AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

อาการขาดความรัก ของ “พี่” เมื่อมี “น้อง”

หลังจากที่ลูกสาวคนน้องเกิดมา คนพี่ก็เริ่มมีพฤติกรรมการอ้อนมากขึ้น นั่นคือ อาการขาดความรัก ของ “พี่” เมื่อมี “น้อง”

Q: ลูกสาวคนโตอายุ 4 ขวบ ตอนคลอดลูกสาวคนที่ 2 ใหม่ๆ อยากจะดูแลน้องมาก แต่หมู่นี้ ลูกคนโตอ้อนมากขึ้นจนดิฉันลำบาก

A: เมื่อน้องชายหรือน้องสาวเกิดมา กล่าวได้ว่าแทบทุกบ้าน ลูกคนโตจะมีพฤติกรรมที่ “กลับเป็นเด็กทารก” นั่นเป็นเพราะว่าลูกรู้ว่าความรักของคุณแม่จะหันเหไปยังน้องสาวหรือน้องชาย จึงแสดงพฤติกรรมที่คล้ายกับเด็กทารก เช่น อยากดูดนมคุณแม่ หรือ ต้องสวมผ้าอ้อมถึงจะปัสสาวะได้ เป็นต้น เพื่อบอกคุณแม่ว่า “แม่ขา ดูหนูด้วยซิคะ แม่”

นี่คือ สัญญาณของ “การขาดความรัก” จากผู้เป็นแม่ค่ะ ขอให้คุณแม่หมั่นกอด หมั่นเติมเต็มความรักให้ลูกคนโตด้วย จะให้ลูกคนโตดูแลลูกคนเล็กด้วยกันก็ได้ค่ะ เช่น เวลาเปลี่ยนผ้าอ้อมน้องก็แปะยึดผ้าอ้อมข้างหนึ่งของพี่ก็ได้ หรือ เวลาให้นมน้อง ก็ให้พี่เฝ้ามองดูน้อง ก็จะเป็นอีกวิธีการหนึ่งนะคะ แล้วพูดกับคนพี่ว่า “น้องบี บอกขอบคุณพี่เออยู่นะ ตอนพี่เอเล็กๆ พี่เอก็ดื่มนมจากอกแม่แยะๆ แบบนี้เหมือนกัน แม่รักพี่เอมากๆ เลยนะ”

ลูกต้องการเพียงจิตใจของคุณแม่เท่านั้นนะคะ เมื่อจิตใจของลูกเกิดความพอใจแล้ว ลูกก็จะพยายามเป็น “พี่ชาย” “พี่สาว” ที่ดี เพื่อให้คุณแม่ดีใจ ลูกคนโตเองก็พยายามอย่างถึงที่สุดอยู่เช่นกันค่ะ ดังนั้น ในบางครั้ง จึงจำเป็นต้องเล่นกับเขาด้วยความรู้สึกที่ว่า “เวลานี้ แม่เป็นของพี่เอคนเดียวเท่านั้น” แค่เพียงชั่วเวลาสั้นๆ เท่านั้นก็พอค่ะ ในเวลาดังกล่าว หากคุณแม่เล่นกับลูกคนโตด้วยหัวใจของคุณแม่ ลูกคนโตก็จะไม่ร้องบอกว่า “เอาอีก เอาอีก” จนทำให้คุณแม่ที่รักต้องลำบากใจ เพื่อไม่ให้ลูกกลับเป็นเด็กทารกอีกครั้ง จึงควรที่จะให้ความสำคัญต่อช่วงเวลาที่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกทุกขณะค่ะ

Mom Sharing – มยุรี มุกดาทอง

มีอยู่ช่วงหนึ่ง ลูกสาวบ่นว่าดิฉันบ่อยครั้งว่า “แม่ไม่รักรินจัง” “แม่ทำแต่เรื่องของตัวเอง (งาน)” พอไปส่งที่โรงเรียน แล้วดิฉันต้องไปทำงาน ลูกก็ไม่ยอมให้ไป บอกว่า “อยู่กับรินจัง อีกนิดหนึ่งนะคะ” ดิฉันเริ่มสงสัยแปลกใจกับพฤติกรรมของลูกในขณะนั้น จึงได้ย้อนทบทวนดูตัวเองที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าดิฉันไม่มีเวลาให้ลูกสาวจริงๆ มัวทำแต่งาน คิดถึงแต่เรื่องตัวเองจริงๆ

มีอยู่วันหนึ่ง ดิฉันติดทำงานแปลเอกสารจนไม่มีเวลาเล่นกับลูกเลย ตกเย็นลูกเริ่มงอแง ดิฉันจึงทิ้งงานแปลชั่วคราว หันมาทำแพนเค้กกับลูก ปรากฎว่าประมาณ 10 นาทีหลังจากนั้น ลูกสาวหันไปเล่นของเล่นที่เล่นอยู่ก่อนหน้านั้น ด้วยอารมณ์ที่ดีมาก

ดิฉันจึงใช้วิธีนี้กับตอนที่ไปส่งลูกที่โรงเรียนค่ะ ทิ้งความคิดทั้งหมดออกไป คิดถึงแต่ลูก ณ เวลานั้น กอดลูกไว้แน่น แล้วกระซิบข้างหูว่า “แม่รักรินจังมากๆ นะ” พอถึงเวลาดิฉันบอกลูกว่า “แม่ต้องไปทำงานแล้วนะ” ลูกบอกด้วยเสียงสดใส ใบหน้าอิ่มเอิบว่า “ค่ะ” ไม่งอแง ไม่บอกว่า “อยู่กับรินจังอีกนิดหนึ่งนะคะ” ให้ดิฉันลำบากใจอีกเลย

สิ่งที่อยากบอกคุณแม่ทั้งหลายก็คือ การเติมเต็มความรักให้กับหัวใจลูก ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเป็นวันๆ ใช้เวลาเพียงแค่ 10 นาที โดยที่จะต้องให้หัวใจเราอยู่กับเขาจริงๆ ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ก่อน จะทำให้หัวใจลูกอิ่มหมีพีมันด้วยความรักของเรา แล้วไม่หันมางอแงหรืออ้อนกับเราเลย

 

เรื่อง : สถาบันวิจัยครอบครัวศึกษาโตเกียว

ที่มา kateikyoiku.jp

แปล : มยุรี มุกดาทอง

ภาพ : Shutterstock