การที่คุณพ่อคุณแม่จะเลือกเนอสเซอรี่ให้ลูก เพื่อเตรียมตัวก่อนที่ลูกจะเข้าเรียนในชั้นปฐมวัย หรืออนุบาล ควรพิจารณาตามข้อต่างๆ ที่เรากำลังจะแนะนำเสียก่อน
เพราะการนำลูกน้อยไปฝากให้คนอื่นเลี้ยง อาจไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไหร่ เพราะถ้าศูนย์รับเลี้ยงเด็ก หรือเนอสเซอรี่นั้นมีบุคลากรพี่เลี้ยง ที่ไม่มีคุณภาพ ลูกน้อยของคุณก็อาจเปรียบเสมือนตกอยู่ในป่าใหญ่ที่เต็มไปด้วยเสือร้ายอย่างแน่นอน
พ่อแม่ต้องรู้ ข้อควรพิจารณาก่อนเลือกเนอสเซอรี่ให้ลูก
เช่นเดียวกับเหตุการณ์นี้…โดยทางบีบีซีได้รายงานถึงข่าวของศูนย์รับดูแลเด็กเล็กในนครเซี่ยงไฮ้ ที่กำลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เมื่อมีคลิปเผยถึงนาทีที่ครูพี่เลี้ยงของศูนย์ แสดงอารมณ์หงุดหงิดกระชากกระเป๋าเด็กปาไปที่พื้นและใช้กำลังผลักเด็กน้อยกระเด็น จนศีรษะไปโขกกับโต๊ะ เป็นคลิปที่มีผู้ชมจำนวนหลายสิบล้านครั้ง
นอกจากคลิปจังหวะดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกสองคลิปที่เผยให้เห็นนาทีเด็กถูกพี่เลี้ยงใช้กำลังป้อนอาหารใส่ปากจนร้องไห้ และเด็กอีกคนบอกว่าถูกป้ายหน้าจนแสบร้อน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวาซาบิ
และยังมีแม่ของเด็กอายุขวบครึ่งคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเซี่ยงไฮ้เดลี่ว่า…ลูกร้องไห้ตลอดตั้งแต่ไปเนอสเซอรี่ดังกล่าว เพราะลูกฉี่ 6 ครั้งต่อชั่วโมง ทำให้ถูกครูที่นั่นตี ทั้งยังไม่เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทัน!
โดยก่อนที่จะคลิปเผยแพร่ ก็มีผู้ปกครองไปร้องเรียนตำรวจว่าลูก ๆ มีบาดแผลและต้องการดูเทปวิดีโอของกล้องวงจรปิดในอาคาร ตอนแรกของบริษัทซีทริป ที่ตั้งของศูนย์ดังกล่าวมีท่าทางอิออด แต่ผู้ปกครองยืนกรานจะดูจนได้เห็นภาพน่าตกใจดังกล่าว
ชมคลิป >> “ครูพี่เลี้ยงทำร้ายร่างกายรังแกเด็กน้อยอย่างไร้ความปรานี” คลิกหน้า 2
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- รู้ได้อย่างไร ลูกพร้อมไปโรงเรียน
- 5 ขั้นตอนฝึกสมอง ให้ลูกพร้อมแยกจากแม่เมื่อไปโรงเรียนวันแรก
- 4 วิธีเตรียมพร้อม!! ช่วยพ่อแม่รับมือการไปโรงเรียนของลูกน้อย
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : www.khaosod.co.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก : 新京报
ทั้งนี้เด็กในศูนย์เนอสเซอรี่ดังกล่าวคาดว่ามี 25 คน อายุระหว่าง 1 ขวบครึ่ง ถึง 2 ขวบ และเหตุการณ์นี้น่าจะเกิดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เมื่อเรื่องแดงขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทางบริษัทโมเดิร์น แฟมิลี เจ้าของศูนย์ ปิดเนอสเซอรี่ดังกล่าวให้ตำรวจสอบสวน มีครู 3 คน พนักงานทำความสะอาดอีกคนถูกควบคุมตัว
ข้อควรพิจารณาก่อนพาลูกไปฝากเนอสเซอรี่
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือสถาบันพัฒนาเด็กเล็กที่ยังไม่ได้เข้าเรียน หรือที่เรียกกันว่า เนอสเซอรี่ เกิดขึ้นมากมาย และสำหรับเด็กที่อายุต่ำสุดที่เปิดรับได้จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของเนอสเซอรี่แต่ละแห่ง เกี่ยวกับเรื่องนี้แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด ได้มีข้อควรพิจารณาก่อนพาลูกไปฝากเนอสเซอรี่มาแนะนำดังนี้ค่ะ
