พบกับ 7 วิธี ป้องกันพี่อิจฉาน้อง ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นได้ที่นี่! พ่อแม่ที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไปห้ามพลาด!
สำหรับครอบครัวไหนที่มีลูกมากกว่าสองคนขึ้นไป หรือกำลังจะมีในไม่ช้านี้นั้น ปัญหาหนึ่งที่จะต้องเจอเลยก็คือ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้อง พี่อาจจะรู้สึกว่า ทำไมใคร ๆ ก็รักและเล่นแต่กับน้อง ไม่มีใครเลยที่จะให้ความสำคัญกับตัวเขาเอง ดังนั้น เนื้อหาที่ทีมงาน Amarin Baby and Kids จะนำมาฝากในวันนี้ก็คือ 7 วิธี ป้องกันพี่อิจฉาน้อง และการกระชับความสัมพันธ์ให้พี่รู้สึกรักน้องแบบไม่มีนอยด์!
การต้อนรับน้องตัวเล็กสำหรับพี่ ๆ ที่เคยเป็นที่หนึ่งของบ้านนั้น อาจเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่เกิดความกังวลใจว่าลูกจะสามารถปรับตัวได้หรือเปล่า จะเกิดความรู้สึกน้อยใจ อิจฉา หรือมีความรู้สึกขัดแย้งอื่น ๆ ที่ลูกคนโตต้องพบหรือไม่ ปัญหาที่ทุกครอบครัวต้องเผชิญ และปัญหานี้จะดีขึ้นและหมดไป หากคุณพ่อคุณแม่นำวิธีเหล่านี้ไปปฏิบัติตาม
7 วิธี ป้องกันพี่อิจฉาน้อง แบบได้ผล!
วิธีแรก: ระวังคำพูด
ข้อนี้ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนชอบทำ ยกตัวอย่างเช่น “แม่มีน้องใหม่เดี๋ยวก็ตกกระป๋องแล้ว” หรือ “อีกหน่อยแม่เขาก็ไม่เอาเราแล้วละ” คำพูดแบบนี้คือคำพูดแรกที่ไม่ควรพูดเป็นอย่างยิ่งเลยละค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการพูดเย้าแหย่ก็ตาม เด็กไม่ทราบหรอกค่ะว่า สิ่งที่คุณพูดนั้นคือการแกล้งด้วยความรักหรือเอ็นดู แต่เด็กจะฝังใจว่า อีกหน่อยพอน้องเกิดมา พ่อกับแม่ก็คงรักเขาน้อยลง นี่ละค่ะ! คือสิ่งที่ผู้ใหญ่อย่างเราต้องให้ความสำคัญและระมัดระวัง เพราะคำพูดเหล่านี้อาจจะทำให้เด็กเสียความมั่นใจ คิดว่าความรักที่พ่อและแม่เคยมีให้ตัวเองเพียงคนเดียวนั้น กำลังจะต้องถูกแบ่งไปให้น้องอีกคน ดังนั้น วิธีการ ป้องกันพี่อิจฉาน้อง ที่ดีที่สุดก็คือ นึกถึงจิตใจลูก และระวังคำพูดที่เราจะพูดออกไปให้มาก ไม่ว่าคำพูดนั้นจะเป็นก่อนหรือหลังที่ลูกมีน้องแล้วก็ตาม
วิธีที่สอง: สร้างความสัมพันธ์ตั้งแต่น้องยังไม่เกิด
เมื่อไรก็ตามที่เด็กที่เป็นลูกคนแรก กำลังรู้ว่าพวกเขากำลังจะมีน้อง ความรู้สึกแรกที่ลูกสามารถรับได้คือ ดีใจที่ตัวเองกำลังจะได้เป็นพี่ใหญ่ และไม่เป็นเบบี๋คนเล็กของบ้าน แถมมีเพื่อนเล่นด้วยอีกต่างหาก แต่เชื่อเถอะค่ะว่า พอลูกเริ่มคิดได้ หรือมีบางสิ่งบางอย่างทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่กำลังสนใจน้องที่อยู่ในท้องมากกว่าละก็ เมื่อนั้น ความรู้สึกน้อยใจ และความอิจฉาก็จะค่อย ๆ มีขึ้น … ซึ่งวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การดึงเอาลูกเข้ามามีส่วนร่วมกับการตั้งครรภ์นั้นด้วยเสียเลยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ให้ลูกลูบท้องพูดคุยกับน้อง ให้ลูกช่วยทาครีมที่ท้องให้ ให้ลูกเล่านิทานก่อนนอนให้น้องฟัง เป็นต้น การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ละค่ะ ที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ได้ดีที่สุด
วิธีที่สาม: ให้ลูกดูรูปของตัวเองตั้งแต่เป็นทารก
การให้ลูกได้เห็นรูปของตัวเองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ไล่มาเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ลูกลืมตาดูโลกนั้น ช่วยได้มากเลยนะคะคุณพ่อคุณแม่ เพราะลูกจะเรียนรู้ว่า เขาผ่านประสบการณ์ตรงนั้นมาแล้ว และเขาก็กำลังจะเป็นพี่ใหญ่ ที่รู้เลยว่า น้องควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร อีกทั้งคุณพ่อคุณแม่ยังสามารถอธิบายรูปภาพได้อีกนะคะว่า เมื่อก่อนตอนที่ลูกยังอยู่ในท้องนั้น ท้องของแม่ใหญ่กว่านี้จ้ะ เมื่อหนูเกิดมา หนูเลี้ยงไม่ยากเลย แต่ก็มีร้องไห้บ่อย ๆ เพราะยังไม่สามารถพูดคุยได้ ดังนั้น เมื่อน้องออกมา หนูต้องเข้าใจและไม่โกรธน้องนะคะ และหนูจะต้องช่วยคุณแม่ดูแลน้อง เหมือนกับที่คุณแม่ต้องเลี้ยงหนูมานะจ๊ะ เป็นต้น