AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา สะเทือนการศึกษาไทยที่ตกต่ำ

เรื่องราวจากเพจเฟสบุ๊ค อาจารย์วิทยา ถิฐาพันธ์ นายแพทย์ชื่อดัง ในฐานะพ่อลูก 2 ที่เปรียบเทียบระบบการศึกษาเป็นดั่งนาผืนน้อย และลูกสาวเปรียบเหมือนข้าวที่ปลูกขึ้นยาก เพราะไม่ประสบความสำเร็จด้าน “การศึกษาไทย” หลังจากส่งลูกสาวไปเรียนญี่ปุ่นพบว่าลูกเรียนเก่งขึ้น

พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา

แชร์เรื่องสะท้อนการศึกษาไทย

3 เมษายน พ.ศ. 2559 ผมและภรรยาเดินทางไปสนามบินสุวรรณภุมิเพื่อส่งลูกสาวคนโตกลับไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เคยไปส่งหลายครั้งแล้ว หวังว่าอีกไม่นานเราก็จะไม่ต้องพบกับสภาพ “พานพบเพื่อพลัดพราก จำใจจากเพื่อรอเจอ” กันอีกแล้ว

ผมมีลูกสาวสองคน ลูกคนโตของผมเป็นคนที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการเรียนในระบบของประเทศไทยสักเท่าไร เพราะผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์แค่เอาตัวรอดได้เท่านั้น ไม่เคยได้เกรด 4 ทุกวิชา ไม่ใช่นักเรียนชั้นแนวหน้าของห้องเรียน ยิ่งถ้าพูดลงลึกเข้าไปอีก ต้องบอกว่าพระเจ้าไม่ได้สร้างสมองมาเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้กับเธอเลย เพราะผลการเรียนทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เธอแย่มาก ทุกครั้งที่สอบวิชาเหล่านี้ พ่อแม่ต้องลุ้นระทึกเสมอ

แต่เพราะผมและภรรยาช่วยกันเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง ไม่ฝากใครเลี้ยง ไม่มีพี่เลี้ยงเด็ก ผมดูลูกอย่างใกล้ชิดมาตลอด ผมสังเกตว่า ลูกสาวคนโตของผมเป็นคนช่างซัก ช่างถาม ช่างสงสัยตั้งแต่เด็ก เช่น ทำไมเราต้องเรียนเรื่องร้อยละ ทำไมเรียนแค่บวก ลบ คูณ หาร ไม่ได้หรือ ทำไมต้องเรียนเรื่องเลขยกกำลัง ทำไมต้องเรียนถอดสมการที่ยุ่งยาก ทำไมนิวตันต้องสร้างกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ที่ยุ่งยากและจับต้องไม่ได้ให้เธอเรียน แต่ทุกคำถามของเธอ ไม่เคยมีใครให้คำตอบที่ถูกใจเธอเลย ส่วนมากของคำตอบจากครูบาอาจารย์และสารพัดผู้รู้ในประเทศนี้ ก็คือ เรียนๆ ไปแล้วก็จะเห็นประโยชน์เอง

ผมมีความรู้สึกลึกๆ แต่ไม่กล้าบอกใครว่า ลูกสาวคนโตของผมน่าจะเป็นเด็กเก่งอยู่เหมือนกัน แต่ในแนวที่ไม่ค่อยจะเหมือนเด็กเก่งที่พบกันดาษดื่นในประเทศไทย และเชื่อว่าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในเมืองไทยดูลูกผมไม่ออก บอกไม่ได้ และหาโรงเรียนที่เหมาะกับลูกผมยาก

ภายหลังจบปริญญาตรีที่จุฬาฯ ผมเสนอเชิงขอร้องให้เธอไปเรียนปริญญาโทต่อที่ต่างประเทศจะในสาขาวิชาอะไรก็ได้ และในมหาวิทยาลัยอะไรก็ได้ โดยหวังเพียงให้เธอได้ไปเรียนรู้วิธีคิดที่ดีกว่าในบ้านเรา เธอตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Keio University ประเทศญี่ปุ่นในสาขา Innovative Design เพราะถูกจริตและมีเนื้อหาวิชาให้คิดสิ่งใหม่ๆ มากมาย

