AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

6 วิธีเข้าใจและสอนลูก เมื่อลูกพูดโกหก!

ลูกพูดโกหก

ลูกพูดโกหก ทำไม? …แท้จริงแล้วเด็กๆ ชอบพูดโกหกจริงหรือไม่! หรืออาจเป็นเพราะลูกเพียงแค่ต้องการพูดอีกหนึ่งอย่างกับเรา แต่เพราะเขายังเด็กจึงพูดไปตามสิ่งที่เขาคิดได้ตอนนั้น ซึ่งนั่นอาจกลายเป็นคุณพ่อคุณแม่นั่นแหละที่โกหกตัวเอง แล้วโดยความผิดให้ลูก

 

เชื่อได้เลยว่าพ่อแม่หลายคนมักโยนความผิดให้ลูก ด้วยคำว่า อย่าเอาแต่ใจ! ในขณะที่ลูกร้องไห้งอแง หรือพูดโกหก เบี่ยงเบนความสนใจไปมา จะเอาโน่น จะเอานี่ พฤติกรรมเหล่านี้ อาจไม่ใช่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่คิดว่าลูกดื้อ เอาแต่ใจเสมอไปนะคะ

คุณพ่อกอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ ชี้วิธีเข้าใจและสอนลูก!
เมื่อ “ลูกพูดโกหก”

แม้พฤติกรรมโกหกของเด็ก จะเป็นพฤติกรรมที่พ่อแม่รับไม่ได้ แต่ถ้าเจอลูกโกหก ควรพิจารณาก่อนว่า พฤติกรรมนั้นเป็นไปตามพัฒนาการของเด็กหรือเปล่า ถ้าพฤติกรรมนั้นเกิดในเด็กเล็กๆ ที่เพิ่งพูดได้ไม่นาน หรือเด็กอายุ 2-3 ขวบ ซึ่งเด็กอาจจะยังไม่เข้าใจหรือแยกแยะความจริงกับจินตนาการได้อย่างชัดเจน เด็กอาจจะพูดในสิ่งเด็กนึกขึ้นมาโดยไม่ได้ตรวจสอบกับโลกความเป็นจริง ก็ถือเป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการ และควรหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “เด็กโกหก”

เช่นเดียวกับเหตุการณ์นี้ที่คุณพ่อกอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ ได้โพสต์ภาพน้องชูใจ พร้อมเล่าถึงเหตุการณ์ที่ อยู่ดีๆ น้องชูใจก็งอแงไม่ยอมกินข้าว พร้อมพูดเบี่ยงเบนไปมา จนทำให้ คุณพ่อกอล์ฟดุไป แต่เมื่อได้สติ ก็กลับมาคิดได้ว่าแท้จริงแล้วน้องชูใจไม่ได้พูดโกหก หรือจะเบี่ยงเบนไม่ยอมกินข้าว แต่ความจริงแล้วคือคนเป็นพ่อแม่ต่างหากที่โยนความผิดไปให้ลูก โดยไม่ทันได้คิดถึงเหตุผลว่าเพราะอะไรลูกถึงพูดแบบนั้น!!

เรื่องมีอยู่ว่า….

เช้านี้ชูใจไม่ยอมกินข้าว อาหารของเธอเป็นข้าวราดไก่ผัดเห็ดหอมซึ่งปกติทุกเช้าเธอจะฝึกกินข้าวเอง ดีบ้างเลอะบ้าง แต่ช่วงนี้ก็จะพยายามให้กินเองให้จบมื้อโดยนั่งมองอยู่ใกล้ๆ

ผมพยายามกล่อมให้เธอกินข้าวให้หมดจาน ด้วยการบอกว่าถ้ากินหมดจะให้กินแอปเปิล เธอพยายามกิน เคี้ยวซักพักก็คายเศษไก่และข้าว

ผมดุเธอว่าอย่าคายข้าว ลูกหน้าเสีย เธอไปลากเก้าอี้มาบอกจะขอนั่งตัวนี้ ผมเริ่มอารมณ์เสีย บอกเธอว่าอย่านอกเรื่อง มากินข้าวให้หมด

เธอพูดเศร้าๆว่า หนูปวดฟัน

ผมให้เธอยิงฟันให้ดู ฟันเธอเป็นปกติ ผมดุเธอว่าอย่าโกหก อย่าเอาแต่ใจ มานั่งกินข้าวเดี๋ยวนี้

