การดูแลท้องแฝด …เป็นเรื่องสำคัญที่ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ ต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก เพราะการตั้งครรภ์ลูกแฝดมีความเสี่ยงหลายอย่างที่อาจเป็นอันตรายทั้งแม่และลูกได้ตลอดเวลา
เช่นเดียวกับว่าที่คุณพ่ออย่างพระเอกหนุ่มสุดหล่อ คุณ ชาคริต แย้มนาม ที่ได้ออกมาประกาศข่าวดีสละโสดครั้งที่ 2 กับแฟนสาวนอกวงการ คุณแอน ภัททิรา รุ่งโรจน์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ณ เป๊กกี้ โคฟ รีสอร์ต บริเวณริมหาดคุ้งวิมาน บ้านสนามไชย ม.7 ต.สนามไชย อ.นายายอาม จ.จันทบุรี
และคุณ ชาคริต ยังได้เผยข่าวดีด้วยว่า ภรรยาสาวของตนกำลังตั้งครรภ์อยู่ แต่ก็มีข่าวร้ายคือ ลูกแฝดได้หลุดไปหนึ่งคน โดยคุณชาคริต ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า…
เผยวันที่ดีใจที่สุดและวันที่เสียใจ
“วันที่เขาบอกว่า หนูว่าหนูท้อง ผมเลยให้เขาเช็กก่อน ใจนี่เต้นตุบๆ พอขึ้นขีดมาเฮแบบดีใจมาก ทำเรื่องนัดหมอให้เพื่อนช่วย
พอตรวจมีไข่สองใบ เป็นแฝด ผมมีความรู้สึกว่าต้องได้ลูกแฝดชายคนหญิงคน แต่คุณหมอก็ให้ระวังเพราะอายุที่มากขึ้น ต้องมีคนประกบเลย พอรู้ว่าท้องเลยได้ไปไหว้คุณพ่อคุณแม่เขา คุณพ่อคุณแม่เขาก็ดีใจครับ
เขากลัวมาตลอดว่าแอนจะไม่มีหลานให้”
อ่านต่อ >> “ชาคริตให้สัมภาษณ์เสียลูกแฝดหลุดไปหนึ่งคน
พร้อมวิธีการดูแลท้องแฝดเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ชาคริตเผยวันที่ดีใจที่สุดและวันที่เสียใจ (ต่อ)
“ตอนนัดอัลตร้าซาวด์อีกรอบ มีแต่คนบอกเรื่องถือเคล็ด 3 เดือน แต่ผมไม่เชื่อ พอไปอัลตร้าซาวด์หมอบอกหลุดไปคนหนึ่งครับ เหลืออยู่คนหนึ่ง ซึ่งจากนั้นผมก็อยู่เงียบๆ และดูแลให้เขาแข็งแรงที่สุด แอนร้องไห้ เสียใจมาก แต่ยังไงอีกคนก็ต้องทำให้ดีที่สุด น้องเขาก็ขอโทษที่ดูแลลูกไม่ดี (ร้องไห้)”
นอกจากนี้คุณชาคริตยังเผยถึงงานแต่งด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอิ่มสุขว่า
“พิธีจะมีเฉพาะครอบครัวและเพื่อนๆ ที่สนิทครับ ตามความตั้งใจเขา คงเป็นอะไรที่เขาอยากจะจำไว้ตลอด ส่วนเรื่องรูปในงานเดี๋ยวจะจัดเตรียมให้ครับ อีกอย่างมันไกลด้วย ผมตั้งใจไว้อยู่แล้ว ไม่ใช่แต่งเพราะผู้หญิงท้องครับ
จริงๆ ผมไม่คาดหวังอะไรจากความรักแล้วครับ จะได้เป็นพ่อคนแล้ว จากนี้ก็เริ่มลดๆ งาน ให้เวลาครอบครัว ส่วนบ้านก็จะเสร็จแล้ว แต่เขาบอกว่า อยู่กันง่ายๆ ไหม มันใหญ่ไป เราก็เลยบอกค่อยว่ากันอีกที เพราะมีลูกด้วย เราก็เป็นภูมิแพ้อีก เตรียมตัวกับการเป็นคุณพ่อ ต้องทำทุกอย่างให้มั่นคง จัดแจงเวลาให้เป็นครับ จดทะเบียนสมรส ต้องทำทุกอย่างให้มันถูกต้องครับ”
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.amarintv.com
อย่างไรก็ดีทางทีมงาน Amarin Baby & Kids ก็ขอแสดงความยินดีกับว่าที่คุณพ่อ และขอให้ชีวิตคู่ของคุณชาคริต กับคุณแอน ภัททิรา ยิ่งยืนยาวตลอดไปด้วยนะคะ ^^
