ไม่อายทำกินจนขึ้นชื่อเป็น เด็กกตัญญู คอยหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการปั่นจักรยานสามล้อขายผักหลังเลิกเรียน
ถ้าหากมีโอกาสไปตลาดระโนดในช่วงเย็น ๆ ซึ่งเป็นเวลาหลังเลิกเรียน คุณพ่อคุณแม่จะได้มีโอกาสพบเห็นเด็กผมจุกคนหนึ่งคนขายผักอยู่ในตลาด ไม่มีใครไม่รู้จักกับหนูน้อยคนนี้ และถึงแม้ว่าเขาจะมีอายุเพียงแค่ 8 ปีแต่ก็ไม่เคยอายทำกิน และเลือกที่จะหาเลี้ยงครอบครัวตอบแทนคุณมากกว่าการเล่นสนุกเหมือนเด็กในวัยเดียวกัน
เด็กชายจาฏุพัจน์ ชีช้าง หรือ ”น้องต๋อง”และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ ไว้ผมจุกและกำลังเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านระโนด (ธัญเจริญ) น้องต๋องต้องกลายเป็นเสาหลักทำหน้าที่ออกไปหาเลี้ยงครอบครัวมากถึง 4 ชีวิต โดยน้องอาศัยอยู่กับคุณย่าคือ นางวรรณีย์ ชีช้าง อายุ 54 ปี คุณทวดชาย อายุ 94 ปีซึ่งป่วยติดเตียง และคุณทวดหญิงอายุ 87 ปีที่ต้องนั่ง ๆ นอนเพราะความชรา ภายในบ้านเลขที่ 28 หมู่6 ต.ระโนด อ.ระโนด จ.สงขลา
นางวรรณีย์ คุณย่าของน้องต๋องเล่าว่า น้องเริ่มออกไปขายผักตั้งแต่เริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แทนคุณทวดชายซึ่งมีอายุมากและล้มป่วยปั่นจักรยานไม่ไหว ส่วนตัวเองก็มีปัญหาสุขภาพเช่นกัน จึงต้องให้น้องไปขายแทน บางวันก็ออกไปขายตั้งแต่ตี 5 ก่อนไปโรงเรียน บางวันก็หลังเลิกเรียนและวันเสาร์อาทิตย์ก็มี แล้วแต่ว่าวันไหนจะมีผักหรือไม่ ขายเสร็จก็จะซื้อขนมซื้อของมาฝากย่าฝากทวด และในช่วงที่ตนไม่อยู่ต๋องก็จะเป็นคนดูแลทวดทั้งสองคนแทน
อ่านต่อเรื่องราวของน้องต๋อง ได้ที่หน้าถัดไปค่ะ >>
โดยคุณย่าจะคอยเก็บพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้บริเวณบ้านมัดใส่ถุง ให้น้องต๋องออกไปขายที่ตลาดเมืองระโนดซึ่งอยู่ห่างจากบ้านราว 1 กิโลเมตร น้องขายมานานหลายเดือนแล้ว และได้เงินครั้งละ 100 – 200 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนผักที่นำไปขายซึ่งจะขายถุงละ10 บาทเท่านั้น และขายหมดเกลี้ยงทุกครั้ง เพราะชาวบ้านจะช่วยกันซื้อ และบางครั้งก็ให้เงินมากกว่าราคาผักที่ขายด้วยซ้ำเพราะความสงสารในความขยันความกตัญญู
ชีวิตของน้องนั้นน่าสงสารมาก เพราะพ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่อายุได้ 8 เดือน และอยู่กับคุณย่าและคุณทวดมาตั้งแต่เกิด เคยเห็นหน้าแม่แค่ครั้งเดียวเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมาเยี่ยมที่บ้านและให้เงินไว้ 1,000 บาท ส่วนพ่อก็หนีไปอยู่ที่อื่นเพราะมีปัญหาด้านคดีความ ส่วนสาเหตุที่ต้องไว้ผมจุกนั้นเป็นเพราะ ตอนเล็ก ๆ น้องไม่สบายบ่อยมากเพราะเกิดมาตัวเล็กกว่าเด็กปกติ ตนจึงบนบานสานกล่าวเอาไว้ว่า หากหายป่วยก็จะไว้ผมจุกจากนั้นมาก็เป็นเด็กผมจุกมาตลอดจนเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และจะโกนจุกออกตอนที่บวชเรียน คุณย่าเล่าเพิ่มเติม