เธอบอกว่าเธอปวดขาจะขอนั่งเก้าอี้อีกตัว ผมแน่ใจว่าเธองอแงเพื่อเบี่ยงประเด็นการกินข้าวแล้วเถียงเธอว่าเก้าอี้ตัวไหนก็เหมือนกัน ก่อนจะลากจานข้าวมา เอาช้อนตัดชิ้นไก่เพื่อที่จะป้อน บังคับให้เธอกินให้จบ

 

เมื่อช้อนพลาสติกตัดบนชิ้นไก่ ผมพบว่าข้อมือผมต้องใช้แรงมากกว่าปกติ จึงตัดสินใจตักไก่ทั้งชิ้นลองเคี้ยวและพบว่านี่มันไก่สักยันต์ชัดๆ เนื้อมันเหนียวมาก

ชูใจไม่รู้จักคำว่าเมื่อยกรามหรือเนื้อเหนียว เธอรู้จักแค่คำว่าปวดฟัน

สติผมเริ่มกลับมา ผมลองสังเกตดูเก้าอี้ตัวแรกที่เธอนั่ง มันมีลักษณะเตี้ยและเธอต้องนั่งชันเข่า วันนี้เป็นวันที่ใช้เวลาปล้ำกันกินข้าวนานกว่าปกติ เธอจึงไปลากเก้าอี้ตัวสูงอีกตัวมาเพื่อที่จะนั่งห้อยขา

ชูใจไม่รู้จักคำว่าเมื่อยขา และเก้าอี้ไม่ได้เหมือนกันทุกตัวอย่างที่ผมเถียงเธอ

ฉับพลันนั้นผมจึงคิดได้ ในวัยที่ลูกเริ่มพูดรู้เรื่อง เริ่มเจรจาต่อรองเป็น ไม่เพียงพ่อแม่จะต้องสอนด้วยการพูดกับเขาให้มากขึ้น .. แต่บางครั้งสิ่งสำคัญกลับเป็นการนิ่งและตั้งใจฟังเขาให้มากขึ้น

ผมรีบเอ่ยคำขอโทษลูก ตอนนั้นอยู่ๆภาพก็ย้อนให้คิดถึงตัวเองตอนวัยรุ่น ในวันที่ผมพยายามตะโกนความรู้สึกให้ผู้ใหญ่รับฟังแต่ไม่มีใครได้ยิน มันเป็นเรื่องน่าเจ็บปวดกว่าการถูกปิดปากไม่ให้พูดส่งเสียงมากมายนัก

ผมกอดเธอ หอมแก้มเบาๆ ก่อนจะบอกให้เธอลากเก้าอี้ตัวสูงมานั่ง เธอนั่งห้อยขา กินข้าวที่ผมตั้งใจตัดและบดไก่จนละเอียดพอดีคำจนหมดจาน

ระหว่างให้เธอกินแอปเปิลตามสัญญา ผมเห็นเธอยิ้มให้ผม

รอยยิ้มของลูกไม่มีเสียง

แต่นั่นกลับเป็นคำสอนคำโตแก่พ่ออย่างผมว่า บางครั้งที่เราคิดถึงแต่ความสบายและเร่งรัดทุกอย่างให้เป็นดังใจตัวเองคิด นั่นคือการเห็นแก่ตัวและเอาแต่ใจของเราเอง

และเรามักโยนความผิดให้เขาด้วยคำว่า .. อย่าเอาแต่ใจสิลูก!

ขอบคุณเรื่องราวดีและภาพจาก : IG @ftodah

♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥

เมื่อเริ่มจับได้ว่า “ลูกพูดโกหก” สอนอย่างไรให้ได้ผล!

เมื่อลูกพูดโกหก บางคำพูด หรือการดุ สั่งสอนของพ่อแม่ ที่มักใช้พูดคุยกับลูกหลังจับได้ว่าลูกเริ่มโกหก และอาจมีการลงโทษตามมา หลายครั้งคนเป็นพ่อแม่ก็กลับมานั่งถามตัวเองว่า การตอบโต้ที่เข้าใจว่าเป็นการสอนนั้นทำไมไม่ได้ผล ทำไมยิ่งแย่ลง

“สาเหตุหนึ่งที่สำคัญ คือ ความไม่เข้าใจในสาเหตุ
และลักษณะพฤติกรรมของเด็ก รวมถึงไม่ทราบวิธีจัดการที่ถูกต้อง”