เกือบสองปีแล้วที่เธอไปอยู่ญี่ปุ่นกับการเรียนในแบบที่เธอชอบ คือ การมีโอกาสได้แสดงความคิด ความสามารถ ให้คนอื่นรับรู้ ไม่ต้องนั่งท่องจำ หรือทำข้อสอบประเภทต้องเลือกข้อที่ถูกตามความเห็นของคนออกข้อสอบ ผลการเรียนของเธอดีกว่าในเมืองไทยอย่างชัดเจน การมองชีวิต สังคม และโลก ของเธอเปลี่ยนไปมาก เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผลการเรียนของเธออยู่ในเกณฑ์ดีมากประมาณ 3.9-4.0 ทุกเทอม แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมฝันอยากได้ ที่อยากได้และผมได้แล้วก็คือ ลูกผมเข้าใจแล้วว่า ประเทศญี่ปุ่นมีความเจริญกว่าไทยในทุกด้านอย่างเทียบกันไม่ได้เลย และสิ่งสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนั้นก็เพราะ “ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่เคยหยุดนิ่งทางความคิด” ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่เข้าใจเลยว่า “ความคิด”คืออะไร

ผมเคยคิดว่าลูกสาวผมเป็นข้าวพันธ์ไม่ค่อยดีปลูกขึ้นยาก แต่เมื่อเปลี่ยนให้ไปเรียนที่ญี่ปุ่นจึงทำให้ผมได้รับรู้ว่าผมเข้าใจผิดมาตลอด

“ลูกเป็นข้าวพันธุ์ดี แต่นาที่บ้านเมืองเราแห้งแล้งเกินไป เลยปลูกอะไรไม่ค่อยขึ้น และนี่คือความจำเป็นที่ลูกต้องมาเรียนไกลบ้านซึ่งมีที่นาดีกว่าเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าข้าวของพ่อเป็นข้าวพันธุ์ดี ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่พ่อเคยฝังไว้ในความคิดและความจำมาตลอดเวลา ขอโทษนะลูก ”

_____________________________________________

ถ้าเรียนได้ เกรดสี่ วิถีไทย

ถ้ามุ่งมั่น ตั้งใจ ทำตามสอน

ถ้าเลียนแบบ ทำตาม ทุกขั้นตอน

จงว่านอน สอนง่าย ที่ไทยเทอญ

แต่ถ้าคุณ คิดแปลก และแตกต่าง

และมุ่งมั่น ทำอย่าง ที่ใฝ่ฝัน

อย่ารอช้า รีบมา ญี่ปุ่นพลัน

เพื่อรวมฝัน กับความจริง เป็นสิ่งเดียว

“พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา” สะท้อนการศึกษาไทย

อันเนื่องมาจาก…..พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา

ภายหลังจากที่ผมเขียนบทความเรื่อง “พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา” ขึ้นบน facebook ของผมตั้งแต่ประมาณ 4 โมงเย็นของเมื่อวาน พบว่า ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ มีผู้สนใจเข้ามาอ่านมากมายสองล้านกว่าคนแล้ว รวมทั้งผู้ที่มาเขียน comment ก็มากมายเช่นเดียวกัน แถมยังได้ทั้งดอกไม้และก้อนหินก้อนกรวดจากสารพัด comment ด้วย ซึ่งผมก็ขอน้อมรับไว้เพื่อการเรียนรู้ทั้งหมดครับ อย่างไรก็ตามต้องขอเรียนว่า ผมมีโอกาสอ่าน comment ที่เขียนมาเพียงบางส่วนเพราะมากมายเหลือเกิน

