AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เพจสมุดบันทึกเด็กหญิงเรไรรายวัน ใสใสวัยน่ารัก

กดไลค์กันหรือยัง เพจเด็กหญิงเรไรรายวัน

คนสมัยก่อนนิยมปลูกฝังลูกหลานให้ร่ำเรียน เขียนอ่านกันที่บ้าน แต่สมัยนี้เรากลับเห็นเด็กอยู่กับจอ เล่นแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนในสัดส่วนที่มากกว่า .. มาอ่านบันทึกน่ารักของเด็กหญิงเรไรรายวัน แล้วจะรู้ว่าการเขียนบันทึก ส่งเสริมความคิดและสติปัญญาอย่างไร

 

 

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นคนแก่ แม้กระทั่งเด็ก


“อายุ 7 ขวบ ฉันกลายเป็นคนแก่ไปแล้ว ฉันมีไข้ 38.4 มีน้ำมูกและหนาว พ่อกับแม่พาไปหาหมอ หมอดูที่กระดาษ หมอบอกไม่เจอตั้งนานกี่ขวบแล้ว พ่อบอก 7 หมอบอกแก่แล้วนะ ใครๆ ก็ไม่ชอบคำว่าคนแก่ ฉันเคยเรียกยายนาว่าคนแก่ แต่ยายไม่ชอบ ยายให้เรียกว่าคนมีอายุ ฉันไม่แก่ โลกนี้ไม่มีคนแก่อีกต่อไป” พี่ก็ไม่ชอบให้ใครมาเรียกว่าเป็นคนแก่เหมือนกัน

 

เขียนเรื่องคนแปลกหน้า แสดงให้เห็นการปลูกฝังที่ดีจากทางบ้าน

“คนที่เราไม่รู้จักคือคนแปลกหน้า ฉันรู้เรื่องคนแปลกหน้าจากโรงเรียน คุณยายชอบบอกให้ระวังเหมือนกันฉันเห็นคนแปลกห้ามี 3 แบบ หน้ายิ้ม โกรด เฉยๆ เด็กที่ชอบคนยิ้มๆ อาดถูกหลอก ฉันไม่ยิ้มกับคนแปลกหน้าทุกแบบ” ดีแล้วจ้า จะได้ปลอดภัย

 

น้องแฝดกลายเป็นยุงลายไปเสียแล้ว

“น้องแฝดของฉันเป็นพวกกับยุงลาย เที่ยวกัดคนในบ้านจนเลือดออกของแม่ที่แขน ของยายมากกว่า มี 6 แผล ฉันนับดูแล้วมีหัวไหล่ขวา หัวไหล่ซ้าย และหน้าอก ตอนนี้น้องน่ากลัวมากเลย มีฟันเยอะ ฟันน้องคม ถ้ายุงมากัดเราตบ แต่เป็นน้องเราไม่ตบ” รู้ด้วยว่าตบน้องไม่ได้นะจ๊ะ

 

 

น้องเรไรรายวัน ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร เที่ยวชมศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ

ประโยชน์ของการเขียนบันทึก

  1. ฝึกพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ ในส่วนต้นแขน
    2. เพิ่มทักษะการทำงานอย่างประสานกันระหว่างสายตาและกล้ามเนื้อมือ
    3. เสริมสร้างความคิด จินตนาการ
    4. สร้างสมาธิ
    5. เพิ่มทักษะการสื่อสาร

 

เด็กหญิงเรไรรายวัน เป็นนามปากกาของเด็กหญิงเรไร สุวีรานนท์ ชื่อเล่นว่าน้องต้นหลิว เริ่มจดบันทึกจากคำแนะนำของคุณแม่ที่สนใจพาน้องเข้าร่วมโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ โดยส่งรายชื่อร่วมกับเพื่อนคนอื่นให้ห้องและได้รับสมุด โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องจดบันทึกทุกวัน

คุณแม่ ชนิดา สุวีรานนท์ เล่าว่า “เริ่มแรกเลยในเด็กเล็กถ้าปล่อยให้เขาเขียน เขาไม่เขียนเอง เขาก็จะเล่ามากกว่า เรื่องที่น้องเอามาเขียนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องในบ้าน ช่วงนี้เขาสนุกอยู่กับเรื่องของน้องแฝด และที่บ้านมีคุณตาคุณยายที่มีเรื่องสนุกมาเล่าให้เขาฟัง ทำให้มีเรื่องราวหลากหลายมาเล่าให้แม่ฟัง และสุดท้ายเขาจะสวมบทบาทสมมติเป็นคุณครู ให้คุณแม่เลือกว่าจะให้เขาเขียนเรื่องไหน ถ้าแม่เลือกอะไรไป เขาจะไปเลือกอีกเรื่องหนึ่งเสมอ”

แม่จะบอกเสมอว่าให้เขียนสิ่งที่อยู่ในหัว เขียนผิดเขียนถูกไม่เป็นไร ไม่ต้องกังวล

ในช่วง 37 วันแรก มีคนถามแม่ว่า สอนเขาอย่างไร เราดึงสิ่งที่เขาชอบ และหาแรงผลักมา Drive ให้เขาสนใจ น้องต้นหลิวเขาเห็นแม่เป็น Hero เพราะแม่ขับรถได้ แม่ก็จะบอกว่า ให้ต้นหลิวกินนมเยอะๆ ขาจะได้ยาวๆ โตขึ้นจะได้ขับรถได้ แต่การขับรถเราต้องคิดว่า เราจะขับไปไหน

ขึ้นต้นประโยคเหมือนสตาร์ทรถ

การเขียนก็เหมือนกับการขับรถ ว่าเราจะขับไปที่ไหน ดินสอก็เหมือนกับกุญแจ ที่เสียบแล้วสตาร์ทรถ เพราะฉะนั้นประโยคแรกในการเขียนนั้นสำคัญ

