จากผลการวิจัย พบว่าการ สูบบุหรี่ในบ้าน ส่งผลให้บุคคลที่อยู่ในครอบครัวมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 24% เด็กทารกที่มีผู้ปกครองสูบบุหรี่มีโอกาสเกิดภาวะไหลตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า
กระทรวงแจง “สูบบุหรี่ในบ้าน” ผิดกฎหมาย! บังคับใช้ 20 ส.ค. นี้
จากการจัดประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพครั้งที่ 18 ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ได้เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา หนึ่งในมาตรการควบคุมสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพอย่าง บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ได้ผลคือ มาตรการทางภาษี เป็นหัวหอกสำคัญในการลดอัตราบริโภค แต่ต้องดำเนินการมาตรการอื่น ๆ ควบคู่ด้วย ทั้งการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ การบังคับใช้กฎหมาย การสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม และการรณรงค์สร้างกระแสสังคมเพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหาและสร้างการมีส่วนร่วมในการร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหา
ศ. นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มีผลการวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่ หรือผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 24% และ 19% ตามลำดับเด็กทารกที่มีผู้ปกครองสูบุบหรี่มีโอกาสเกิดภาวะไหลตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีโอกาสเกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 47% และมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 39% จากการสำรวจปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไทยทั่วประเทศ ในปี 2561 โดย ศจย คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบมีครอบครัวที่ถูกสำรวจถึง 49 % มีสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่ และพบมีความสัมพันธ์กับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
จากผลการวิจัยนี้ พบว่า สารเคมีและสารพิษรวมถึงสารก่อมะเร็งในควันบุหรี่ ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า มีผลต่อสุขภาพของทุกคนในครอบครัวที่มีผู้สูบบุหรี่ โดยเฉพาะเด็ก ควันบุหรี่เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายที่สุดในบ้าน แม้ผู้ปกครองจะไม่ได้ สูบบุหรี่ในบ้าน หรือสูบในบ้านตอนไม่มีใครอยู่ ก็ยังคงมีสารพิษจากควันบุหรี่ ติดตามเสื้อผ้า ผนัง โซฟา เบาะหนังแท้ หนังเทียม รวมถึงในรถยนต์ เรียกว่า “บุหรี่มือสาม” ศูนย์สร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ได้ศึกษาเด็กก่อนวัยเรียนอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ พบว่า 50% ของผู้สูบบุหรี่ มีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย และเด็ก 16% ตรวจพบสารโคตินินในปัสสาวะ แสดงถึงสารพิษตกค้างในตัวเด็กจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง และเด็กกลุ่มที่ผู้ปกครองร่วมโครงการเลิกบุหรี่มือสอง มีระดับโคตินินในปัสสาวะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่า การได้รับพิษภัยจากบุหรี่มือสองและมือสาม เป็นภัยร้ายที่ไม่คาดคิดต่อชีวิตของลูกน้อย เพราะเด็กต้องใช้อากาศหรือสิ่งของร่วมกันกับผู้ใหญ่ในบ้าน เด็กทุกคนมีความฝันและเป็นความชื่นใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง ขออย่าทำลายความฝันเหล่านั้น ด้วยควันบุหรี่
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ควันบุหรี่มือสองและมือสาม ทำให้อากาศในบ้านมีสารพิษก่อให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ถ้าบุคคลใดในครอบครัวสูบบุหรี่ ถือว่าเป็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัวโดยเจตนาให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ในประเด็นความรุนแรงในครอบครัว โดยผู้ได้รับควันบุหรี่ ถือเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรง สามารถแจ้งศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวซึ่งมีทุกจังหวัด จากนั้นหัวหน้าศูนย์ส่งเสริมฯ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพ และมีอำนาจออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพได้เท่าที่จำเป็น พร้อมกับทำคำร้องและคำสั่งไปยื่นต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมง
โดยพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 นี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2562 และจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศ 90 วัน จึงจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ส.ค. 2562 นี้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ พม. จ่อตั้งศูนย์ระดับจังหวัด จับตา สูบบุหรี่ในบ้าน โดนดำเนินการตามกฎหมาย!
พม. จ่อตั้งศูนย์ระดับจังหวัด จับตา สูบบุหรี่ในบ้าน โดนดำเนินการตามกฎหมาย!
