ในชีวิตประจำวันของหนุ่มสาวออฟฟิศทุกวันนี้ จำเป็นต้องใส่รองเท้าหนังหรือ ใส่ส้นสูง ในการทำงานเป็นระยะเวลานาน 6 – 8 ชั่วโมง ซึ่งในบางรายเมื่อกลับถึงบ้านอาจจะรู้สึกปวดเท้าบริเวณโคนนิ้วโป้ง หรือเห็นนิ้วเบี้ยวผิดรูปได้ ถ้ามีอาการเช่นนี้อาจมีอาการนิ้วหัวแม่เท้าเก
สำหรับอาการนิ้วหัวแม่เท้าเก เกิดการเอียงตัวผิดปกติ นิ้วโป้งเอียงเข้าหานิ้วชี้ ปลายเท้าบีบเข้าหากัน และโคนนิ้วหัวแม่เท้านูนออกมา เกิดการเสียดสีจนปวดบวม ยิ่งบวมก็ยิ่งเสียดสีมาก จนบางทีปวดเท้าตลอดเวลาได้ สำหรับสาเหตุของอาการนี้ มีทั้งที่เกิดจากตัวเราเอง และสิ่งที่มาจากภายนอกอย่างเช่น รองเท้า เป็นต้น
ใส่ส้นสูง
สำหรับผู้หญิงจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้มากกว่าผู้ชายถึง 13 เท่า เพราะว่า เอ็นมีความยืดหยุ่นมากกว่า จึงถูกดัดได้มากกว่า ถ้ามีพันธุกรรมคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ หรือการมีเท้าที่แบน หรือกระดูกนิ้วเท้ายาวกว่าปกติ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุ
อีกสาเหตุที่พบบ่อย คือ การใส่รองเท้าที่ผิด รองเท้าที่มีความเสี่ยงคือ รองเท้าส้นสูงหัวแหลมบีบปลาย และมีส้นที่สูง ร่วมกับหัวที่แหลมก็จะบีบที่ปลายนิ้วเท้าเมื่อใส่เป็นเวลานานๆ ก็จะดัดให้เท้าผิดรูปถาวรได้ ซึ่งจะพบในผู้หญิงวัยกลางคน ขณะเดียวกันในคนไข้ที่มีอาการนิ้วหัวแม่เท้าเกมากๆ นิ้วอาจจะซ้อนกันสีด้านในรองเท้า ดังนั้นการหารองเท้าใส่ก็จะยากขึ้น จนบางครั้งใส่ได้แต่รองเท้าแตะก็มี
สำหรับคนไข้ที่มีปัญหากับโรคดังกล่าวแล้ว การรักษาถ้าเป็นไม่มากแพทย์ จะให้ใส่อุปกรณ์พยุงนิ้วเท้าไม่ให้เป็นมากขึ้นจะใช้ซิลิโคนคั่นนิ้วเท้า ร่วมกับรับประทานยาลดอาการอักเสบ แต่ถ้ามีอาการปวดเท้าเรื้อรัง นิ้วหัวแม่เท้าเกผิดรูป หรือนิ้วขี่กัน แพทย์จะต้องทำการผ่าตัดเพื่อจัดกระดูก โดยจะตัดแต่งกระดูกให้นิ้วหัวแม่เท้ากลับมาตรง หรือเจียรปุ่มกระดูกที่นูนออก เพื่อให้สามารถใส่รองเท้าได้
ทั้งนี้ โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111 มีนวัตกรรมการผ่าตัดแผลเล็ก โดยใช้เครื่องกรอที่คล้ายกับเครื่องมือทางทันตกรรม ซึ่งขนาดหัวกรอมีขนาด 2 มิลลิเมตร ในการตัดกระดูก และยึดตรึงด้วยน็อตทางการแพทย์ แผลจะเล็กลง ประมาณปลายปากกาลูกลื่นจำนวน 3 – 5 แผล จะทำให้มีอาการเจ็บปวดน้อยมาก สามารถกลับไปสู่การใช้ชีวิตที่ปกติได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นถ้าอยากจะทราบว่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนิ้วหัวแม่เท้าเกหรือไม่ ให้ลองถอดรองเท้าที่ใส่ประจำมาดูว่า หัวรองเท้าแคบไปหรือไม่ ใส่แล้วบีบเท้ามากไปหรือเปล่า และนำพื้นรองเท้ามาแนบกับฝ่าเท้าดูว่า นิ้วเท้าของเรายื่นเลยจากขอบรองเท้า ซึ่งปกตินิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้ควรขนานกันไม่ควรเอียงเข้าหากัน โดยสังเกต โคนนิ้วว่ามีอาการบวม ปวด หรือมีกระดูกงอก นูนออกมาหรือไม่ ถ้ามีควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการอีกครั้ง
สุดท้าย แพทย์ขอฝากวิธีเลือกรองเท้าที่เหมาะสมคือ รองเท้าไม่คับ หัวรองเท้าไม่บีบ ทดสอบโดยใส่รองเท้าแล้วให้มีพี้นที่พอที่จะกระดิกนิ้วหัวแม่โป้งได้ รวมถึงพื้นในรองเท้าควรนิ่มไม่แข็งจนเกินไป ส้นไม่สูงเกิน 2 นิ้ว และมีก้านรองเท้าที่หน้ามั่นคง เท่านี้ก็จะเป็นการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น
เรื่องโดย : นพ. ภัทร จุลศิริ ศัลยแพทย์โรคกระดูกและข้อเท้า โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111
ภาพโดย : shutterstock