พบกับวิธีการรับมือเวลาที่ “ลูกอาละวาด ” ได้อย่างแยบยลโดยไม่ต้องลงไม้ลงมือให้เจ็บปวดใจทั้งสองฝ่าย
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่ออยู่ดี ๆ ลูกน้อยที่แสนจะน่ารักน่าชัง พูดจาไพเราะ กลับกลายเป็นเด็กก้าวร้าว อาละวาด เริ่มขว้างปาข้าวของ กระทืบเท้าและลงไปนอนชักดิ้นชักงอที่พื้น คุณพ่อคุณแม่รับมือกันอย่างไร เดินหนี ดุ ว่า หรือตี?! แน่นอนค่ะว่าการตีนอกจากจะทำให้ลูกเจ็บตัวและเสียใจแล้ว คนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเรา ๆ ก็เจ็บที่ใจด้วยเช่นกัน ก็ใครละคะ จะไปอยากตีกล่องดวงใจของตัวเอง
ดังนั้น วันนี้เราจะขอยกตัวอย่างเหตุการณ์จากคุณแม่ทางบ้านพร้อมกับคำแนะนำจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญทางด้านของพฤติกรรมเด็กมาฝากกัน จะเป็นอย่างไรนั้น เราไปอ่านบทความนี้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ
สวัสดีค่ะคุณหมอ ดิฉันมีลูกสาวหนึ่งคน ตอนนี้อายุได้ 3 ขวบครึ่งแล้วค่ะ แกเป็นเด็กฉลาด พูดเก่ง คล่องแคล่วว่องไวกว่าเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณแม่รู้สึกหนักใจ และรู้สึกว่าเป็นพฤติกรรมที่ยากเกินกว่าจะรับได้ก็คือ
ทุกครั้งเวลาที่มีเพื่อนมาเล่นที่บ้าน แล้วมาจับของเล่นที่ลูกกำลังเล่นอยู่หรือไม่ได้เล่นแล้ว ลูกของคุณแม่จะร้องกรี๊ดไม่พอใจ ทำให้ตอนนี้คุณแม่ไม่กล้าที่จะชวนใครมาเล่นที่บ้านแล้วละค่ะ แล้วเดี๋ยวนี้ลูกสาวของคุณแม่นอกจากจะชอบร้องกรี๊ดแล้วยังอาละวาดอย่างหนักในทุก ๆ เรื่อง แถมยังชอบออกคำสั่งให้คุณแม่หรือคนในบ้านทำตามในสิ่งที่เขาต้องการ หากไม่ทำตาม หรือคุณพ่อมาช่วยเขาจะรู้สึกไม่พอใจมาก ๆ เลยละค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
ลูกสาวคุณแม่สั่งให้คุณแม่ไปแต่งตัวให้ แต่ขณะนั้นคุณแม่ไม่ว่าง พอคุณพ่อมาช่วยทำเขาก็จะไม่พอใจร้องกรี๊ดและทิ้งเสื้อผ้าที่คุณพ่อใส่ให้ พร้อมกับขว้างกล่องนมที่คุณพ่อเตรียมให้ แต่ถ้าหากคุณแม่ทำให้ ลูกก็จะสงบลง ปัญหาคือ ตอนนี้คุณแม่ต้องดูแลลูกคนเล็กอีกคน ที่ตอนนี้อายุเพียง 4 เดือน เลยรู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยเพราะนอกจากจะต้องดูแลคนเล็กอย่างใกล้ชิดแล้ว ลูกสาวคนโตยังเรียกร้องความสนใจจากคุณแม่อีก คุณหมอว่าคุณแม่จะต้องทำอย่างไรดีคะ
คลิกอ่านคำตอบของคุณหมอได้ที่นี่ค่ะ
แค่คำถามก็โดนใจคุณแม่หลาย ๆ คนที่กำลังประสบปัญหาคล้ายกันนี้อยู่แล้วใช่ไหมละคะ ถ้าอย่างนั้นเราไปอ่านคำแนะนำของคุณหมอผู้เชี่ยวชาญกันเลยค่ะ
คุณหมอรับรู้ได้ถึงความรู้สึกของคุณแม่ว่ากำลังเหน็ดเหนื่อยและเครียดกับพฤติกรรมที่ท้าทายนี้ของลูกมากขนาดไหน ทำไมถึงเรียกว่าท้าทาย?! นั่นเป็นเพราะ คุณแม่จะต้องเลี้ยงดูลูกอ่อนวัยเพียง 4 เดือน ไปพร้อม ๆ กับลูกสาวที่มีอายุ 3 ขวบกว่านี่แหละค่ะ ที่ถือเป็น “เรื่องท้าทาย” เพราะคุณแม่กำลังเผชิญอยู่กับพายุลูกใหญ่ของเด็กช่วงวัย 3 – 4 ปีที่กำลังมีน้อง นอกจากลูกจะรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังโดยแย่งความรักไปแล้ว ยังรู้สึกสับสนและกำลังหาทางปรับตัวอยู่เช่นเดียวกัน แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะทำเช่นไร ดังนั้น สิ่งที่คุณแม่ควรทำได้ก็คือ ทำความเข้าใจ พร้อมกับเตรียมรับมือให้ถูกต้องและเหมาะสมตามพฤติกรรมของลูกนั่นเองค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
-
เมื่อลูกเริ่มร้องกรี๊ด
-
สาเหตุ: จากกรณีของคุณแม่นั้น สาเหตุที่ลูกร้องกรี๊ดออกมา นั่นเป็นเพราะเพื่อนมาจับของเล่นหรือของที่เป็นของลูกอยู่ ทำให้เขารู้สึกไม่พอใจ เพราะเด็กวัยนี้ จะเริ่มมีความรู้สึกของการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ หวง และไม่อยากที่จะแบ่งปันอะไรกับใคร
-
วิธีแก้ปัญหา: ในขณะที่มีเพื่อนมาบ้าน ไม่สำคัญว่าเด็ก ๆ กำลังต่างคนต่างเล่น หรือว่าเล่นด้วยกัน คุณแม่จะต้องแก้ปัญหาด้วยการให้เพื่อนนั้น นำของเล่นที่เป็นของเขาเองติดตัวมาด้วยหนึ่งชิ้น และตกลงกติกาการเล่นด้วยการแบ่งปันกันและกัน จะไม่มีการแย่งของเล่นออกจากมือเพื่อน เว้นเสียแต่ว่า เพื่อนจะเล่นเสร็จแล้ว เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเล่นของเล่นทุกชิ้นเหมือนกัน แต่จะต้องรักษาของให้ดี นอกจากนี้ จะต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแลเด็ก ๆ ตลอดเวลา เพื่อจะได้ค่อย ๆ ปลูกฝังและสอนทักษะการเข้าสังคมให้กับเด็ก ๆ ด้วย
-
-
ลูกชอบออกคำสั่ง
-
สาเหตุ: ลูกเลียนแบบสิ่งที่เขาเห็นทุกวันนั่นคือ พฤติกรรมของผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่โรงเรียน แต่สิ่งที่ลูกพบก็คือ ผู้ใหญ่กลับบอกให้เขาพูดดี ๆ ทั้ง ๆ ที่ผู้ใหญ่เองก็ยังทำไม่ได้ในบางครั้ง ทำให้ลูกไม่ยอมทำตาม พองอแงมาก ๆ คุณพ่อคุณแม่ก็จะตัดความรำคาญด้วยการทำตามในสิ่งที่ลูกสั่งให้ทำ จนทำให้ลูกติดกลายเป็นนิสัย และเรียนรู้ไปโดยปริยายว่า ถ้าเขาสั่งให้ทำคุณพ่อคุณแม่ก็จะทำ
-
วิธีแก้ปัญหา: จากประสบการณ์คุณหมอก็มักจะแนะนำให้คุณแม่หลาย ๆ ท่านใช้วิธีถามคำถามลูกก่อนว่า ที่พูดพูดมานั้น “หนูสั่งหรือว่าหนูขอ” แล้วก็บอกให้ลูกเลือกระหว่าง “เพราะถ้าหนูสั่งคุณแม่ก็จะไม่ทำตาม เพราะไม่มีใครชอบถูกสั่ง” “แต่ถ้าหนูขอ คุณแม่ก็จะต้องขอคิดดูก่อนว่าทำได้หรือไม่” เด็กหลายคนจะรู้สึกว่าการที่คุณแม่พูดมาแบบนั้น ไม่ได้เป็นการบังคับให้เขากำลังพูดดี ๆ แต่เขาสามารถเลือกได้ว่า จะสั่งหรือว่าขอ เท่านี้ละค่ะ ลูกก็จะให้การร่วมมือกับเรามากขึ้นไปเอง
-
อ่านคำแนะนำของคุณหมอเพิ่มเติมได้ที่หน้าถัดไป
-
ลูกอาละวาด ร้องกรี๊ดที่คุณพ่อมาช่วยเขาแทนที่จะเป็นคุณแม่
-
สาเหตุ: อย่างแรกที่ต้องดูเลยว่า ระหว่างความสัมพันธ์ของลูกกับคุณพ่อนั้นเป็นอย่างไร หากคุณพ่อไม่เคยช่วยเขาเจาะนมหรือไม่เคยทำอะไรด้วยกันมาก่อน เพราะส่วนใหญ่คุณแม่เป็นคนทำให้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า ลูกนั้นไม่ชิน หรืออีกมุมหนึ่ง ลูกรู้สึกว่า เอะอะอะไรคุณแม่ก็ทำให้น้องก่อน ไม่เหมือนสมัยก่อนที่คุณแม่จะทำให้เขาเป็นอย่างแรก ทำให้ลูกเรียกร้องความสนใจออกมาด้วยวิธีนี้
-
วิธีแก้ปัญหา: คุณแม่ควรที่จะจัดช่วงเวลาพิเศษที่สามารถอยู่กับลูกสาวคนโตได้โดยไม่มีน้องคนเล็ก เข้าใจว่าหายาก แต่อย่างน้อยก็ควรทำ หรืออาจจะให้คุณพ่อหรือคุณยายมาช่วยเลี้ยงน้องคนเล็กสลับกันไปก่อน เพื่อที่จะได้ให้ความสำคัญกับลูกคนโตบ้าง พร้อมกับแสดงให้ลูกได้รู้ว่า ลูกยังคงเป็นสุดที่รักของคุณแม่อยู่เหมือนเดิม ก็จะช่วยลดพฤติกรรมการเรียกร้องความสนใจไปได้ แต่ถ้าหากว่าลูกยังไม่หายและไม่พอใจที่คนอื่นมาทำให้แล้วละก็ ให้คุณแม่ลองแกล้งทำไม่สำเร็จ และให้คุณพ่อนั้นสวมบทฮีโร่ทำได้ หรือพยายามหาวิธีกระตุ้นให้เขาทำเอง แบบนี้ก็จะช่วยแบ่งเบาไปได้เยอะเลยละค่ะ
-
สุดท้ายสิ่งที่คุณหมออยากฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ทุก ๆ คนก็คือ คุณหมอขอเป็นกำลังใจให้ด้วยการปรับมุมมองของลูกใหม่ เพื่อให้เข้าใจและสามารถรับมือกับพฤติกรรมของลูกได้ เพียงเท่านี้เราก็สามารถรับมือกับลูกจอมเหวี่ยงวีนได้โดยไม่ต้องลงไม้ลงมือได้อย่างง่ายดายแล้วละค่ะ
เครดิต: พญ.นลินี เชื้อวณิชชากร กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่