จากข่าวดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากฎหมาย ไม่ได้ห้ามสูบบุหรี่ในบ้าน โดยเด็ดขาดนะคะ กฎหมายนี้ มีเจตนารมณ์ที่ต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแก่บุคคลในครอบครัว ป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่ง “ความรุนแรงในครอบครัว” ตามกฎหมายฉบับนี้ หมายความว่า การกระทำใด ๆ ที่บุคคลในครอบครัวได้กระทำต่อกันโดยเจตนาให้เกิดหรือในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ สุขภาพ เสรีภาพ หรือชื่อเสียงของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อานาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ
กรณีของการที่ สูบบุหรี่ในบ้าน จะเข้าข่ายความผิดตาม พรบ.ฉบับนี้ ก็ต่อเมื่อ ควันบุหรี่ส่งผลกระทบให้คนในบ้านเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ป่วย และได้ผ่านกระบวนการในการตรวจสอบและพิสูจน์อย่างแน่ชัดจนสามารถยืนยันได้ว่าควันบุหรี่ทำให้คนในบ้านป่วยจริง ถึงจะเข้าสู่กระบวนการปรับพฤติกรรม คือเข้ารับการบำบัดและเลิกบุหรี่
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าแม้จะไม่ได้ห้าม สูบบุหรี่ในบ้าน แต่หากการสูบบุหรี่กระทบต่อสุขภาพของครอบครัว ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว เพื่อให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อไปได้ ตามที่ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อธิบายว่า
สาระสำคัญเพื่อแก้ไขป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัว นอกจากจะมีการระบุถึงการทำความรุนแรงทางกาย ตรงนี้ผิดกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ก็ยังมีถ้อยคำว่า หรือการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งตีความได้มากมาย เช่น สมมติพ่อดื่มเหล้าอาละวาดจนลูกไม่ได้นอนหลับพักผ่อน จนทำให้ป่วย การใช้งานเด็กมากเกินไปจนเป็นเหตุให้ป่วย และการสูบบหรี่ในบ้าน ซึ่งมีผลกระทบให้คนใกช้ชิดได้รับควันบุหรี่มือสอง และเกิดการเจ็บป่วย ทั้งหมดล้วนจัดเป็นความรุนแรง ถ้าคนข้างบ้านเห็นพฤติกรรมแบบนี้ก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าทีเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบ และส่งให้แพทย์พิจารณาว่าเป็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากการกระทำของคนในบ้านหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่ามีข้อมูลจริงว่ามีผู้ป่วยจากพิษของบุหรี่ เช่น มะเร็งปอด ทั้งนี้หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเกิดจากบุหรี่จริงก็จะมีการส่งฟ้องศาลเพื่อพิจารณา อาจจะเป็นการสั่งให้ปรับพฤติกรรม หรือจำกัดบริเวณการสูบเป็นต้น หากไม่ปฏิบัติตามก็จะมีการลงโทษที่แรงขึ้น
กฎหมายสูบบุหรี่ในบ้าน เมื่อถามว่าจำเป็นต้องให้มีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นจริงๆก่อน แล้วถึงจะสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ ถือเป็นช่องว่างหรือไม่ นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยก่อน แต่จริงๆ กฎหมายนี้เป็นคุณ เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้คนในครอบครัวกระทำการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว และเนื่องจากเป็นเรื่องภายในครอบครัวเราเองคงไม่สามารถที่จะไปสั่งห้ามไม่ให้เขาสูบบุหรี่ในบ้านตัวเองได้ จึงไม่น่าจะเป็นลักษณะของการรุกเข้าไป แต่อย่างไรก็ตาม หากทางเจ้าหน้าที่พบเห็นการกระทำที่เสี่ยงเช่นนี้สามารถเข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจให้เห็นถึงอันตรายทีจะเกิดขึ้น และให้ความรู้เรื่องการปรับพฤติกรรมได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คนในบ้านเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ และแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเกิดจากบุหรี่จริง ก็จะสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้
“หลังจากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ส.ค. นี้ จะมีการตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว โดยปรับการทำงานจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเข้ามาทำตรงนี้ โดยมีการวางแผนการทำงานร่วมกันในระดับจังหวัด ดูแล เข้มงวดทั้งเรื่องของสุรา ยาสูบ ยาเสพติด ในพื้นที่ด้วย” นายเลิศปัญญา กล่าว
จะเห็นได้ว่าควันบุหรี่มีผลต่อสุขภาพต่อบุคคลรอบข้างจริง โดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งเป็นบุคคลที่คุณพ่อคุณแม่รักที่สุด ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ สูบบุหรี่ในบ้าน หรือสูบขณะที่ลูกอยู่ก็ตาม ควันบุหรี่ก็สามารถติดตามเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ส่งผลต่อสุขภาพของลูกได้เช่นกัน ดังนั้น การเลิกบุหรี่ จึงเป็นทางแก้ที่ดีที่สุดค่ะ ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอเอาใจช่วยคุณพ่อทุกคนนะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
อย่าปล่อยให้บุหรี่เป็นจุดเริ่มต้น “ดับอนาคตลูก”
ควันบุหรี่มือสาม ทำร้ายลูกได้ 20 เท่า!!
ปอด อักเสบ ติดเชื้อ เพราะควันบุหรี่มือสอง
SIDS หรือไหลตายในเด็ก ภัยเงียบของลูกน้อย
ขอบคุณข้อมูลจาก : ส.ส.ส., Sanook, Bangkokbiznews
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่