1. ครอบครัวเดี่ยวที่พ่อแม่ทำงานนอกบ้านทั้งคู่ ในช่วงเวลาที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วย ใครเป็นผู้ดูแลลูก ไว้ใจได้หรือไม่ และผู้ดูแลเข้าใจธรรมชาติของเด็กมากน้อยแค่ไหน มีการกระตุ้นพัฒนาการหรือเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่สมวัยหรือไม่
ถ้ามีผู้ดูแลที่ดีมีคุณภาพอยู่แล้ว และลูกก็ดูมีความสุขดี ให้เขาอยู่บ้านดีที่สุด รอเข้าเรียนอนุบาลตอนอายุ 3 ขวบทีเดียวเลย เพราะโอกาสที่ลูกจะติดเชื้อโรคมีน้อยกว่า หรือหากติดเชื้อ อาการก็มักรุนแรงน้อยกว่าเด็กที่เล็กมากๆ ไม่ต้องห่วงว่าลูกจะเรียนสู้เพื่อนๆ ไม่ได้ เพราะแม้เข้าเรียนช้ากว่า แต่เมื่อวัยพร้อม เดี๋ยวเดียวก็เรียนทันกันค่ะ
2. นโยบายการดูแลลูกของผู้ดูแลไม่ตรงกับใจของพ่อแม่ เช่น ตามใจมากไป ให้กินขนมหวานทั้งวัน ให้ดูทีวีหรือเล่นเกมมากไป ครั้นพ่อแม่จะขัดแย้งหรือไม่ให้ทำ ก็อาจเกิดอาการงอนจากผู้ดูแลได้ ลูกอยู่ในวัยซน ชอบปีนป่าย วิ่งเล่นเกือบตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุหากไม่มีใครคอยประกบหรือวิ่งตาม แต่ผู้ดูแลอายุมากแล้ว เดินตามไม่ไหว หรืออาจทำให้เหนื่อยเกินจนเป็นอันตรายต่อหัวใจได้
3. บางครั้งผู้ดูแลลูกที่บ้านอาจติดธุระหรือเจ็บป่วยกะทันหัน ทำให้พ่อแม่ต้องลางานเพื่อดูแลลูกเอง แต่ถ้าเป็นสถานรับเลี้ยงเด็ก ก็คงหาคนมาแทนได้อย่างทันท่วงที
4. ในกรณีที่เป็นลูกคนเดียว ไม่มีเด็กแถวบ้านหรือญาติพี่น้องที่เป็นเด็กด้วยกันมาเล่นด้วย เด็กอาจขาดทักษะในการเล่นกับเด็กคนอื่น หรือบางคนแทบไม่เจอใครเลยในแต่ละวันนอกจากพ่อกับแม่ ทำให้กลัวคนแปลกหน้า เข้ากับคนอื่นได้ยาก ในกรณีเช่นนี้ การพาลูกไปเข้ากลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่นในหมู่บ้าน หรือสถานพัฒนาเด็กเล็ก อาจช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับผู้อื่นได้ดีขึ้น
5. อยู่บ้านแล้วสบายเกินไป มีคนทำให้ทุกอย่าง แทบไม่ต้องกระดิกตัวทำอะไรเองเลย ทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาความสามารถ บางคนจะเข้าเรียนแล้วยังกินข้าวเองไม่เป็น ใช้ห้องน้ำไม่เป็นเพราะใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปตลอดเวลา ขาดระเบียบวินัย เช่น เล่นของแล้วไม่เก็บ รอคิวไม่เป็น เด็กบางคน พ่อแม่ฝึกเองเท่าไรก็ไม่สำเร็จ แต่พอส่งไปเรียนปุ๊บทำได้เลย เพราะเกรงใจครู กลัวครูไม่รัก ซึ่งครูจะชมว่าเรียบร้อยน่ารักมากเวลาอยู่ที่โรงเรียน แต่พออยู่บ้านเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะรู้ว่าถึงอย่างไรพ่อแม่ก็รักและตามใจ
อ่านต่อ >> “ข้อควรพิจารณาก่อนพาลูกไปฝากเนอสเซอรี่” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
6. เด็กบางคนมีปัญหากินข้าวยาก ส่วนใหญ่มักเป็นกรณีลูกคนเดียว ไม่มีใครกินด้วยหรือไม่ได้กินพร้อมพ่อแม่ จึงขาดโอกาสที่จะเลียนแบบการกระทำ ใช้วิธีป้อนตลอด ล่อหลอกให้กินโดยเปิดทีวีให้ดูไปด้วย แต่หมอก็คอยห้ามว่าอย่าให้ลูกดูทีวีมาก เลยไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรให้ลูกกินเก่งขึ้น
คำแนะนำคือ พยายามลองให้กินเอง กินพร้อมหน้าพร้อมตากัน เปลี่ยนเมนูเป็นสไตล์ที่เด็กอยาก ลองให้ลูกช่วยเตรียมอาหารหรือจัดโต๊ะ จะได้รู้สึกมีส่วนร่วม และปิดทีวีซะ!
