ทุกๆ ช่วงเทศกาลไม่ว่าจะเป็นช่วงสิ้นปี หรือช่วงสงกรานต์ หลายๆ ครอบครัวก็เตรียมตัวเดินทาง เพื่อไปเฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี แต่ทุกๆ ครั้งที่มีการเฉลิมฉลอง ก็มักจะมีข่าวการเกิดอุบัติเหตุ และเสียชีวิต จึงเป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวต้องระมัดระวัง ช่วง 7 วันอันตราย ที่จะถึงนี้ค่ะ
ทุกครอบครัวระวัง! 7 วันอันตราย สงกรานต์ ปีใหม่ไทย
7 วันอันตราย คืออะไร?
คือ ช่วงที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ เกิดมากที่สุดในช่วงเวลา 7 วัน ซึ่งสาเหตุเกิดจากเป็นช่วงที่ประชาชนใช้รถใช้ถนนมากที่สุดเนื่องจากตรงกับช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวอย่าง ปีใหม่ หรือ สงกรานต์ ซึ่งตั้งแต่เมื่อปลายปี 59 ที่แล้ว จนถึง ต้นเดือน มกราคม 60 ก็เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับหลายครอบครัว จึงอยากจะฝากเตือนคุณพ่อ คุณแม่ที่จะไปเที่ยว หรือเดินทางในช่วงนี้ให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ มีสติ และไม่ประมาท โดยเฉพาะเมื่อพาลูกน้อยเดินทางไปด้วย
⇒ บทความแนะนำควรอ่าน : อุบัติเหตุฉุกเฉิน 72 ชม.รักษาฟรี! ทุกโรงพยาบาล
7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ 2560
ซึ่งในช่วงเทศกาลอย่างปีใหม่ไทยนี้ ก็ได้มีการรณรงค์เพื่อเฝ้าระวังและลดการเกิดอุบัติเหตุตั้งแต่ 22 มี.ค.-10 เม.ย. 2560 และช่วงควบคุมเข้มข้น 11-17 เม.ย. 2560 เน้นชูแคมเปญ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” ซึ่งก็อย่างที่เรารู้กันเรื่องของมาตรา 44 ที่เริ่มบังคับใช้แล้ว โดยรัฐบาลจะคุมเข้มรถโดยสารสาธารณะกำหนดความเร็วไว้ที่ไม่เกิน 90 ก.ม./ชั่วโมง และการมีน้ำใจในการขับรถให้มากขึ้นเพราะทุกคนก็อยากกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัยเหมือนกัน
ใช้มาตรการ “1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย” ในแต่ละจังหวัดเพื่อการคุมเข้มเรื่องของการใช้ความเร็วในบริเวณที่เล่นน้ำสงกรานต์ ไม่บรรทุกน้ำท้ายกระบะและยืนเล่นสงกรานต์ในท้ายกระบะ มอร์เตอร์ไซต์สวมหมวกกันน็อก และที่สำคัญที่สุดคือ “เมาไม่ขับ” นะคะ
ทั้งนี้การขับรถอย่างมีน้ำใจ และรักษาวินัยจราจร จะช่วยลดอุบัติเหตุได้ทางหนึ่ง เมื่อมีลูกน้อยเดินทางไปด้วย ควรติดตั้งคาร์ซีทให้ลูกน้อยนั่งเพื่อความปลอดภัย และโดยเฉพาะคุณพ่อ คุณแม่ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ ควรขับขี่อย่างระมัดระวัง สวมใส่หมวกนิรภัย รวมถึงไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อจำเป็นจะต้องขับรถ
อ่านต่อ >> “7 วันอันตรายช่วงเทศกาลที่ทุกครอบครัวต้องระวัง”
คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
√ ป้องกันลูกน้อย ประสบอุบัติเหตุจากรถ
รถยนต์ เป็นพาหนะที่อำนวยความสะดวกได้มากจนเราอาจลืมว่ามันมีอันตรายอะไรบ้าง แม้จะเป็นระยะทางสั้นๆ ก็อาจเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ อุบัติเหตุส่วนมากเกิดขึ้นใกล้ๆ บ้าน คุณอาจนึกว่าอุบัติเหตุร้ายแรงจะเกิดขึ้นบนท้องถนนที่รถแล่นด้วยความเร็วสูง แต่ที่จริงแล้ว อุบัติเหตุมักจะเกิดขึ้นในหมู่บ้านหรือเส้นทางที่ขับอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะขับรถไปไกลถึงต่างจังหวัด หรือขับใกล้ๆ 1-2 กิโลเมตรก็ต้องใช้ความระมัดระวังเช่นเดียวกัน
อย่าลืมรัดเข็มขัดนิรภัยให้ลูกเสมอ ไม่ว่าขับไปใกล้ไกลแค่ไหน และคุณเองก็ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาบนรถเช่นเดียวกัน เพราะลูกเรียนรู้และจดจำจากการกระทำของคุณ
รถที่อยู่นิ่งก็เป็นอันตรายได้เช่นกัน แม้รถจะไม่ได้แล่นอยู่ก็อาจทำอันตรายให้ลูกได้ เช่น
- ลูกเผลอกดปุ่มปิดหน้าต่างหนีบแขนขาตัวเอง
- ปลดเบรกมือโดยไม่ตั้งใจจนรถไหลไปชนกับสิ่งของอื่นๆ
- ปีนป่ายในรถจนแข้งขาหัก
- อยู่ในภาวะอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างกะทันหันเมื่อปล่อยให้ลูกอยู่ในรถกลางแดดจ้า
วิธีสยบลูกไม่ยอมนั่งในคาร์ซีท