» » แต่จากกรณีที่ลูกแฝดของคุณชาคริต ที่หลุดไปหนึ่งคนหลังตรวจพบว่าภรรยาของเค้านั้นตั้งท้องแฝด ก็สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว มดลูกของผู้หญิงเหมาะสำหรับเด็กเพียงคนเดียว เมื่อเกิดตั้งครรภ์แฝด (การมีเด็กอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป อยู่ร่วมมดลูกเดียวกัน) จึงถือเป็นภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ ทั้งยังแตกต่างจากการตั้งครรภ์ลูกคนเดียวมาก ซึ่งการหาความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์แฝด เพื่อการดูแลและระมัดระวังจึงจำเป็นมาก
“ดังนั้นไม่ว่ากรณีใดๆ แพทย์ไม่แนะนำให้เกิดการตั้งครรภ์แฝดแบบตั้งใจ” สิ่งนี้คือประเด็นสำคัญที่คุณหมอตวงสิทธิ์ วัฒกนารา สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ที่ผ่านประสบการณ์การดูแลช่วยเหลือคุณแม่และลูกแฝดที่อยู่ในภาวะเสี่ยงจำนวนมาก ต้องการส่งถึงทุกครอบครัวและคู่ที่คิดกำลังจะมีลูกได้ตระหนักให้มากและเข้าใจให้ถูกต้อง
ไตรมาสแรก รู้ตัวเร็ว เพื่อ “ตระหนัก” ไม่ใช่ตระหนก
“ที่บอกว่าการตั้งครรภ์แฝดถือเป็นภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ จะเรียกว่าเป็นภาวะไม่ปกติของการตั้งครรภ์ก็ได้ เพื่อให้ตระหนักว่าในช่วงนี้คุณแม่และครอบครัวควรรู้เรื่องอะไร จะได้เตรียมพร้อมดูแลครรภ์และตัวคุณแม่ให้ปลอดภัยที่สุด” คุณหมอตวงสิทธิ์ขยายความเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น
- ความเสี่ยงต่อการแท้ง เป็นเรื่องแรกที่ต้องรู้และคำนึงถึง ดังนั้นคุณแม่ท้องแฝดควรรู้ตัวให้เร็ว และอยู่ในการดูแลของแพทย์ได้เร็ว เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่างๆ
- คุณแม่ควรรู้ว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มที่จะรู้การตั้งครรภ์เร็วหรือไม่ การสังเกตและใส่ใจรอบเดือนของตัวเอง เป็นสิ่งจำเป็นไม่ว่าคุณแม่จะมีโอกาสท้องแฝดหรือไม่ก็ตาม
- กลุ่มที่มีรอบเดือนสม่ำเสมอ พอประจำเดือนขาดไป มักจะรู้ตัวได้เร็ว
- กลุ่มที่รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ คุณแม่ต้องใส่ใจตัวเองเป็นพิเศษ เพราะหากเผลอไม่ได้สังเกตมีโอกาสสูงที่จะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ช้า โอกาสเสี่ยงต่างๆ ยิ่งสูงขึ้น
- คุณแม่ครรภ์แฝดมักแพ้ท้องมากกว่าปกติ
- ท้องแฝดจำเป็นต้องเลือกแพทย์และสถานพยาบาล การตั้งครรภ์แฝดควรได้รับการดูแลโดยแพทย์ที่ชำนาญการดูแลครรภ์แฝดโดยเฉพาะ และมีประสบการณ์มากในการดูแลครรภ์แฝด และถ้ารู้ว่าตั้งครรภ์แฝดไข่ใบเดียวกันกรุณาฝากครรภ์กับแพทย์โรงเรียนแพทย์ ไม่แนะนำการฝากครรภ์ที่คลินิก
อ่านต่อ >> “ประเด็นสำคัญที่คุณแม่ท้องแฝดและครอบครัวควรรู้” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ต้องรู้ด้วยว่าเป็นท้องแฝดแบบไหน?