7. เด็กบางคนอาจมีพัฒนาการช้ากว่าวัยเล็กน้อย อาจเป็นเพราะขาดโอกาสในการฝึกฝน หรือไม่มีคนคอยกระตุ้นพัฒนาการ ซึ่งเด็กอาจดีขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็วถ้ามีการกระตุ้นพัฒนาการอย่างถูกวิธีโดยผู้มีความรู้ความชำนาญ
และเมื่อคุณพ่อคุณแม่ประเมินสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แล้วคิดว่าควรส่งลูกไปสถานรับเลี้ยงเด็กหรือสถาบันพัฒนาเด็กเล็ก สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจเลือก คือ
- ค่าใช้จ่าย เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว
- ที่ตั้ง ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน รับส่งและเดินทางสะดวก ลูกไม่เหนื่อยเกินไป
- นโยบาย ตรงกับความต้องการของพ่อแม่ เช่น สนับสนุนการให้นมแม่ โดยยินดีป้อนนมลูกแบบจิบดื่มจากถ้วยแทนการให้ดูดจากขวด หรือให้ผลไม้แทนขนมหวาน
- คุณภาพ สถานที่ ปลอดภัย ไม่มีประตูที่เด็กจะเดินออกไปเองตามลำพังได้ มีทางหนีไฟ ระบบตรวจจับควันไฟ การติดตั้งของเล่นมั่นคงดี มีที่จอดรถห่างจากที่เล่นของเด็ก ไม่แออัด การระบายถ่ายเทอากาศดี หากเป็นห้องแอร์ควรมีเครื่องฟอกอากาศเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะได้รับโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจควรมีห้องแยกสำหรับเด็กป่วย มีของเล่นที่หลากหลายและเหมาะกับเด็กแต่ละวัย เพื่อช่วยเสริมพัฒนาการและมีจำนวนเพียงพอ ทางโรงเรียนควรมีกล้องวงจรปิดเพื่อคอยตรวจสอบและย้อนดูเหตุการณ์ได้ในกรณีที่มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นแก่ลูก มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี
- บุคลากร – เพียงพอกับจำนวนเด็ก จะได้ดูแลเด็กอย่างทั่วถึง สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคติดต่อ ไม่มีประวัติอาชญากรรม รักเด็ก ใจเย็น มีความรู้ความชำนาญในการดูแลเด็ก ไม่เปิดทีวีให้เด็กดู ผ่านการอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีโปรแกรมฝึกพัฒนาการที่แน่นอนสำหรับเด็กแต่ละช่วงอายุ ถ้ามีใบอนุญาตจัดตั้งสถานประกอบการและหลักสูตรที่มีมาตรฐานด้วยก็ยิ่งดี
- ระบบการดูแลสุขภาพเด็ก – มีห้องแยกเด็กป่วย หรือไม่ให้มาเรียนจนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ มีการสังเกตอาการเจ็บป่วยของเด็ก จะได้รีบแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด และรีบโทรศัพท์ตามผู้ปกครองมารับเด็กกลับบ้านหรือพาไปตรวจที่โรงพยาบาล
- ส่วนในกรณีที่เด็กป่วยแบบเฉียบพลัน และจำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาทันที ทางโรงเรียนควรมีระบบการนำส่งให้เด็กได้รับการตรวจได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผู้ปกครอง เพราะอาจไม่ทันกาล เน้นเรื่องการล้างมือบ่อยๆ โดยมีก๊อกน้ำให้อย่างเพียงพอ หรือมีแอลกอฮอล์เหลวหรือแอลกอฮอล์เจลเอาไว้ถูมือก่อนจะเตรียมอาหารให้เด็ก และหลังเปลี่ยนผ้าอ้อม เช็ดน้ำมูก น้ำลาย หรืออาเจียนของเด็ก รวมทั้งหลังการอุ้มหรือสัมผัสเด็กแต่ละคน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
- นอกจากนี้ต้องมีห้องเตรียมอาหารที่ถูกสุขลักษณะ จัดอาหารและของว่างถูกต้องตามหลักโภชนาการและน่าหม่ำ มีสุขอนามัยเรื่องการใช้ส้วมและกำจัดสิ่งปฏิกูล มีการแยกข้าวของเครื่องใช้ของเด็กแต่ละคนไม่ให้ปะปนกัน มีการทำความสะอาดห้องเรียน อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้และของเล่นเป็นประจำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ มีเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินของโรงพยาบาล สถานีตำรวจ และสถานีดับเพลิงในที่ที่เห็นได้ง่าย
หลังเลือกเนอสเซอรี่ให้ลูก และส่งลูกไป (โรงเรียน) จากเราเมื่อไร?