ภายหลังอ่าน ผมอยากจะขอบอกเล่าสิ่งในใจบางอย่างให้ทุกท่านได้เข้าใจเจตนาในการเขียนของผมเพิ่มเติมจากที่เขียนไปในบทความข้างต้น

เนื่องจากผมเป็นทั้งแพทย์และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย มีโอกาสสอนนักศึกษาแพทย์มานับพันคนแล้ว และเช่นเดียวกันกับที่ผมมีโอกาสได้ให้การดูแลรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วยมาก็มากมาย ประสบการณ์ทั้งจากการเป็นแพทย์และเป็นอาจารย์ทำให้ผมได้รับรู้รับทราบชีวิต ความสุข ความทุกข์ ความเศร้า และความสวยงามของชีวิต ของผู้คนมากมาย ซึ่งผมคิดว่าข้อมูลเหล่านี้น่าจะมีประโยชน์กับผู้อื่นด้วย จึงได้ขออนุญาตบุคคลที่เกี่ยวข้องในการนำมาเรื่องราวเขียนเป็นบทความขึ้น facebook เพื่อให้เพื่อนสนิท มิตรสหาย ลูกศิษย์ และผู้สนใจท่านอื่นได้มีโอกาสได้รับรู้และนำไปเป็นข้อคิดในชีวิตต่อเนื่องกันมาประมาณ 2 ปีแล้ว

สำหรับบทความเรื่อง “พ่อขอโทษที่ปลูกข้าวผิดนา” ความจริงผมใช้เวลาในการเขียนบทความนี้แค่ 40 นาทีเท่านั้นเอง แต่ไปเสียเวลาแต่งโคลงกลอนอีกเกือบชั่วโมงโดยหวังจะใช้ประกอบให้บทความให้น่าอ่านขึ้นแต่หลายคนอ่านแล้วไม่คิดเช่นนั้น

ที่ผมเขียนครั้งนี้ความจริงผมต้องการจะเน้นถ้อยคำสำคัญเพียงแค่ว่า “สำหรับคนที่เป็นพ่อแม่คน การมองลูกให้ออกว่าเขาเป็นคนอย่างไร และมองลูกให้ถูกตามที่เขาควรจะเป็น แล้วส่งเสริมให้เขาได้มีโอกาสมุ่งสู่ความฝันตามที่เขาต้องการเพื่ออนาคตและความสุขของเขาเองไม่ใช่ของพ่อแม่ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนควรกระทำ” เรื่องก็มีเท่านี้เองแหละครับ

เผอิญเรื่องที่ผมเขียนครั้งนี้เป็นเรื่องในครอบครัวของผม และเผอิญเช่นกันที่ลูกผมเลือกที่จะไปเรียนวิชาที่ตัวเองชอบที่ญี่ปุ่นเพราะที่เมืองไทยไม่มีเรียนวิชานี้กันจริงจังแบบญี่ปุ่น สำหรับตัวผมเองมีหน้าที่ส่งเสียลูกให้ไปเรียนเท่านั้นไม่ได้บ้าคลั่งญี่ปุ่นหรือประเทศอะไรอย่างที่หลายคน comment มาแม้แต่น้อย ที่ลูกผมสอบเข้า Keio ได้ เพราะวิธีการคัดเลือกนักเรียนของเขาไม่เหมือนไทย เขาใช้สอบสัมภาษณ์เพียงแค่ชั่วโมงเดียวเพื่อดูว่าเรามีความคิดความฝันอะไร แล้วตัดสินเลยว่าจะรับหรือไม่รับ ไม่ดูผลการเรียนปริญญาตรีเลย เอาแค่ได้ปริญญาก็พอ ถ้าดูคะแนนด้วยลูกผมคงไม่ได้เรียนหรอกเพราะต้องลุ้นจนเทอมสุดท้ายจึงได้เกรดรวมแค่ 3.0… นิดๆ ในขณะที่เพื่อนฝูงได้เกียรตินิยมมากมายไม่รู้กี่คน แต่แน่นอนว่าลูกผมต้องเรียนรู้ที่จะสอบเข้าด้วยวิธีนี้ให้ได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยในไทยก็ไม่เคยสอนเช่นกัน