นอกจากรู้ว่าตั้งครรภ์แฝดแล้ว คุณแม่และครอบครัวจำเป็นต้องรู้ว่าเป็นครรภ์แฝดลักษณะใดด้วย เพราะความเสี่ยงและโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในแฝดแต่ละแบบต่างกันมาก เพื่อจะได้ระมัดระวังให้มาก
และเมื่อเข้าไตรมาสที่สอง 80% ของอวัยวะต่างๆ ของแฝดในท้องคุณแม่เป็นรูปเป็นร่างแล้ว การตรวจความสมบูรณ์ของทารกอย่างละเอียดเป็นสิ่งจำเป็น คุณหมอตวงสิทธิ์ได้สรุปประเด็นสำคัญที่คุณแม่ท้องแฝดและครอบครัวควรรู้ ได้แก่
- การอัลตราซาวนด์
ตรวจดูความสมบูรณ์ของอวัยวะต่างๆ อย่างละเอียด จำเป็นมากเพื่อให้รู้ว่ามีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นบ้าง จะได้ช่วยเหลือได้ทัน
- การตรวจกรองภาวะดาวน์ซินโดรม
การวินิจฉัยในเด็กแฝดจะยากขึ้น ความแม่นยำในการตรวจคัดกรองจะลดลงด้วย กระบวนการการคัดกรองเด็กดาวน์ซินโดรมที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ได้แก่ การตรวจน้ำคร่ำ การคัดกรองจากสารเคมีของดีเอ็นเอของลูกในเลือดของคุณแม่ **ปัจจุบันไม่มีการคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมในครรภ์แฝดตั้งแต่สามคนขึ้นไป
- ครรภ์แฝดมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดสูง
ยิ่งจำนวนเด็กในครรภ์มาก โอกาสคลอดก่อนกำหนดยิ่งเพิ่มขึ้น
- โอกาสแฝดบางคนเสียชีวิตระหว่างทางก็มี
กรณีอย่างนี้ก็เกิดได้โดยที่ไม่รู้ แม้ตรวจละเอียดแล้ว บางทีตอนคลอดก็คลอดมาคนเดียว แต่อีกคนไม่อยู่แล้ว ตัวเล็กนิดเดียวเกาะรกออกมาด้วย ธรรมชาติจัดการตัวเองได้ โดยไม่ได้กระทบต่อการตั้งครรภ์
♦ แฝดต่างแบบก็ความเสี่ยงต่างกัน
การตั้งครรภ์แฝดคือ การที่มีเด็กอย่างน้อยสองคนขึ้นไปอยู่ร่วมกันในมดลูกเดียวกันในขณะเดียวกัน การตั้งครรภ์แฝดมี 2 ลักษณะซึ่งมีความเสี่ยงต่างกันด้วย
- แฝดเกิดจากไข่ใบเดียวและสเปิร์มตัวเดียว : เด็กในครรภ์จะมีลักษณะภายนอกและลักษณะทางพันธุกรรมที่เหมือนกันทุกประการ ซึ่งแฝดลักษณะนี้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนง่ายและมากกว่า
- แฝดเกิดจากไข่คนละใบ สเปิร์มคนละตัว : เด็กในครรภ์มีสิ่งที่เหมือนกันอย่างเดียวคืออยู่ในท้องแม่พร้อมกัน สิ่งอื่นๆ นอกจากนั้น เพศ ลักษณะภายนอก ความคิด นิสัยใจคอ ต่างกันหมด
“กรณีแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวและสเปิร์มตัวเดียวใช้รกร่วมกัน จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูงมากถึง 30% ภาวะแทรกซ้อน เช่น มีโอกาสที่จะแยกกันไม่สมบูรณ์ คือมีอวัยวะบางส่วนติดกัน ซึ่งสามารถผ่าตัดแยกได้ แต่ถ้าแฝดตัวติดกัน การผ่าตัดแยกก็ค่อนข้างยากและมีโอกาสเสียชีวิตทั้งคู่ หรือกรณีแฝดเหมือนแยกกันอย่างสมบูรณ์ แต่รกไม่แยกกัน ก็จะมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่นแฝดถ่ายเลือด ก็จำเป็นต้องทำการรักษาในครรภ์ เป็นต้น” คุณหมอตวงสิทธิ์อธิบาย
อ่านต่อ >> “สิ่งสำคัญที่แม่ท้องแฝดควรรู้
และระมัดระวังให้มากเมื่อเข้าสู่ไตรมาสสุดท้าย” คลิกหน้า 4