อย่างไรก็ดี นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ยังได้กล่าวอีกว่า เป็นที่เข้าใจได้ว่าเราต้านกระแสสังคมได้ยาก เพราะมีคุณพ่อคุณแม่จำนวนมากส่งลูกไปสถานรับเลี้ยงเด็กเร็วมาก บ้างส่งลูกไปโรงเรียนอนุบาลเร็วมาก อีกทั้งได้ยินเรื่องการกวดวิชาเพื่อเข้าเรียนชั้นอนุบาลและการสร้างห้องอัจฉริยะสำหรับเด็กอนุบาล จะเป็นอย่างไรก็ตามหากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจพัฒนาการของเด็กเล็กไว้บ้างก็สามารถผ่อนหนักเป็นเบาหรือช่วยทุเลาความเสียหายได้บ้าง
สำหรับคนที่ไม่ชอบวิชาการ ก็ไม่จำเป็นต้องรู้อะไรมาก เกิดเป็นพ่อแม่ให้เวลาเขามากที่สุด เล่นกับเขามากที่สุด และอ่านหนังสือให้เขาฟังก่อนเข้านอนตั้งแต่แรกเกิด ทำเท่านี้ทุกอย่างจะดีเอง
เหตุผลที่ไม่ควรให้ลูกไปจากพ่อแม่ก่อน 3 ขวบเพราะ 3 ขวบปีแรกเขามีภารกิจที่ต้องทำหลายข้อ แต่ละข้อนั้นอาศัยคุณแม่และ/หรือคุณพ่อ หรือผู้ใหญ่ที่อุทิศตนหนึ่งคนทำหน้าที่ช่วยเหลือเขา ภารกิจเหล่านี้เขาทำเองไม่ได้และคุณครูที่โรงเรียนก็ช่วยไม่ได้
ซึ่งในทางปฏิบัติ ช่วง 4-5 ขวบเป็นเวลาที่เด็กจะได้ฝึกช่วยตนเองอย่างจริงจัง กินข้าว แปรงฟัน แต่งตัว ฝึกทำงานบ้านส่วนที่เป็นเรื่องของตัวเอง เก็บที่นอน เทกระโถน เก็บจานของตนเอง ฝึกทำงานบ้านส่วนที่เป็นของสาธารณะ ช่วยกวาดบ้านถูบ้าน ล้างถ้วยล้างจาน ซักผ้าตากผ้า และฝึกทำตามกติกาสังคมนอกบ้าน รู้จักรอคอย รู้จักเข้าคิว รู้จักแบ่งปัน เรื่องเหล่านี้ที่จริงแล้วเราควรทำมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เขาใช้มือใช้เท้าได้ดี และเข้มข้นขึ้นทุกปีที่ผ่านไป ผลลัพธ์สุดท้ายที่เราจะได้คือเขาภูมิใจที่ช่วยตนเองและควบคุมอารมณ์ตนเองได้ นี่จึงเป็นความพร้อมที่แท้ก่อนไปโรงเรียน
ส่วนในทางทฤษฎี เด็กๆ จะพร้อมปะทะมนุษย์คนอื่นได้อย่างดี คือ เพื่อน ๆ ที่โรงเรียน เมื่ออายุมากกว่า 6 ขวบขึ้นไป เรียนรู้วิธีปะทะสังสรรค์ ทะเลาะเบาะแว้งตบตี และคืนดีช่วยเหลือกันและกัน ธรรมชาติของพัฒนาการจะเป็นผู้ดูแลพฤติกรรมเหล่านี้ให้เองเพราะเด็กๆ อยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอยู่แล้ว ส่งไปโรงเรียนเร็วเกินไปเขาทำเรื่องพวกนี้ไม่เป็น เกิดปัญหาอารมณ์แทรกซ้อนเสียเปล่าๆ
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- 7 ทักษะฝึกลูกก่อนถึง เกณฑ์อายุเข้าอนุบาล 3 ขวบ
- 30 คำถามหลังเลิกเรียน ไขปริศนาปัญหาที่โรงเรียนลูก
- คำถามที่ควรถาม หลังลูกกลับจากโรงเรียน
ขอบคุณเนื้อจาก : แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด และ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
บทความโดยกองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids