ประสบการณ์ตรงจากคุณแม่ทางบ้าน เมื่อลูกชายป่วยเป็น ไวรัสไข้สูง ที่ไม่ว่าจะหาสาเหตุจากผลการตรวจน้ำมูก หรือการนำเอาเลือดไปตรวจเพาะเชื้อก็ไม่เจออะไร!
คุณแม่เล่าว่า ปกติแล้วลูกชายเป็นเด็กที่ร่าเริงสดใส แข็งแรงดี เช่นเดียวกับวันที่เกิดเรื่องนั้น ลูกชายไม่ได้มีอาการใด ๆ ที่แสดงว่าตัวเองป่วยหรือไม่สบายเลย จนกระทั่งตกเย็น ก่อนที่จะพาลูกไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าคุณแม่ถึงได้รู้ว่าลูกของตัวเองนั้นตัวร้อน พอนำปรอทมาวัดก็พบว่า ลูกชายมีไข้สูงมากถึง 40 องศาเลยทีเดียว!
และด้วยประสบการณ์การเห็นหลานสาวของตัวเองชักต่อหน้า ทำให้คุณแม่เกิดความรู้สึกกลัวว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นกับลูกชายของตัวเอง จึงได้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในทันที คุณหมอได้นำตัวน้องไปเช็ดตัว และให้ยาลดไข้ พร้อมกับนำน้ำมูกและเลือดไปตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุต่อไป
ในระหว่างที่เข้ารับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนั้น ลูกชายมีไข้สูงโดด 39-40 องศา เรียกได้ว่าเป็นเด็กคนเดียวที่มีไข้สูงที่สุดในวอร์ดเลยก็ว่าได้ เล่นเอาพยาบาลวิ่งกันวุ่นตลอดเวลา หนำซ้ำทานอะไรก็อาเจียนออกมาหมด เพราะฤทธิ์ของไข้ และในที่สุดผลของการตรวจน้ำมูกและตรวจเลือดก็มาถึง คุณหมอแจ้งว่า ไม่พบโรคใด ๆ ที่กำลังฮิตอยู่เลย ไม่ว่าจะเป็น โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก รวมถึงโรคต่าง ๆ ที่อยู่ในกลุ่มของมือ เท้า ปากเลย คุณหมอจึงแจ้งว่า สาเหตุที่น้องมีไข้ขึ้นสูงนั้น น่าจะเกิดจาก ไวรัสชนิดหนึ่ง หรือที่เราเรียกกันว่า “ไวรัสไข้สูง” นั่นเอง
“ไวรัสไข้สูง” ที่ว่านี้นั้น ไม่มียาเฉพาะทางใด ๆ รักษา ทำได้แต่เพียงให้ยาบรรเทาอาการไป และไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าการรอให้ไข้ลดลงไปเอง ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่ภายในวันหรือสองวัน ซึ่งลูกชายของคุณแม่ มีไข้สูงนานถึง 5 วัน และต้องให้น้ำเกลือ ยาลดไข้สูงสลับกับยาลดไข้ต่ำ รวมถึงให้ยากันชักกันเอาไว้ตลอดที่ไข้ขึ้นสูง
เรียกได้ว่า กว่าที่ไข้จะลดลงจนหายไปได้เองนั้น ต้องใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลนานถึง 7 วัน เล่นเอาคุณแม่ถึงกับเครียด แต่ก็นับได้ว่ายังโชคดีที่ผลการตรวจต่าง ๆ นั้น ไม่เจออะไร เว้นเสียแต่มีไข้สูงโดดเท่านั้นเอง คุณแม่จึงอยากฝากเตือนคุณแม่ทุกคน ให้คอยเฝ้าระวังดูแลลูก และที่สำคัญควรมีปรอทวัดไข้ติดบ้านเอาไว้ทุกครั้งด้วยเช่นกัน
คลิกเพื่ออ่านสาเหตุของการเกิดไข้ ได้ที่หน้าถัดไป
คุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะเกิดความสงสัยว่า มีด้วยหรือ “โรคไวรัสไข้สูง” ที่ถึงแม้แต่หมอก็หาสาเหตุไม่เจอ คำตอบก็คือ มีค่ะ ซึ่ง โรคไวรัสไข้สูง นี้แค่ชื่อก็ทราบแล้วว่า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่มากับอากาศ และมักจะเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือเด็กโต และมักจะเกิดการแพร่ระบาดทุกครั้งเมื่ออาการเปลี่ยนแปลงบ่อย
ไข้ หรืออาการตัวร้อนคืออะไร?
ไข้ คือ การที่อุณหภูมิร่างกายสูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส และถ้าหากร่างกายมีอุณหภูมิมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปนั้น จัดได้ว่าเป็นไข้สูง ซึ่งอาจจะทำให้เด็กเล็กเกิดอาการชักได้ ซึ่งอาการดังกล่าวนั้น ไม่จัดว่าเป็นโรค หากแต่เป็นอาการหนึ่งที่อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นกว่าปกติ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองเมื่อมีการติดเชื้อโรคหรือมีการเจ็บป่วยจากสาเหตุบางอย่าง โดยไข้จะเกิดอยู่เพียงชั่วคราวเฉพาะในช่วงที่เกิดโรค หรือมีการเจ็บป่วย
เวลาที่มีไข้ ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกส่วนของร่างกายจะต้องร้อนเท่ากันหมด อาจจะร้อนที่ศีรษะ ลำตัว และแขนขา แต่ฝ่ามือฝ่าเท้าเย็นก็ได้
สาเหตุของการเกิดไข้นั้น ก็มีมากมาย และมีระยะเวลาที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเชื้อไวรัสที่เป็น เช่นเดียวกับ “ไวรัสไข้สูง” ที่มีอาการไข้สูงโดดนานหลายวัน และไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่า การคอยตรวจวัดไข้ และให้ยาลดไข้บรรเทาอาการไป
ระดับความรุนแรงของไข้ นั้น สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
- อุณหภูมิปกติของร่างกาย มีอุณหภูมิระหว่าง 36.6 – 37.2 องศาเซลเซียส
- ไข้ต่ำ ร่างกายจะมีอุณหภูมิระหว่าง 37.2 – 38.2 องศาเซลเซียส
- ไข้ปานกลาง จะมีอุณหภูมิระหว่าง 38.2 – 39.2 องศาเซลเซียส
- ไข้สูง จะมีอุณหภูมิระหว่าง 39.2 – 40.3 องศาเซลเซียส
- ไข้สูงมาก / ไข้สูงเกิน จะมีอุณหภูมิมากกว่า 40.3 องศาเซลเซียส ซึ่งจัดว่าอันตรายที่สุด มักเกิดจากการติดเชื้อโรคชนิดที่มีความรุนแรงสูงมากในกระแสเลือด แต่ที่พบได้บ่อยคือเกิดจากภาวะมีเลือดออกในสมอง
คลิกอ่านอาการของไข้เพิ่มเติมได้ที่หน้าถัดไป
เครดิต: Medthai
อาการของไข้
- ในระยะเริ่มต้นของการมีไข้ หรือที่เรียกกันว่า ระยะหนาวสั่น ผู้ป่วยจะมีอาการหนาวสั่น ซึ่งระยะเวลาในการสั่นอาจแค่ 2-3 นาที หรือนานเป็นชั่วโมงขึ้นอยู่กับสาเหตุ
- เมื่ออุณหภูมิถึงระดับที่กำหนดแล้วจะไม่เกิดความรู้สึกร้อนหรือหนาวทั้ง ๆ ที่อุณหภูมิสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้น ผิวหนังของผู้ป่วยจะเริ่มอุ่น ใบหน้าแดง รู้สึกร้อน การเผาผลาญมากขึ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ร่างกายขาดน้ำ พบปัสสาวะน้อยลง เนื่องจากเสียน้ำมากจากกระบวนการระบายความร้อนออกจากร่างกาย การเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง การดูดซึมอาหารไม่ดี เสียน้ำทางเหงื่อและทางการหายใจมากขึ้น จึงอาจทำให้มีอาการท้องผูก หากเกิดเป็นเวลานานเนื้อเยื่อร่างกายถูกทำลาย ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว กล้ามเนื้อไม่มีแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการซึม กระสับกระส่าย และปวดศีรษะ เมื่อสาเหตุของไข้ถูกกำจัดไปแล้ว อุณหภูมิของร่างกายจะลดลง รวมถึงลดการสร้างความร้อนภายในร่างกาย เลือดไปเลี้ยงผิวหนังได้มากขึ้น จึงมีการหลั่งเหงื่อออกมามากขึ้น
- เมื่อมีไข้สูงหรือไข้สูงเกิน อาจส่งผลต่ออาการทำงานของสมองได้ ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการสับสน กระสับกระส่าย เห็นภาพหลอน หรือมีอาการชักได้ในที่สุด ซึ่งอาการดังกล่าวนั้น จะพบมากในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
ทำอย่างไร เมื่อลูกมีไข้
เมื่อรู้สึกว่าลูกมีไข้ ให้คุณแม่ปฏิบัติตามวิธีการดังต่อไปนี้
- ให้ยาลดไข้ ซึ่งยาลดไข้ที่ดีที่สุดคือยาพาราเซตามอล เพราะมีฤทธิ์ข้างเคียงน้อย และไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ส่วนยาจูนิเฟนมีผลดีในการลดไข้และป้องกันการชักจากไข้สูงได้ดีกว่าพาราเซตามอล แต่มีฤทธิ์ข้างเคียง คือ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
- รีบเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัด เพราะจะทำให้หลอดเลือดตีบและระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ยาก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการหนาวสั่นได้ ควรป้อนยาลดไข้ทันทีเมื่อมีไข้ร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้ 30 นาทีและออกฤทธิ์สูงสุด 1 ชั่วโมง คงสภาพได้ 4 ชั่วโมง ดังนั้นหากไข้สูงระหว่างมื้อยา ให้เช็ดตัวลดไข้ หากมีอาการหนาวสั่นควรให้ความอบอุ่นก่อนแล้วจึงเช็ดตัว
- ให้ลูกดื่มน้ำให้มาก เพื่อเป็นการชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป
- ใส่เสื้อผ้าโปร่ง ไม่ควรใส่เสื้อผ้ายืด เพราะทำให้ร่างกายระบายความร้อนออกได้ยาก
- อยู่ในห้องที่มีอาการถ่ายเทได้สะดวก
เครดิต: โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่