พ.ญ.อังคณา อัญญมณี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า การโกหกของเด็กที่เกิดขึ้นบ่อยๆ อาจแสดงว่าลูกรักกำลังมีปัญหา เช่น ปัญหาทางอารมณ์ เมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่นอาจมีพฤติกรรมร่วมกับการโกหกอีกหลายอย่าง ทั้งลักขโมย หลอกลวง ทำลายของสาธารณะ ทำร้ายร่างกายผู้อื่น ถือเป็นเด็กมีปัญหา หรือเด็กเกเร และอาจเติบโตเป็นผู้ก่อปัญหาให้สังคมในที่สุด ซึ่งหากพ่อแม่สังเกต ควรมีสติและหันมาหาความรู้เพื่อช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เขาดีขึ้น

สาเหตุที่ลูกพูดโกหก

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ให้ข้อมูลว่า การที่เด็กมีพฤติกรรมโกหกหรือพูดไม่จริงนั้นอาจมีสาเหตุที่ต่างกันขึ้นกับช่วงอายุ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ในเด็กช่วงอายุ 2-6 ขวบ อาจพูดไม่จริงได้เนื่องจากความคิดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เด็กยังไม่สามารถแยกแยะว่าอะไรจริง หรืออะไรคือจินตนาการ

เด็กอาจบอกว่า “หนูเหาะได้” เพราะอยากจะเป็นอย่างนั้น เด็กที่ถูกแกล้งบ่อยๆ จนเกิดความกลัวและอยากเอาชนะความกลัว ก็อาจเล่าให้แม่ฟังว่า “วันนี้เพื่อนมาแกล้งผม ผมเลยชกจนหงายหลัง วิ่งหนีไปเลย”

ในเด็กบางคนอาจโกหกเพื่อทดสอบว่าพ่อแม่จะรู้หรือไม่ว่าเขาพูดไม่จริง เพราะเด็กมักมองว่าพ่อแม่รู้ทุกอย่างแต่บางครั้งก็ไม่แน่ใจ ดังนั้นหากลูกในวัยนี้พูดสิ่งที่เกินจริงไปบ้าง พ่อแม่ไม่ควรตำหนิหรือกังวลมากเกินไป เพราะเป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้

สิ่งที่ควรทำคือรับฟังลูกและแก้ไขความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ลูกต่อไป!

 

อ่านต่อ >> แนวทางปฏิบัติสำหรับพ่อแม่เมื่อเริ่มจับได้ว่าลูกพูดโกหก” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

ทั้งนี้ในช่วงเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไป ลูกจะแยกแยะความจริงได้แล้ว หากลูกพูดโกหกอาจมีหลายสาเหตุที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจ เช่น

1.ลูกอาจโกหกเพื่อหลีกหนีจากสิ่งที่ไม่ต้องการ หรือกลัวว่าจะถูกทำโทษเมื่อทำผิด เช่น ลูกขโมยเงินพ่อแม่เพื่อเอาไปซื้อของเล่นยอดฮิตเหมือนเพื่อนๆ ที่โรงเรียน แต่กลัวพ่อแม่จับได้จึงต้องโกหก

สำหรับวัยรุ่น ปัญหาที่มักเจอส่วนใหญ่คือการคบเพื่อน การมีกลุ่มเพื่อนที่อาจชักจูงกันไปทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยถูกต้องหรือถูกใจผู้ปกครองมากนัก ก็พยายามหาวิธีการหลบหลีกด้วยการโกหก

บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองจับไม่ได้ และบ่อยครั้งที่จับได้ สิ่งที่ตามมาคืออาจถูกตำหนิดุด่าจนในที่สุดพฤติกรรมเหล่านั้นแทนที่จะหายไป กลับยิ่งถูกส่งเสริมให้รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการยิ่งตำหนิยิ่งทำให้สถานการณ์ของปัญหาการโกหกยิ่งแย่ลง เพราะวัยรุ่นจะยิ่งอยู่ห่างจากครอบครัวมากขึ้น

2.การโกหกเพื่อให้ได้รับสิ่งที่ต้องการ เช่น เด็กที่รู้สึกเบื่อเหงา อาจสร้างเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาเล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่จะได้สนใจตนมากขึ้น เช่น โกหกว่าปวดหัวเพราะไม่อยากไปโรงเรียน อยากได้ค่าจ้างไปโรงเรียน หรือเด็กที่รู้สึกตนเองไม่เก่งไม่ดีอาจเล่าเรื่องโกหกให้ตัวเองดูดี เพราะอยากให้พ่อแม่ชื่นชม

