวิตสัตว์ การที่เราเป็นผู้ไม่เบียดเบียน นับเป็นการให้สิ่งที่ล้ำค่า คือ ให้ความปลอดภัยกับผู้คนรอบข้างและสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ก็เป็นสิ่งที่งดงาม
-
เว้นจากอทินนาทาน
คือ ละเว้นการลักขโมย เบียดบัง แย่งชิง ไม่ประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน เป็นการเคารพในทรัพย์สิน ในสิ่งของของคนอื่น อันไหนที่ไม่ใช่ของเรา เราไม่สนใจ ถือว่าไม่มีความหมายสำหรับเรา เพราะไม่ใช่ของเรา และจะทำให้เรามีความละเอียดมากขึ้น ทำให้จิตใจซื่อตรง สามารถเคารพนับถือตัวเองได้
-
เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
คือ ละเว้นการประพฤติผิดในกาม ไม่ประทุษร้ายต่อของรักของหวงแหนอันเป็นการทำลายเกียรติภูมิและจิตใจ ตลอดจนทำวงศ์ตระกูลของเขาให้สับสน เป็นการไม่ประพฤติผิดในกาม ที่ทำให้ความวุ่นวายในครอบ ครัวลดน้อยลง เริ่มต้นจากครอบครัวของเรา อันเป็นสังคมเล็กๆ พ่อแม่แสดงโลกให้ลูกเห็นว่า เราอยู่ด้วยกัน เชื่อถือไว้วางใจกันได้ งดเว้นในการประพฤติตามอารมณ์ทางเพศที่เกิดขึ้นกับคนอื่นทั้งหมด มีความจงรักภักดีต่อกัน ครอบครัวเราจึงจะมีความสุขได้ยาวนาน
-
เว้นจากมุสาวาท
คือ ละเว้นการพูดเท็จ โกหกหลอกลวง ไม่ประทุษร้ายเขา หรือประโยชน์สุขของเขาด้วยวาจา ไม่โกหก ไม่พูดเท็จ ข้อนี้นับว่าเป็นข้อที่ยาก เพราะเราต้องมีสติ ต้องรู้ตัว ต้องระมัดระวัง จึงจะรักษาข้อนี้ได้ แล้วเราจะทำอย่าง ไรจึงจะพูดโดยไม่ผิดศีลและไม่ทำให้คนรอบข้างเสียใจ สมมุติว่าคนอยู่ด้วยกัน เป็นเพื่อนกัน เป็นแฟนกัน พูดความจริงตลอด หลังจากนั้นพูดเท็จเพียงครั้งเดียว คำพูดเท็จ คำโกหกเพียงครั้งเดียวจะมีน้ำหนักมากกว่าคำจริงทั้งหมดที่ผ่านมา และพอเราพูดโกหก เราโกหกครั้งเดียวคงไม่จบ เพราะว่าจะต้องจำว่าพูดไว้อย่างไร ไปๆ มาๆ เราจะจำไม่ได้เอง สับสนวุ่นวาย หากเราต้องการความสุขในครอบครัว ความสุขในชุมชน เราก็พยายามที่สุดที่จะไม่พูดสิ่งที่ไม่เป็นจริง
-
เว้นจากสุราเมรัย
คือ ไม่เสพเครื่องดองของมึนเมา สิ่งเสพติด อันเป็นเหตุให้เกิดความประมาทมัวเมา ก่อความเสียหายผิดพลาดเพราะขาดสติ เช่น ทำให้เกิดอุบัติเหตุ แม้อย่างน้อยก็เป็นผู้คุกคามต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของผู้ร่วมสังคม ไม่ดื่ม ไม่เสพสิ่งที่ทำให้มึนเมา ทำให้สติน้อยลง เหล้าทุกชนิดละลายความละอาย ไม่มีใครกินเหล้าแล้วฉลาดขึ้น ไม่มีใครกินเหล้าแล้วสุภาพขึ้น มีแต่กินเหล้าแล้วหยาบลง
อานิสงส์ของการรักษาศีล 5 ศีล
คือ บทศึกษาหรือบทฝึกหัดตัวเอง คนเราจะพัฒนาตัวเอง ต้องเริ่มที่กายและวาจา มีความฉลาดในการเลือกสิ่งที่ทำ และฉลาดในการเลือกสิ่งที่จะไม่ทำ โดยประพฤติต่อคนรอบข้าง ต่อสิ่งรอบข้าง ด้วยความเข้าใจในประโยชน์ของการไม่ทำบางสิ่งบางอย่าง และเห็นโทษของการกระทำบางอย่าง ซึ่งเป็นผลร้ายที่เกิดขึ้นกับชีวิตของตัวเองและคนรอบข้าง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ดังนั้น ศีลจึงเป็นเรื่องของความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ ไม่ใช่เพราะความกลัว แต่เกิดความเข้าใจในการทำสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง ที่เป็นความจริง และสมัครใจที่จะงดเว้นจากการกระทำทั้ง 5 อย่าง ซึ่งเป็นเครื่องรับประกันการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ไม่หวาดระแวงต่อกัน เราทุกคนต้องการชุมชนที่ไว้ใจได้ แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะรักกัน
อย่างไรก็ตาม ทุกคนก็สามารถงดเว้นจากการเบียดเบียนกันได้ ถึงจะไม่รักกัน เราก็เคารพซึ่งกันและกันได้ ไว้วางใจกันได้ ไม่ต้องคอยระแวงกันอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรารู้สึกไม่ปลอดภัย แล้วจะหาความสุขได้จากที่ไหน ความสุขคงเกิด ขึ้นไม่ได้ เรื่องของศีล เราจะเห็นประโยชน์ในการรักษาได้ง่าย ต่อเมื่อเราสนใจในการพัฒนาชีวิตตัวเอง และต้องการจะมีชีวิตที่ราบรื่น มีชีวิตที่สงบ ปลอดภัย ก็ต้องงดเว้นจากสิ่งเหล่านี้
“การปลูกฝังคุณธรรมความซื่อสัตย์ สุจริต สังคมต้องขับเคลื่อนทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน โรงเรียน สังคม และสื่อซึ่งถือเป็นหน่วยที่สำคัญอย่างมาก อยากเสนอว่าสื่อซึ่งอาจจะเริ่มจากหนังสือพิมพ์หรือสื่อวิทยุ โทรทัศน์ควรมีกรอบเล็กๆ หรือรายการสั้นๆ เปิดเป็นพื้นที่ให้กับบุคคลที่กระทำความดี ซึ่งเป็นความดีเล็กๆ ที่สามารถสร้างกำลังใจ ความมั่นใจ ภาคภูมิใจให้กับลูกน้อยที่ทำดีได้อีกด้วย
ดังนั้นการสอนลูกเรื่องความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม และจิตสำนึกไม่ใช่เรื่องยากนะคะ เพียงแค่ทุกคนเริ่มต้นจากครอบครัว แค่นี้ลูกของเราก็โตมาเป็นคนซื่อสัตย์ และทำให้สังคมไทยของเราน่าอยู่อีกด้วยค่ะ
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ สอนลูกอย่างไรให้เป็นคนดี?
- 4 นักเขียนดัง ใน “นิทานคุณธรรม” ปลูกฝังความซื่อสัตย์ให้กับเด็ก
- สอนลูกเรื่องการโกหก การขโมย และความซื่อสัตย์
- แม่สุดเก่ง! ใช้ช็อกโกแลตเพียง 3 ชิ้น เปลี่ยนลูกชอบโกหก ให้เลิกโกหกได้ตลอดไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ.บุษยนาฏ เรืองรอง , www.tnews.co.th