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สุดท้ายคุณหมอตวงสิทธิ์บอกเราว่า สิ่งสำคัญที่แม่ท้องแฝดควรรู้และระมัดระวังให้มากเมื่อเข้าสู่ไตรมาสสุดท้าย ได้แก่
1. มีสัญญาณเตือนต่างๆ ก่อนกำหนด
เพราะคุณแม่ท้องแฝดจะน้ำหนักมากขึ้น ทั้งจากน้ำหนักตัวเด็กและถุงน้ำคร่ำ จึงทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่ เจ็บท้อง มีน้ำเดินก่อนกำหนด มีเลือดออกเพราะรกเกาะต่ำ หรือบางรายท้องยังไม่แข็ง แต่ปากมดลูกเริ่มเปิดแล้ว แพทย์จะแนะนำให้นอนพักมากขึ้น คุณแม่ต้องระวัง แต่ก็ทำกิจวัตรประจำวันได้ใกล้เคียงปกติ
2. ต้องอัลตร้าซาวนด์เป็นระยะๆ
เพื่อให้มั่นใจว่าการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ปกติดี เพราะมีโอกาสที่เด็กจะเติบโตช้า ตัวเล็ก จนทำให้เสียชีวิตในระหว่างการตั้งครรภ์ได้
√ ต้องใส่ใจเป็นพิเศษเพราะอะไร?
- มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้น เนื่องจากมดลูกขยายมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว
- เด็กที่คลอดก่อนกำหนด อาจมีปัญหาตามมาหลังคลอด ได้แก่ พัฒนาการช้า มีปัญหาระบบการหายใจ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เกลือแร่ในเลือดแปรปรวน มีเลือดออกในศีรษะ มีเลือดออกในปอด ฯลฯ ซึ่งทำให้ทารกต้องอยู่ในหออภิบาลทารกแรกคลอด ใส่เครื่องช่วยหายใจนานเป็นเดือน
- แม่เกิดภาวะรกเกาะต่ำ เพราะรกมีขนาดใหญ่มาก จึงมีโอกาสที่น้ำหนักจะถ่วงลงมาขวางช่องทางคลอด ทำให้คุณแม่ไม่สามารถคลอดได้เองตามธรรมชาติ
- เกิดภาวะตกเลือดขณะคลอด ไม่ว่าจะคลอดเอง หรือผ่าคลอดก็ตาม
- การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ในท้องแฝดกับท้องเดี่ยวให้ผลต่างกัน ไม่ว่าจะด้วยการใช้ยาหรือการเย็บกระชับปากมดลูก โอกาสที่จะยับยั้งการคลอดก่อนกำหนดในท้องเดี่ยวจะได้ผลดีกว่า
ทั้งนี้คุณหมอตวงสิทธิ์ทิ้งท้ายว่า “การตั้งครรภ์แฝดเป็นภาวะแทรกซ้อน มีความเสี่ยงและจำเป็นต้องประคับประคองครรภ์เพื่อความปลอดภัยทั้งแม่และลูกอย่างระมัดระวัง ใส่ใจมากเป็นทวีคูณตลอดการตั้งครรภ์ และที่สำคัญคือ หลังคลอดแล้ว พ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูกแฝดก็ไม่ใช่เรื่องสนุกเลย สำหรับคู่หรือครอบครัวที่ไม่มีพันธุกรรมแฝดและต้องการมีลูกครรภ์แฝดโดยตั้งใจ อยากให้ตระหนักอย่างรอบคอบมากๆ”
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- อยากได้ลูกแฝด ต้องลอง 9 วิธีธรรมชาติทำได้แน่นอน!
- รับมือกับ 10 ความเสี่ยง ตั้งครรภ์แฝด
- แฝดสาม เหมือนกันตั้งแต่ใบหน้าถึง DNA กับอันตรายของการตั้งครรภ์แฝด
- 8 วิธีช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ที่มีเบบี๋ฝาแฝด
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids จากคอลัมน์ Pregnancy {28-41 weeks} ฉบับเดือนมกราคม 2558
ขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.นพ.ตวงสิทธิ์ วัฒกนารา สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลศิริราช