เมื่อไหร่ก็ตามที่ ลูกปวดหัว คุณพ่อคุณแม่อย่าได้นิ่งนอนใจ เพราะอาการปวดหัวดังกล่าว อาจเป็นอาการที่บ่งบอกถึงโรคบางอย่างก็เป็นได้!
คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองบางท่านอาจจะตั้งคำถามว่า “ลูกปวดหัว ได้ด้วยหรือ?” คำตอบก็คือ ได้ค่ะ เพียงแต่ว่าตอนเล็ก ๆ ลูกอาจจะยังสื่อให้พวกเราเข้าใจไม่ได้ อาจจะมีบ้างที่บอกว่า “เจ็บหัว” หรือ “แสดงออกด้วยการร้องไห้งอแง” แต่เมื่อไหร่ที่เขาเริ่มโตขึ้น ลูกจะสามารถเริ่มอธิบายถึงอาการดังกล่าวได้มากกว่าเดิม
คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่คะว่า อาการปวดหัวของเด็กนั้น จะพบได้มากในเด็กที่อยู่ในวัยเรียน และอาการดังกล่าว จะเริ่มดีขึ้นหรือหายได้เองภายหลังจากที่ลูกรับประทานยาแก้ปวดและได้นอนพักแล้ว
อาการปวดหัวของลูกเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไรได้บ้าง?
- อาการปวดหัวเฉียบพลันในเด็กอันเกิดจากเวลาที่ลูกมีไข้ ความเครียด อุบัติเหตุ หรือการได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อันเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
- อาการปวดหัวเรื้อรังในเด็ก ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจากอาการผิดปกติของอวัยวะบนใบหน้า ยกตัวอย่างเช่น หูชั้นกลางหรือไซนัสอักเสบ ฟันผุ สายตาผิดปกติ มีบ้างที่ ลูกปวดหัว อันเนื่องมาจากกลุ่มอาการไมเกรน ภาวะเลือดออกในสมอง หรือเนื้องอกในสมอง เป็นต้น
- สำหรับบ้านไหนที่มีลูกสาวที่โตแล้ว การปวดประจำเดือน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่จะไปกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวได้เช่นกันค่ะ
- อาการปวดหัวอันเกิดจากการได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง หากไม่รุนแรงถึงขั้นทำให้เด็กหมดสติ อาการปวดหัวมักไม่รุนแรงมาก อาการดังกล่าวก็จะสามารถหายได้เองภายใน 2-3 วัน
ดูแลอย่างไร เมื่อ “ลูกปวดหัว”
ในยามที่ ลูกปวดหัว คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกได้ไม่ยาก หากทราบถึงสาเหตุของอาการดังกล่าวและแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุด ยกตัวอย่างเช่น
- วิธีการดูแลลูกในกรณีที่ปวดหัวแบบไม่รุนแรง หากลูกยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถดูแลลูกได้ด้วยการสังเกตและเฝ้าติดตามอาการในเบื้องต้นว่า สาเหตุที่ ลูกปวดหัว นั้น เป็นเพราะอะไร สามารถแก้ไขได้หรือไม่ หากเป็นเพราะลูกเครียดเรื่องการเรียน คุณพ่อคุณแม่ก็ควรที่จะเป็นที่ปรึกษาลูก และไม่ควรที่จะดุหรือว่าลูกอีก เพราะการกระทำดังกล่าว อาจจะเป็นการกระตุ้นให้อาการดังกล่าวเป็นมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้
- หากลูกปวดหัวแต่ไม่มีไข้หรือไม่มีอาการอื่นแทรกแซง แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ให้ยาแก้ปวดกับลูก ยกตัวอย่างเช่น ยาพาราเซตามอล เป็นต้น หลังจากนั้นก็ควรให้ลูกนอนพักผ่อนให้เต็มที่
- ในกรณีที่ลูกปวดหัวเพราะสาเหตุของการได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง คุณพ่อคุณแม่ ควรที่จะเฝ้าดูแลอาการของลูกอย่างใกล้ชิด และต้องสังเกตว่า ลูกมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงหรือไม่ มีอาเจียนพุ่ง หรือซึมลงหรือเปล่า ซึ่งอาการดังกล่าวนั้น เป็นอาการที่บ่งชี้ว่า ลูกอาจจะมีเลือดออกในสมองก็เป็นได้ และสำหรับการส่งเด็กไปเพื่อรับการตรวจเอ็กซเรย์กระโหลกศีรษะหรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ทันที่หลังได้รับการกระทบกระเทือนนั้น ไม่มีประโยชน์ค่ะ เว้นเสียแต่ว่า ลูกมีอาการเปลี่ยนแปลงในสมองจนสังเกตเห็นได้ชัด หรืออาจจะมีอาการอื่นป่วยร่วมด้วย