เมื่อ ลูกติดแท็บเล็ต จนเริ่มแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว พ่อจึงต้องงัดไม้เด็ดขึ้นมารักษา จะเด็ดแค่ไหน ไปดูพร้อม ๆ กันค่ะ
คุณพ่อน้องจันทร์เจ้า ถึงขั้นทนไม่ไหว เมือลูกสาววัย 2 ขวบครึ่งเริ่มติดมือถือ จึงได้งัดมาตรการขั้นเด็ดขาดจนลูกหายได้สำเร็จ และนี่คือประสบการณ์ที่คุณพ่อ อยากแชร์ให้กับทุก ๆ ครอบครัว ผ่านเวปพันธิปชื่อดัง
สาเหตุที่ผมไม่ให้ลูกสาวเล่นสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตนี่ต้องเล่าย้อนไปเมื่อราว 3 ปีก่อน ลูกน้อยยังซุกตัวอยู่ในท้องคุณแม่เป็นเดือนที่ 7 ครั้งนั้นผมมีโอกาสได้ติดรถรุ่นพี่คนหนึ่งไปทำงานที่ต่างจังหวัดด้วยกัน พี่เค้าเลยถือโอกาสพาลูกชายวัย 5 ขวบไปเที่ยวด้วย แต่เนื่องจากเรานัดกันเช้ามากหนูน้อยเลยถูกอุ้มจากเตียงมานอนต่อในรถ
เวลาผ่านไปราวชั่วโมงนึง เด็กน้อยก็ตื่นมาด้วยสีหน้างง ๆ ว่าตัวเองอยู่ที่ไหนมาทำอะไร แต่คำแรกที่เค้าพูดขึ้นมาก็คือ
“พ่อ ไอแพดอยู่ไหน”
พ่อเด็กตอบกลับว่า “สวัสดีอาก่อนสิลูก”
เด็กน้อยสวนทันควัน “ไม่ เอาแท็บเล็ตมา”
พ่อเลยเริ่มดุ “เด็กไม่ดี พ่อไม่ให้หรอก”
แล้วเจ้าหนูน้อยก็เริ่มอาละวาดอยู่ที่เบาะหลัง ร้องไห้โวยวาย ทุบเบาะ พลางตะโกน “เอาแท็บเล็ตมา ๆ หนูเกลียดพ่อแล้ว พ่อไม่รักหนู…จอดรถเดี๋ยวนี้ หนูจะลงตรงนี้”
อาละวาดอยู่ได้สัก 2 นาที ตัวพ่อก็ใจอ่อนหยิบแท็บเล็ตส่งให้ เท่านั้นแหละกลายเป็นคนละคน นั่งเล่นเกม เปิด Youtube ดูการ์ตูน เงียบกริบจนผมนึกว่าหลานลงจากรถไปแล้ว
หลังจากที่เด็กน้อยได้แท็บเล็ตไปครอบครองเค้าก็ไม่วางมันอีกเลย ทั้งตอนจอดกินข้าวก็ต้องให้พ่อป้อนเพราะมือไม่ว่าง ทั้งระหว่างรอพ่อประชุมเป็นชั่วโมงก็ไม่มีเสียงบ่นสักแอะ…แท็บเล็ตนี่มันช่างวิเศษจริง ๆ
หลังเหตุการณ์นั้นไม่กี่วัน ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับรุ่นน้องคนหนึ่งซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางจิตเวชเด็ก ผมเล่าเหตุการณ์ที่เพิ่งพบเจอมาให้เธอฟัง คุณหมอถอนหายใจแล้วพูดกับผมว่า “พี่รู้ป่ะ วัน ๆ นี่หนูไม่ต้องทำอะไร นั่งบำบัดเด็กติดเกม ติดแท็บเล็ต มือถือนี่แหละ”
ในฐานะที่ผมเป็นว่าที่คุณพ่อผมจึงสนใจฟังเธอเป็นอย่างมาก ขอสรุปให้ฟังสั้น ๆ เท่าที่พอจะจำได้ว่า
1. เด็กมักจะสมาธิสั้น เพราะแท็บเล็ตสามารถตอบสนองความต้องการได้รวดเร็วดั่งใจ เพียงปลายนิ้วสัมผัส อยากเปลี่ยนเกม อยากเปลี่ยนไปดูการ์ตูนตอนอื่น เรื่องอื่น เพียงลากนิ้วเบา ๆ ก็ได้ดั่งใจแล้ว เด็ก ๆ จึงไม่ได้เรียนรู้การรอ การตั้งใจดูหรือเล่นอะไรตั้งแต่ต้นจนจบ
