ลำพังแค่รังสี UVA และUVB ก็ปกป้องกันแทบไม่ทันแล้ว ณ ตอนนี้ยังมี Long UVA เพิ่มขึ้นมาให้ต้องระวังเข้าไปอีก ไม่พอในอนาคตถ้าโอโซนโลกเราเหลือน้อยก็จะมี UVC มาร่วมแจมด้วย สำหรับเจ้า UVC นี้ยังไม่ถึงเวลานอยด์ มาโฟกัส LONG-UVA กันก่อนดีกว่าว่ามันคืออะไร แล้วร้ายแรงกว่ารังสีทั่วๆไปหรือไม่
รังสี LONG-UVA คือ?
แสงแดดประกอบด้วย รังสีอินฟราเรด 40% เป็นแสงที่มองเห็นได้ 50% รังสีอัลตราไวโอเลด หรือ UV 10% ซึ่งใน 10% นี้แบ่งเป็น UVC, UVB และ UVA โดยโอโซนในบรรยากาศได้กรอง UVC ออกไปแล้ว ทำให้พบเฉพาะ UVA90% และ UVB10% บนพื้นผิวโลก แถม UVA ยังแบ่งเป็น Long UVA (UVA1, 340-400 nm) และ Short UVA (UVA2, 320-340 nm) อีก ซึ่ง Long UVA นี้แม้จะมีปริมาณน้อยแต่ก็ทะลุทะลวงผ่านชั้นผิวหนังได้ลึกที่สุด จนสามารถทำลายโครงสร้างผิวอย่างคอลลาเจนและอีลาสติน ทำให้เกิดสภาวะแก่ก่อนวัยอันเกิดจากแสงแดด (photo-aging) และมีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งผิวหนัง นอกจากนี้ในระยะสั้นอาจมีผลทำให้เกิดตาอักเสบ ส่วนในระยะยาวอาจเกิดต้อเนื้อ และต้อกระจกได้
วิธีการรับมือแสงแดด
– หลีกเลี่ยงช่วงเวลาตั้งแต่ 10.00-16.00 น. เพราะรังสี UVA UVB แผ่มายังพื้นผิวโลกมากที่สุด
– ทาครีมกันแดด ที่มีค่า SPF 30 หรือ 50 ขึ้นไป 30 นาทีก่อนปะทะแสงแดด และควรทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมงเมื่ออยู่กลางแจ้ง สำหรับใครที่ไปทะเล หรือว่ายน้ำ ควรดูที่มีคำว่า Water Resistant (กันน้ำได้นาน 40 นาที) หรือ Very / Highly Water Resistant (กันแดดได้นาน 80 นาที) ปรากฏอยู่ด้วย โดยไม่ลืมทาในส่วนของ ท้ายทอย ขมับ ขอบใบหู หลังมือ และหลังเท้า
– ขอตัวช่วยด่วน งามจัดๆอย่าง หมวกปานามา หรือ หมวกปีกกว้าง (กว้างมากกว่า 7.5 เซนติเมตรขึ้นไป) แว่นกันแดด ร่มที่ป้องกันรังสียูวีได้ และผ้าหลุมไหล่
– เมื่อไหร่เกิดการเบิร์นขึ้น ผิวไหม้แดดให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นประคบ ดื่มน้ำมาก ๆ และอย่าเพิ่งใช้โฟมล้างหน้าที่เป็นสครับ หรือครีมทาหน้าในกลุ่มไวท์เทนนิ่ง เลือกใช้ครีมประเภทเติมน้ำให้ผิว หรือ ลดการระคายเคืองผิวร่วมด้วย เช่น อาฟเตอร์ ซัน หรือสเปรย์น้ำแร่ แต่หากผิวไหม้มากจนมีตุ่มน้ำใสพุพอง ควรมาพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป
ข้อมูลจาก : รศ. นพ. นิยม ตันติคุณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนังแผนกผิวหนัง รพ.บำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล และ เภสัชกร นิวัตร ธีรวิวัฒน์วงศ์ ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ ลา โรช-โพเซย์