เขียนให้เป็นเรื่องสนุก

100 วันขึ้นไป เขาจะชินกับการเริ่มเขียน บางทีเขาคิดประโยคจบได้ก่อนประโยคก่อนด้วยซ้ำ แต่การเขียนของเขาจะไม่ได้เสร็จใน 5 – 10 นาที บางทีเป็นชั่วโมง เพราะระหว่างนั้นเขาจะมีเรื่องเล่าของเขา หรืออยากทำอย่างอื่น เวลาแม่อยู่กับเขาก็จะทำให้เป็นเรื่องสนุก ให้เขารู้สึกว่าไม่ใช่งาน มีเวลากับตรงนี้พอสมควร

อ่านทวน ฝึกคิดอย่างเป็นระบบ

พอ 7 ขวบ เขาเริ่มอ่านหนังสือเก่งขึ้นแล้ว เขาจะเริ่มอ่านได้เป็นประโยค เชื่อมประโยคได้ ก่อนเขาเขียนประโยคต่อไปเขาจะกลับไปอ่านประโยคแรก แล้วจะรู้ว่า “และ” กับ “แต่” ใช้อย่างไร เรื่องไวยากรณ์และคำศัพท์ก็จะตามมา ในช่วงสอบก็จะมีสอบศัพท์ยาก เขาจะได้รู้ว่าคำไหนที่เคยเขียนผิด เขาก็จะกลับมาแก้เอง โดยที่แม่ได้บอกให้เขาแก้เดี๋ยวนั้น”

 

ณ วันนี้ น้องเขียนมาได้ 135 วันแล้ว และมีหลายคนถามไปถึงคุณแม่ว่ามีวิธีการสอนน้องอย่างไร วันนี้เรานำวิธีของคุณแม่ ที่เคยโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวมาฝากกันค่ะ

“วันที่ 37 ของเรไรรายวัน

 

มีหลายคนถามว่าแม่ทำได้ยังไง ให้ลูกเขียนบันทึกทุกวัน มีเคล็ดลับอะไร เก่งจัง ขอแชร์ 3 คำนะคะ “ลง-มือ-เขียน”

 

 

ช่วงต้น:

 

ดูเหมือนแม่ต้องใช้ลูกล่อลูกชนมากๆ ทำตัวเหมือนเป็นร่างเดียวกัน

ช่วยคิดเรื่อง ช่วยสะกด ช่วยลบ และคอยป้อยอ (สำคัญมากๆ) ยกเว้นช่วยเขียน

 

ผ่านไปสักระยะ:

 

ปล่อยให้ลูกคิดเองว่าจะเขียนอะไร แค่กระตุ้นถามว่า มีอะไรน่าสนุกบ้างในวันนี้ของเขา แล้วให้ลูกเล่าปากเปล่าออกมาเป็นฉากๆ ก่อนลงมือเขียน จากนั้นแม่ก็คอยโยนหินถามทาง เช่น แล้วไงต่อ เล่าให้ชัดกว่านี้ได้ไหม ในขั้นนี้ขยับจากการช่วยสะกดทั้งคำ มาเป็นสะกดคำให้ลูกเลือกใช้ว่าถ้าออกเสียงแบบนี้น่าจะใช้พยัญชนะ สระ หรือวรรณยุกต์ตัวไหน (ประมาณมี ก. ข. ค. ให้เลือกกา) ถ้าลูกเลือกผิดก็จะสะกดเน้นๆ ซ้ำไปมา (ทำเสียงตลกๆ เว่อร์ๆ) เพื่อบอกใบ้ว่าไอ้ที่เค้าเลือกนะไม่ถูก และก็ยังคงป้อยออย่างต่อนื่อง

 

เริ่มเข้าสัปดาห์ที่ 4:

 

ลูกจะบอกเองว่า แม่ๆ วันนี้หนูจะเขียนเรื่องนี้นะ พร้อมเล่าออกมาปากเปล่าก่อนเหมือนเดิม แต่ดูมั่นใจและลื่นไหลขึ้น ตอนนี้แม่หยุดถามนู่นนี่ เพียงแค่นั่งข้างๆ และรับฟัง พร้อมป้อยอมากกว่าเดิม ลูกลงมือเขียน จะเงยหน้ามองแม่เมื่อเขียนคำยาก

ตามความคิดออกมาไม่ได้ จุดนี้คงต้องช่วยกันไป

อีกสักพักใหญ่จนกว่าจะมีความชำนาญ แต่ไม่ต้องเน้นเรื่องตัวสะกดมากน่าจะดีกว่า

 

 

เด็กๆ มีความคิดอ่าน แต่ยังไม่สามารถเรียบเรียง และสื่อออกมาได้ชัดเจนดังใจนึก การเป็นนักเขียนสำหรับน้อยคน คือ พรสวรรค์ ส่วนตัวแล้วเชื่อใน พรแสวง ด้วย ยิ่งในเรไรแล้ว การฝึกฝน วินัยในการเขียน และได้รับการชี้แนะ

จากผู้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง น่าจะช่วยให้เค้าสามารถ

พัฒนาการเขียนได้ระดับหนึ่ง”

 

ใครที่ยังไม่ได้สอนให้ลูกหัดเขียน เริ่มต้นวันนี้ก็ไม่สายเกินไปนะคะ มองหาสมุดเปล่าเขียนง่าย ๆ และอาจลองนำวิธีของคุณแม่ชนิดามาใช้ดูก็ไม่สงวนสิขสิทธิ์ค่ะ ถ้าหลงรักเด็กหญิงคนนี้เข้าแล้ว กดไลค์ได้ที่ 000314: เรไรรายวัน