2. เด็กมักก้าวร้าว อันนี้ขึ้นกับว่าเล่นเกมที่มีความรุนแรงเกินวุฒิภาวะรึเปล่า เด็กมักจะจดจำสิ่งที่ตัวละครในเกมทำไปเล่นในชีวิตจริงบ้างโดยลืมไปว่า คนจริง ๆ นั้นเจ็บได้ เสียใจได้ ตายได้ และไม่สามารถกดรีเซ็ทได้เหมือนในเกม ส่วนที่ก้าวร้าวอีกแบบคือ ติดเกมมากจนแสดงออกแบบก้าวร้าวเพื่อให้ได้เล่นเกม แล้วผลที่ได้คือพ่อแม่ก็ยอมให้เล่น เด็กจึงจำว่าต้องก้าวร้าวแล้วจะได้เล่น
3. เด็กมักจะเก็บกด หมกมุ่น และขาดการปฎิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เข้าหาใครไม่เป็น ผูกสัมพันธ์กับคนอื่นไม่เป็น เพราะขาดการเรียนรู้กระบวนการเหล่านี้ เนื่องจากเกมและแอ็พต่าง ๆ ไม่ได้สอน
ผมตั้งใจฟังคุณหมอเล่าแล้วก็ตั้งปฎิญาณตนเลยว่าจะไม่ให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นกับครอบครัวเราเด็ดขาด
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ลูกน้อยของเราโตขึ้นทุกวัน ๆ แม้ว่าตัวผมกับภรรยาจะไม่ได้ให้ลูกเล่นมือถือ แท็บเล็ต แต่เรานี่แหละที่ใช้มันให้ลูกเห็นทุกวัน จนวันนึงเค้าก็เอ่ยปากขอว่า “หนูอยากดูเอบีซียูทูปค่ะ” แล้วเราก็เปิดให้เค้าดูเพราะหวังว่าการฟังเพลงภาษาอังกฤษนั้นจะเป็นประโยชน์กับเด็ก
แล้วเด็กน้อยก็เริ่มขอดูทุกคืนก่อนนอน ยิ่งนับวันยิ่งขอดูบ่อยขึ้นถี่ขึ้น เล่นโทรศัพท์เป็นมากขึ้น เริ่มกดเลือกเพลงเองเป็น กดหยุด กดเปลี่ยนเพลงเป็น จนผมเริ่มรู้สึกว่าเด็กน้อยเริ่มติดมันเข้าแล้ว
ผมจึงเป็นฝ่ายเริ่มคุยกับภรรยาอย่างจริงจังเพื่อออกมาตรการหักดิบ ด้วยการงดเล่นโทรศัพท์ให้ลูกเห็น ห้ามลูกจับโทรศัพท์และแท็บเล็ตของพ่อกับแม่เด็ดขาด ไม่ว่าลูกจะขอร้อง อ้อนวอน หรือร้องไห้โวยวายก็ห้ามใจอ่อน
คลิก! อ่านต่อมาตรการของคุณพ่อ
ทั้งตัวพ่อและแม่ปฎิบัติตามมาตรการนี้ได้เป็นอย่างดี ถึงขั้นที่ผมต้องไปแชทไลน์คุยงาน ตอบลูกค้าในห้องน้ำนานเกือบชั่วโมงก็เคยทำมาแล้ว ทั้งต้องพยายามหาสิ่งอื่นมาดึงดูดความสนใจของเค้า ไม่ว่าจะพาเล่นกีตาร์ ร้องเพลง ปั่นจักรยาน เล่นการ์ดคำศัพท์ อ่านนิทาน ซึ่งต้องใช้เวลาเยอะกว่าการส่งแท็บเล็ตให้เค้าเล่นอย่างแน่นอน
เวลาผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ ผลที่ได้คือ เด็กน้อยเข้าใจแล้วว่าโทรศัพท์มึไว้ใช้งาน ใช้คุยงาน ใช้คุยกับคนที่เราคิดถึง ไม่ได้มีไว้เล่นไว้ดูการ์ตูน และไม่เคยขอเล่นอีกเลย แถมหลายครั้งที่เห็นปู่เล่นแท็บเล็ตยังเข้าไปเรียกปู่ว่า “ปู่ ๆ ๆ มาเล่นกับหนูดีกว่า” แล้วก็ชวนปู่ไปวาดรูป อ่านนิทาน สนุกสนานตามธรรมชาติของเด็ก
ข้อคิดหนึ่งของผมจากเหตุการณ์ข้างต้นนี้คือ “สำหรับเด็กน้อย พ่อกับแม่คือโลกจริง ๆ ของเขา ลูกควรจะได้เรียนรู้ทุกอย่างผ่านโลกจริงใบนี้อย่างถ่องแท้ก่อนจะเริ่มไปเรียนรู้โลกเสมือนจากอินเทอร์เน็ต”
มือของพ่อแม่มีหน้าที่ประคองมือน้อย ๆ ของลูกขีดเขียนตัวหนังสือ และรูปต่าง ๆ แล้วมือน้อยนั้นก็จะได้รับรู้ทั้งความอบอุ่นจากมือ อ้อมแขน น้ำเสียงของพ่อแม่ไปพร้อมกับการขีดเขียนนั้น ซึ่งคงดีกว่าปล่อยให้มือเล็ก ๆ นั้นสไลด์ไปบนหน้าจอโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตเพียงลำพัง และสัมผัสได้เพียงไออุ่นจากความร้อนของจอสี่เหลี่ยมอย่างแน่นอน
