คุณพ่อ คุณแม่ ที่มีลูกน้อยเป็นโรคไตคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า อาหาร หรือผักผลไม้อะไรบ้างที่ลูกสามารถรับประทานได้ และรับประทานไม่ได้ Amarin Baby and Kids จึงขอทบทวนความรู้ และแนะนำความรู้ดีๆ สำหรับ ผลไม้ โรคไต อะไรบ้างที่ห้ามรับประทาน และอะไรบ้างที่รับประทานได้มาฝากค่ะ
ผลไม้ โรคไต เลือกกินเลี่ยงป่วย
โรคไต เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานที่ไตผิดปกติ ทำให้ไตไม่สามารถกำจัดของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการออกไปได้อย่างเต็มที่ ทำให้การทำงานของเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะต่างๆ ในร่างกายผิดปกติไปด้วย ซึ่งโรคนี้เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยทั่วไปเกิดจากการเป็นโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน และโรคหัวใจ เป็นต้น นอกจากนี้ อาจเกิดจากการที่ไตขาดเลือดมาก ไตได้รับอุบัติเหตุ หรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด รวมไปถึง การรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงมากเกินไป หากรับประทานสะสมติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจจะทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นได้
ผลไม้ โรคไต กับสารอาหารที่มีผลต่อไต
ผู้ป่วยโรคไต ควรหลีกเลี่ยงและจำกัดอาหารบางชนิด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาด้านสุขภาพ ที่อาจสะสมอยู่ในร่างกาย โดยสารอาหารที่มีผลต่อไต ได้แก่
1.โซเดียม
ร่างกายต้องการโซเดียมในปริมาณน้อย เพื่อควบคุมความดันโลหิต เมื่อเป็นโรคไต ร่างกายจะไม่สามารถกำจัดโซเดียมส่วนเกินออกไปได้ ทำให้เกิดน้ำคั่ง และมีอาการบวม ความดันโลหิตสูง น้ำท่วมปอด และอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ปลาเค็ม แฮม เบคอน ไส้กรอก อาหารดอง ขนมขบเคี้ยว เนยแข็ง
2.โพแทสเซียม
เป็นเกลือแร่ที่ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อ และระบบประสาทให้ทำงานไปได้อย่างปกติ เมื่อไตทำงานลดลง การขับโพแทสเซียมทางปัสสาวะจะลดลง ทำให้เกิดการสะสมโพแทสเซียม หากมีมากขึ้นจะทำให้เริ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว หรือใจเต้นผิดปกติ สำหรับผู้ป่วยโรคไตระยะเริ่มต้นและปานกลาง ซึ่งยังขับถ่ายของเสียได้ดี ระดับโพแทสเซียมในเลือดจะยังไม่สูงมาก สามารถรับประทานผักผลไม้ได้โดยไม่จำกัด แต่หากเป็นโรคไตระยะสุดท้ายที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงกว่า 5 มก./ดล. ควรควบคุมผักผลไม้ โดยเลือกรับประทานผัก ผลไม้ โรคไต ที่มีโพแทสเซียมต่ำได้วันละ 1-2 ครั้ง เช่น กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ แตงกวา ผักกาดหอม ถั่วงอก องุ่น สับปะรด เป็นต้น
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ผลไม้แห้งทุกชนิด ทุเรียนบางสายพันธุ์ มะขาม แคนตาลูป น้ำลูกยอ มะเขือเทศ ผักใบเขียว หัวผักกาด กล้วย ส้ม มะละกอ ขนุน เป็นต้น
3.ฟอสฟอรัส
เมื่อไตวาย ร่างกายจะมีปัญหาการดูดซึมแคลเซียม และการกำจัดฟอสฟอรัสจะทำให้ร่างกายได้รัยแคลเซียมน้อย และมีฟอสฟอรัสในเลือดมากจนเกินไป
