AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

The Power of Praise ชมลูกอย่างไรไม่ให้เสียคน

‘ลูกแม่เก่งที่สุดเลย!’

ในวันหนึ่งๆ เราได้ยินหรือพูดประโยคนี้กันบ่อยแค่ไหนคะ

ผู้เขียนเพิ่งไปเข้ากลุ่มคุณพ่อคุณแม่มาเมื่อสัปดาห์ก่อน ในกลุ่มวันนั้นมีนักการศึกษาเด็กมาร่วมด้วย เราพูดกันถึงเรื่อง ‘การชมเชย’ เด็กๆ ว่ามีประโยชน์หรือก่อให้เกิดโทษในภายหลังได้อย่างไรบ้าง

ผู้เขียนไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าการพูดชมลูกว่า ‘Good job!’ ด้วยความตื่นเต้นดีใจเมื่อเห็นลูกทำอะไรได้วันละไม่รู้กี่หน (ก็แหม… ลูกคนแรก เราย่อมตื่นเต้นเป็นธรรมดาใช่ไหมคะ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็น่าดีใจไปหมด) อาจจะทำให้ลูกโตขึ้นกลายเป็นคนหลงตัวเองและไม่กล้าเผชิญกับเรื่องยากๆ ก็เป็นได้

ทำไมน่ะเหรอคะ เรื่องนี้มีนักวิจัยหลายต่อหลายคนพยายามทำการศึกษาติดตามพฤติกรรมของพ่อแม่ และเด็กอย่างจริงจัง ที่น่าสนใจคืองานวิจัยของแครอล ดเว็ค (Carol Dweck) แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ใช้เวลาถึง 40 ปี ทำการศึกษากลไกการรับมือกับปัญหาและความสามารถในการปรับตัวของเด็ก ใน 14 ปีที่ผ่านมา

 

แครอลให้ความสนใจเป็นพิเศษกับเรื่องการชมเชย ว่าอาจจะเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กขาดความยืดหยุ่นในชีวิต แครอลติดตามพฤติกรรมของพ่อแม่ที่มีลูกอายุระหว่าง 14-38 เดือนว่าใช้คำชมตัวบุคคล (เช่น ฉลาดมากลูก!) หรือชมความพยายาม (หนูตั้งใจทำมากๆ เลย) มากกว่ากัน เมื่อเด็กเหล่านั้นอายุได้ 7-8 ปี แครอลก็กลับมาดูอีกครั้งว่าเด็กแต่ละคนมีความรู้สึกอย่างไรต่อการทดลองทำอะไรใหม่ๆ หรือความเชื่อว่าความฉลาดเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดหรือพัฒนาได้ โดยการให้เด็กลองทำโจทย์คณิตศาสตร์ 3 ชุด

อ่านต่อ “ชมลูกอย่างไร ไม่ให้เสียคน” คลิกหน้า 2

ชุดแรกง่าย เด็กทุกคนทำได้ (เด็กกลุ่มแรกได้รับคำชมว่าฉลาด ส่วนกลุ่มที่สองได้รับคำชมว่าใช้ความพยายามได้ดีมาก) ชุดที่สองตั้งใจให้ยากจนไม่มีเด็กคนไหนทำได้ กลุ่มแรกไม่ชอบและไม่อยากทำต่อ ในขณะที่กลุ่มที่สองรู้สึกว่าอยากจะลองทำอีก และเมื่อให้เด็กทั้งหมดลองทำชุดที่ 3 ซึ่งง่ายพอๆ กับชุดแรก ปรากฏว่ากลุ่มแรกทำได้แย่ลงกว่าเดิม ส่วนกลุ่มที่สองทำได้ดีกว่าเดิมมาก เมื่อให้ทุกคนเขียนโน้ตถึงนักเรียนอีกโรงเรียนว่าตนเองได้คะแนนเท่าไหร่ เกือบครึ่งของกลุ่มแรกโกหกว่าตัวเองได้คะแนนมากกว่าความเป็นจริง (ในขณะที่กลุ่มที่สองมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น)

หรือลูกเอารูปที่เพิ่งวาดเสร็จมาให้ดู แทนที่จะชมทันทีว่า ‘สวยจังเลยลูก’ ก็ให้พูดถึงรายละเอียดของสิ่งที่ลูกทำ เช่น ‘มีดอกไม้สีชมพูด้วย พระอาทิตย์สีเหลืองใหญ่กว่าเพื่อนเลย’ ฯลฯ ลูกก็จะรับรู้ได้ว่าพ่อแม่ใส่ใจกับความพยายามของเขา และอยากจะพยายามมากขึ้นไปอีก ไม่ใช่ทำเพื่อให้ได้รับคำชมว่าดี สวย เก่ง แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็เป็นความ(มัก)ง่ายของพ่อแม่ด้วยที่จะพูดอะไรกลางๆ ผ่านๆ ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ แต่ไม่ได้ส่งผลดีต่อลูกในระยะยาว

 

ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าหากเราจะสอนเรื่องความพยายาม ความตั้งใจ และความใส่ใจให้กับลูก ก็ต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน จากสิ่งที่เราพูดกับเขาอยู่ทุกวัน หากเราใส่ใจกับมันให้มากขึ้น ไม่ชมพร่ำเพรื่อหรือเพียงขอไปที เท่านี้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการบุคคล ที่จะส่งผลให้ลูกน้อยโตขึ้นเป็นคนมุมานะและสามารถจะเผชิญกับความผันผวนต่างๆ ในชีวิตได้เป็นอย่างดี ถือเป็นภูมิคุ้มใจที่พ่อแม่จะมอบให้กับลูกได้ใช้ติดตัวไปตลอดชีวิตนะคะ

 

เรื่อง : สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

ภาพ : Shutterstock