ครั้งต่อไปที่คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายต้องเลือกว่าจะยื่นกระดาษกับดินสอสีแล้วใช้เวลาร่วมกับเค้า หรือยื่นแท็บเล็ตให้ลูกไปนั่งดูเงียบ ๆ พึงระลึกไว้สักหน่อยว่าเด็กน้อยที่นั่งอยู่ตรงหน้าคุณนั้นไม่เคยขอคุณมาเกิดเลย มีแต่พ่อ ๆ แม่ ๆ อย่างเรา ๆ นี่แหละที่นับวันเฝ้ารอวันที่จะได้เห็นหน้าเค้า ดังนั้นจงมอบสิ่งที่มีค่าที่สุดให้เค้าเถิด สิ่งมีค่าที่ไม่ต้องไปหาซื้อที่ไหน…”เวลา”
ด้วยรักและปรารถนาดี
จากพ่อน้องจันทร์เจ้า
จัดได้ว่าเป็นประสบการณ์ของคุณพ่อที่แชร์ได้ครบทุกแง่มุมจริง ๆ เลยนะคะ บางทีเราอาจจะไม่รู้หรอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากำลังทำเป็นประจำทุกวันอยู่นั้น ลูก ๆ กำลังมองดูเราอยู่ และคอยซึมซับพฤติกรรมทุกอย่างของเราโดยที่ตัวเราเองไม่รู้ตัว
คลิกอ่าน 5 ตัวอย่างที่ดีที่พ่อแม่ควรสอนลูก
เครดิต: Pantip
5 ตัวอย่างที่ดีที่พ่อแม่ต้องสอนลูก
1. ความซื่อสัตย์ ควรสอนลูกให้มีความซื่อสัตย์ในทุก ๆ เรื่อง ไม่สำคัญว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน
2. ความรับผิดชอบ สอนให้ลูกรู้จักหน้าที่ของตัวเอง และรับผิดชอบหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องของการตัดสินใจ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะฝึกให้ลูกมีหน้าที่รับผิดชอบการล้างจาน กวาดบ้าน พับผ้า และเก็บของเล่นทุกครั้ง เป็นต้น
3. การมีมารยาทที่ดี รู้จักกาลเทศะ มือไม้ต้องอ่อน มีมารยาทที่ดีกับคนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอายุมากกว่า อีกทั้งยังควรสอนลูกให้รู้จักกับคำสามคือคือ ขอบคุณ ขอโทษ สวัสดี
4. การรักษาความสะอาด ต้องอาบน้ำ ล้างหน้าแปรงฟันก่อนออกจากบ้าน แปรงฟันและอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง เพื่อลูกจะได้ปฏิบัติตาม และทำเป็นกิจวัตรประจำวัน สุขภาพจะได้แข็งแรง
5. ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สอนให้ลูกรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ช่วยเหลือคนด้อยโอกาส รู้จักแบ่งปัน และเห็นอกเห็นใจคนรอบข้าง
ดังนั้น หากอยากให้ลูกเป็นคนดี เราก็ควรทำสิ่งดี ๆ ให้เขาเห็น หากอยากให้ลูกเป็นเด็กเก่งฉลาด นอกจากความรู้วิชาการที่เราจะต้องมอบให้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราควรมอบให้กับลูกก็คือ การสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตนั่นเอง
เครดิต: ผู้จัดการออนไลน์
อ่านเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติม:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่