3.เด็กมีความผิดปกติทางด้านจิตเวช เช่น เด็กที่มีปัญหาเรื่องสติปัญญาบกพร่อง มีปัญหาด้านภาษา เด็กที่ป่วยเป็นโรคจิต บางครั้งก็ดูเหมือนว่าจะพูดเรื่องที่ไม่จริง ตามความคิดที่เกิดขึ้นในโลกส่วนตัวจากการที่มีสติปัญญาบกพร่องอยู่ หรือเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า อาจไม่ได้แสดงออกทางอารมณ์ แต่มาแสดงออกทางพฤติกรรม เช่น พูดโกหก หนีเรียน ลักขโมย พบเห็นได้บ่อยทั้งที่บ้านและโรงเรียน

⇒ Must read : รวม 11 โรค กับวิธีสังเกต ลูกมีปัญหาสุขภาพจิต

6 แนวทางปฏิบัติสำหรับพ่อแม่ เมื่อลูกโกหก

1.ควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกอยู่เสมอ ลูกจะมั่นใจในความรักและความหวังดีของพ่อแม่ เพื่อเวลาที่ลูกทำผิด หรือทำสิ่งไม่ดีลงไป ลูกจะได้กล้าปรึกษาพ่อแม่ จะช่วยไม่ให้ลูกตัดสินใจผิดพลาดจนเกิดผลเสียร้ายแรงตามมา

2.ไม่ควรมีโมโห หรือตำหนิตัวตนของลูกเมื่อลูกทำความผิด แต่ควรจัดการเฉพาะพฤติกรรมที่ผิดเท่านั้น ควรใช้เหตุผลพูดคุยกัน เพื่อลูกจะกล้ายอมรับความจริงในสิ่งที่ตนทำ ควรชื่นชมที่ลูกกล้าสารภาพผิด และแนะนำว่าเขาควรทำอย่างไรต่อไป

3.ควรไว้วางใจ ไม่จับผิดหรือระแวงลูกมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกเหมือนเป็นนักโทษ เช่น บางครั้งลูกกลับบ้านดึก แม่ก็คอยซักถาม จับผิดว่าลูกไปไหน ไปทำอะไร บางทีลูกอาจจะแค่ไปร้องคาราโอเกะกับเพื่อน แต่การที่พ่อแม่ซักถามเหมือนไม่ไว้ใจลูก และไต่สวนเหมือนเป็นผู้กระทำความผิด เด็กอาจใช้วิธีโกหกเพื่อให้พ่อแม่หยุดซักถาม

4.ควรหลีกเลี่ยงการลงโทษที่รุนแรงเมื่อลูกทำผิดหรือจับโกหกได้ เพราะการลงโทษเป็นเพียงการแก้ไขที่ปลายเหตุ ยังมีทางออกที่ดีกว่าวิธีการลงโทษ คือการพูดจาเพื่อทำ ความเข้าใจถึงเหตุผลบางประ การของลูก พ่อแม่ต้องมีอารมณ์ที่สงบเพื่อรับฟังลูกอย่างจริงใจ

5.เป็นแบบอย่างที่ดี ไม่พูดโกหกให้ลูกเห็น เพราะลูกอาจเลียนแบบจนติดเป็นนิสัย เข้าใจผิดว่าการโกหกเป็นเรื่องปกติที่ทำได้

6.พยายามสังเกตว่าลูกมีอาการป่วยทางจิตหรือไม่ เช่น ซึมเศร้า บกพร่องทางสติปัญญา หรือมีปัญหาเรื่องภาษา เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้อาจโกหกโดยไม่ตั้งใจ แต่ทำไปเพราะป่วย หากสงสัยว่าลูกมีภาวะดังกล่าวควรพาพบจิตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ดี เพราะเด็กโกหกไม่เป็น ซึ่งในการที่ลูกพูดโกหกออกมานั้น ความหมายอาจไม่เป็นอย่างที่คุณคิด สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องตั้งสติและเปิดใจรับฟังลูก พร้อมคอยสังเหตุถึงปัญหาและพฤติกรรมที่ทำให้ลูกพูดหรือกระทำสิ่งต่างๆที่ดูเหมือนเอาแต่ใจ ซึ่งหากลูกรู้ตัวว่าผิดและพยายามโกหก อาจต้องรีบสั่งสอนเพื่อไม่ให้ลูกติดนิสัยโกหกไปจนโต

อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.manager.co.th