ภายหลังนำเสนอบทความขึ้น facebook ไปตั้งแต่เมื่อวาน ผมก็ตกใจเหมือนกันว่าทำไมคนเข้ามาอ่านมากมายขนาดนั้น และ comment ก็มีทั้งแบบนิ่มนวลและดุเดือดเลือดพล่าน

ผมต้องขออภัยถ้าบทความของผมจะแสลงตาแสลงใจคนบางคนโดยไม่เจตนา ทำให้มี comment ออกมานอกเรื่องนอกประเด็นที่ผมเขียนจนไปไกลสุดกู่ ผมคงไม่มาแก้ตัวและตอบคำถามอะไรใครทั้งนั้น ความคิดความอ่านทุกอย่างที่ได้จากการบทความของผมขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้อ่านทุกท่านจะตัดสินเองครับ แต่อยากฝากข้อคิดเพียงเล็กน้อยว่า คนเราคิดไม่เหมือนกันได้ แต่ไม่ควรจะก้าวร้าวใส่กัน หรือ ด่วนสรุปเรื่องราวว่าใครดีใครเลวเพียงแค่อ่านความคิดเห็นของคนที่ยังไม่เคยรู้จักกันและผ่านตาเพียงบทความสั้นๆ มันทำให้สังคมโหดร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

ผมได้เรียนรู้มากมายทีเดียวในการเขียนบทความนี้ ทั้งที่เขียนด้วยใจบริสุทธิ์ ง่ายๆ ตามความจริงที่มันเป็นไป แต่อาจจะเป็นเพราะเขียนสั้นเกินไป รายละเอียดไม่มากพอ ทำให้หลายคนมองบทความของผมเป็น “บทความของชนชั้น” ซึ่งไปกระตุ้น ต่อม ปม หรือความรู้สึกที่ซ่อนลึกในใจของบางคนออกมา และแสดงความคิดเห็นรวมทั้งจินตนาการออกมาจนเกินเลยออกไปจากขอบเขตของเนื้อหาที่ผมเขียน ผมจึงอยากจะขอโทษเป็นอย่างยิ่งมา ณ ที่นี้ด้วยสำหรับทุกท่านที่จิตอักเสบจากบทความของผม

ผมมีลูกศิษย์เป็นแพทย์มากมาย มีมิตรสหายที่เคยเป็นคนไข้ก็ไม่น้อย ผมรักเมืองไทย ผมคิดว่าผมได้แทนคุณบ้านเมืองแล้วโดยตั้งใจเป็นแพทย์ที่ดีของคนไข้ เป็นครูแพทย์ที่ดีของลูกศิษย์มาโดยตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี แล้ว ลูกผมไปญี่ปุ่นเพียงแค่ไปเรียนวิชาครับ ไม่ได้เพ้อคลั่งหรืออยากอยู่ที่ญี่ปุ่นอย่างไร้สติหรอกครับ และเมื่อเรียนจบก็จะกลับมาอยู่เมืองไทยแน่นอน

ผมอยากจะฝากข้อคิดไว้สักนิดก็คือ ผมยังคิดว่าบ้านเรามีปัญหาทางการศึกษามากมาย และก็ล้าหลังประเทศอื่นๆอีกมากเช่นกัน ถ้าทุกคนยอมรับความจริงนี้แม้ว่าจะเป็นความจริงที่ขมขื่น แล้วคิดช่วยกันแก้ น่าจะดีกว่าการแสดงความโกรธเกลียดคนที่พูดความจริง แล้วทำให้บ้านเมืองหยุดนิ่งหรือถอยหลังอย่างที่เป็นอยู่นะครับ

เคตดิต: เพจเฟสบุ๊ค อาจารย์วิทยา ถิฐาพันธ์