น้องต๋องกล่าวว่า ตนเองไม่รู้สึกเหนื่อยที่ต้องปั่นจักรยานสามล้อไปขายผักเลย เพราะต้องการช่วยย่าและทวดและหาเงินไปโรงเรียนโตขึ้นยังไม่รู้ว่าจะเป็นอะไรแต่ก็จะตั้งใจเรียน
ในขณะที่เพื่อนบ้านกล่าวว่า ชีวิตของต๋องน่าสงสารมาก เพราะแทบไม่ได้วิ่งเล่นเหมือนกับเด็กทั่ว ๆ ไป เพราะต้องช่วยเหลือครอบครัว แต่ละวันทั้งก่อนและหลังไปโรงเรียนก็ปั่นจักรยานสามล้อไปขายผักเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว หากใครที่พอจะช่วยได้ก็จะยื่นมือมาช่วยเพื่อให้ต๋องมีอนาคตที่ดีขึ้น
และจากการสอบถามบรรดาพ่อค้าแม่ค้า และชาวบ้านในตลาดระโนดก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เด็กคนนี้เป็นเด็กดีมาก สู้ชีวิต กตัญญู มีความรับผิดชอบเกินเด็กวัย 8 ขวบ และเป็นที่รักของชาวบ้าน แม้จะไม่มีพ่อแม่คอยดูแลแต่ก็ไม่เคยท้อในโชคชะตา ไม่เกเร ถึงเวลาไปโรงเรียนก็ไปเรียน ถึงเวลาว่างก็นำผักมาขาย เป็นแบบนี้มาหลายเดือน
อ่านต่อ 5 เทคนิคสอนลูกให้มีความกตัญญู
เครดิต: TNews
ความกตัญญูคืออะไร?
ความกตัญญู คือ การรู้สึกสำนึกในบุญคุณ ด้วยการแสดงความเคารพ นับถือ เชื่อฟัง และช่วยเหลือในกิจการงานต่างๆ ทำให้คนที่มีความกตัญญูมีความสุข มีความเจริญ และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและการงาน
5 เทคนิคการสอนลูก
- สอนตั้งแต่ยังเล็กสอนให้ลูกรู้จักพระคุณพ่อแม่ พ่อแม่คือผู้ที่ทำให้ลูกได้มีโอกาสเกิดขึ้นมาลืมตาดูโลก ให้ชีวิต และต้นแบบทางร่างกายแก่ลูก สั่งสอนลูกให้เป็นคนดี รู้จักผิดชอบชั่วดี และส่งเสริมให้ลูกได้เล่าเรียนหนังสือ
- เป็นแบบอย่างที่ดี สอนให้ลูกรู้จักซาบซึ้งในพระคุณของพ่อแม่ คนที่เป็นพ่อ เป็นแม่ จะต้องแสดงความกตัญญูให้ดูเป็นตัวอย่าง ด้วยการแสดงความกตัญญูต่อปู่ย่าตายายให้ลูกเห็น
- คอยยกตัวอย่างที่ดีให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นจากในหนังสือ ข่าวหรือสื่อต่าง ๆ ให้ลูกได้ว่าคนที่มีความกตัญญูนั้นเขามีความสำเร็จในชีวิตได้อย่างไร
- สอนให้ทำจริง ด้วยการพาลูก ๆ ไปกราบไหว้ปู่ย่าตายาย ก่อนที่จะทานข้าวเอาไปให้ปู่ย่าตายายก่อน ทำให้ลูก ๆ ดูตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ฝึกให้ลูก ๆ ทำด้วยตัวเอง
- ชมเชยเมื่อลูกแสดงความกตัญญู เพื่อเป็นกำลังในการแสดงความกตัญญูของลูก ให้เขาภาคภูมิใจในการความกตัญญู เช่น เมื่อเขาเป็นเด็กดี ช่วยงานบ้านพ่อแม่ ไม่ร้องไห้งอแง หรือเอาแต่ใจ
การจะสอนให้ลูกมีความกตัญญูได้นั้น อย่าไปบังคับพวกเขานะคะ พยายามทำให้เห็นและค่อย ๆ ปลูกฝังทีละน้อย เท่านี้ลูกก็จะยึดถือและทำตามสิ่งที่เราปฏิบัติให้พวกเขาเห็น แค่นี้ลูกน้อยของเราก็กลายเป็นเด็กที่มีความกตัญญูรู้คุณคนได้ไม่ยากแล้วละค่ะ
อ่านต่อเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
- อานิสงส์การดูแลพ่อแม่ 12 ประการ ที่ลูกกตัญญูจะได้รับ!
- สุดซึ้ง! หนูน้อย 3 ขวบ ยอดกตัญญูดูแลแม่ป่วยหนักเพียงลำพัง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่