หากลูกอาละวาดทุกครั้งที่คุณจับเขานั่งในคาร์ซีท คุณพ่อคุณแม่จะบังคับหรือว่ารอจนกว่าเขาจะยอมให้ความร่วมมือเอง ถ้ารอแล้วลูกยอมนั่งดีๆ ก็ควรยอมลูกไป เพราะการปล่อยให้รออาจเป็นเพียงวิธีที่ลูกใช้เพื่อประกาศความเป็นตัวของตัวเอง และบอกให้คุณรู้ว่าเขาต้องการนั่งในคาร์ซีทโดยไม่ต้องให้ใครมาบังคับ พอได้ทำตามที่ต้องการโดยที่คุณเพียงแค่ตรวจดูว่าแน่นหนาปลอดภัยดีแล้วหรือยัง เรื่องนี้ก็จะไม่เป็นปัญหาสำหรับทั้งคุณและลูกอีกต่อไป
แต่ถ้ารอแล้วก็ยังไม่ได้ผล สำหรับเด็กวัยเตาะแตะนี้ก็มักต้องการแรงจูงใจที่จะทำให้เขายอมประนีประนอมกับพ่อหรือแม่โดยไม่แผลงฤทธิ์อาละวาด ด้วยความที่เด็กๆ มักชื่นชอบการ ไปเที่ยวนอกบ้าน
วิธีที่ดีที่สุดซึ่งจะทำให้ลูกยอมนั่งในคาร์ซีท จึงอาจเป็นแค่การบอกว่า เราจะไม่ไปไหนกันจนกว่าลูกจะนั่งในคาร์ซีทเรียบร้อยแล้ว การนั่งรอในรถที่จอดอยู่หน้าบ้านและไม่ได้ติดเครื่องไว้คงเป็นเรื่อง เหลือทน สำหรับคุณด้วยเหมือนกัน แต่ตราบเท่าที่คุณยังไม่ยอมแพ้วิธีนี้ก็น่าจะได้ผลอย่างแน่นอน
และเมื่อลูกรู้ว่า คุณพ่อคุณแม่จะไม่มีวันติดเครื่องรถอย่างเด็ดขาดถ้าเขาไม่ยอมนั่งในคาร์ซีท ลูกก็อาจเลิกงอแงเรื่องนี้ แล้วหันไปสนใจเลือกซีดีให้คุณเปิดให้ฟังแทนเลยก็เป็นได้ ^^
♥ สิ่งสำคัญก็คือ ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่ในรถคนเดียวแม้สักนาทีเดียว!
ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรถก็เกิดอุบัติเหตุได้ ไม่ว่าคุณจะเคยเตือนลูกกี่ครั้งแล้วว่าให้อยู่ห่างจากถนนและรถราเอาไว้ แต่คุณก็ควรจับตาดูเขาให้ดีตลอดเวลา เพราะผลสำรวจจากหลายที่พบว่า เด็กมักจะประสบอุบัติเหตุจากการขับรถเร็วในเขตโรงเรียน หรือในเขตชุมชนค่ะ
อ่านต่อ >> “พ่อแม่ควรรู้ 4 มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาล” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
โดยทางคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้มีการปรึกษาหารือ ให้มีการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลนี้ โดยมีแผน 4 มาตรการ คือ
1.ลดปัจจัยเสี่ยงด้านคน โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น กำหนดข้อปฏิบัติร่วมกัน ตั้งด่านชุมชน จัดกิจกรรมทางศาสนา 1 อำเภอ 1 กิจกรรม รวมถึงมีการจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี
2.ลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนน มีมาตรการถนนปลอดภัย 1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย โดยองค์กรปกครองท้องถิ่น
3.ลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ ควบคุมดูแลรถสาธารณะ และรถโดยสารไม่ประจำทางให้ปลอดภัย
4.ลดปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อม โดยตรวจสอบสิ่งอันตรายข้างทาง เปิดไฟส่องสว่าง และสัญญาณไปจราจร รวมถึงจุดตัดรถไฟ
1.เมาแล้วขับ
2.ขับรถเร็ว
3.การออกใบอนุญาตขับขี่
4.การป้องกันอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ
5.การคาดเข็มขัดนิรภัย
ซึ่งจะบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุ และการเสียชีวิต ของทุกคนในครอบครัว
ทั้งนี้โดยปกติแล้วข้อมูลของ 7 วันอันตราย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในแต่ละปี เราจะได้ข้อมูลมาจาก ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) โดยในปี 2560 ทาง คปถ. ได้ออกเผยแพร่ “แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. ๒๕๖๐”
ซึ่งช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาดังนี้
7 วันอันตราย สงกรานต์ 2560
ตั้งแต่วันอังคารที่ 11 เมษายน 2560
ถึงวันจันทร์ที่ 17 เมษายน 2560
อย่างไรก็ดี ในช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทยของเรา ทาง Amarin Baby & Kids ก็ขอทุกครอบครัวเดินทางปลอดภัย ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทนะคะ
อ่านเพิ่มเติม คลิก!!
- อุบัติเหตุ รถชน จากความประมาทของผู้ปกครอง
- ลูกน้อยได้รับอันตราย เพราะนั่งคาร์ซีทผิดวิธี
- เด็กเล็กซ้อนมอเตอร์ไซค์ อันตรายกว่าที่คุณคิด
อ่านเพิ่มเติมที่ >> http://www.zcooby.com/7-day-danger-songkran-2560/
เครดิต: ไทยรัฐออนไลน์, เนชั่น, เชียงใหม่นิวส์, ZcooBy
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
Save