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ รำข้าว เนยแข็ง นมและผลิตภัณฑ์จากนม นมข้นหวาน ไข่ปลา ไข่แดง กุ้ง ปู ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ผงฟู ถั่วเมล็ดแห้ง น้ำอัดลมสีดำ เป็นต้น
4.โปรตีน
ผู้ป่วยโรคไตยังคงต้องการสารอาหารจากโปรตีน แต่ควรจำกัดปริมาณอาหารที่มีโปรตีนสูง ทั้งจากพืชและเนื้อสัตว์ไม่ให้มากจนเกินไป เพื่อป้องกันการลดการทำงานของไต
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลมาก เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ หนังหมู หนังเป็ดและไก่ เนื้อหมูและเนื้อวัวติดมัน ซี่โครงหมูที่ติดมันมาก หมูหัน เป็ดปักกิ่ง หมูสามชั้น หมูกรอบ เป็ดย่าง ห่านพะโล้ ไข่ปลา ไข่กุ้ง เนื้อสัตว์ที่มีกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบ ซึ่งทำให้ไตทำงานขับถ่ายของเสียหนักขึ้น เช่น เอ็นหมู เอ็นวัว เอ็นไก่ หูฉลาม ตีนเป็ด ตีนไก่ หนังสัตว์ กระดูกอ่อน รวมทั้งถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ และขนม อาหารที่มีไส้ถั่ว เป็นต้น
อ่าน “เป็นโรคไต กินทุเรียนได้มั้ย?” คลิกหน้า 2
เป็นโรคไต กินทุเรียนได้มั้ย?
ทุเรียน เป็นผลไม้ยอดฮิตของคนไทย อีกทั้งยังเป็นผลไม้ต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคไตด้วยเช่นกัน แต่เป็นบางสายพันธุ์เท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไป ผู้ป่วยที่เป็นโรคไต ควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีกรดอ็อกซาริกในปริมาณสูง เมื่อรับประทานเข้าไปจะให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดเอว ปัสสาวะปริมาณลดลง รวมถึงผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เพราะจะยิ่งทำให้ไตทำงานหนัก และทุเรียนก็ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียนก้านยาว และทุเรียนชะนี ส่วนทุเรียนที่แนะนำให้บริโภคนั้น ได้แก่ ทุเรียนหมอนทอง โดยดูได้จากค่าโพแทสเซียมของทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ ดังนี้
- ทุเรียนก้านยาว มีปริมาณโพแทสเซียม 680 มิลลิกรัม
- ทุเรียนชะนี มีปริมาณโพแทสเซียม 406 มิลลิกรัม
- ทุเรียนหมอนทอง มีปริมาณโพแทสเซียม 292 กรัม
**หมายเหตุ: ปริมาณโพแทสเซี่ยม (มิลลิกรัม/100กรัม)
อ่าน “ผลไม้โรคไต แบบไหนกินได้ และห้ามกิน” คลิกหน้า 3
ผลไม้ โรคไต แบบไหนกินได้ และห้ามกิน
1.ผลไม้ โรคไต กินได้ (ในปริมาณที่จำกัดต่อวัน)
- องุ่น 10 ผล
- สับปะรด 8 ชิ้นคำ
- ส้มเขียวหวาน 1 ผล
- ชมพู่ 2 ผล
- แตงโม 10 ชิ้นคำ
- พุทรา 2 ผลใหญ่
- ลองกอง 6 ผล
- ส้มโอ 3 กลีบ
- มังคุด 3 ผล
- เงาะ 4 ผล
2.ผลไม้ โรคไต ห้ามกิน
- กล้วย กล้วยหอม กล้วยตาก
- ฝรั่ง
- ขนุน
- ทุเรียนบางชนิด
- น้อยหน่า
- กระท้อน
- ลูกพลับ
- ลูกพรุน
- ลำไย
- มะม่วง
- มะเฟือง
- มะปราง
- มะขามหวาน
- แคนตาลูปฮันนี่ดิว
- น้ำส้มคั้น น้ำมะพร้าว น้ำผลไม้รวม น้ำแครอท
ขอบคุณที่มา: MToday, มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์, บำรุงราษฎร์ และ honestdocs
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง คลิก!!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่