AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกชอบสั่งชอบกรี๊ด ทำอย่างไรดี?

ลูกชอบสั่ง ลูกชอบกรี๊ด ทั้งที่พ่อแม่ก็พยายามทำทุกอย่างจนกระทั่งคิดไม่ตกว่าจะแก้นิสัยนี้ของลูกเล็กอย่างไรดี ลองมาดูคำแนะนำจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเด็กกันค่ะ

Q: ลูกสาววัย 3 ขวบครึ่งที่ดูเป็นเด็กฉลาด พูดเก่ง ดูเหมือนจะทำอะไรได้เร็วกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน แต่กลับมีพฤติกรรมที่น่าหนักใจและคุณแม่เองก็เริ่มจะทนลูกไม่ไหวแล้วค่ะ

เริ่มตั้งแต่ลูกจะร้องกรี๊ดเวลามีเพื่อนมาเล่นที่บ้านแล้วมาจับของเล่นที่เขากำลังเล่นอยู่ หรือไม่ได้เล่นแล้ว จนคุณแม่ไม่กล้าชวนใครมาเล่นที่บ้าน นอกจากนี้ ลูกยังชอบร้องกรี๊ดและอาละวาดอย่างหนักถ้าเขา “สั่ง” ให้คุณแม่ทำอะไรให้ แต่คุณแม่ยังไม่สะดวกทำให้เขาตอนนั้น คุณพ่อเข้ามาช่วยแทนคุณแม่ เขาก็จะทึ้งเสื้อผ้าที่คุณพ่อใส่ให้ ขว้างกล่องนมที่คุณพ่อใส่หลอดให้เขา แต่พอคุณแม่ทำให้ เขาก็จะสงบลงได้ ปัญหาคือตอนนี้คุณแม่มีน้องเล็กอีกคนอายุ 4 เดือนทำให้รู้สึกเหนื่อยที่ต้องดูแลเจ้าตัวเล็ก แล้วเจ้าคนโตยังเรียกร้องจากคุณแม่อีก คุณหมอช่วยด้วยค่ะ

คุณหมอรับรู้ได้ว่าคุณแม่กำลังเหน็ดเหนื่อยและเครียดกับพฤติกรรมที่ท้าทายของลูก การที่ต้องเลี้ยงทั้งลูกน้อยอายุ 4 เดือนไปพร้อมกับลูกอายุ 3 ขวบกว่านับเป็นเรื่องท้าทายมากค่ะ เพราะคุณแม่ต้องเผชิญกับพายุลูกใหญ่ของเด็กช่วงวัย 3 – 4 ปีที่กำลังมีน้อง เพราะลูกเองก็กำลังสับสนและปรับตัวเช่นเดียวกันค่ะ

พฤติกรรมที่ลูกแสดงออกถือเป็นพฤติกรรมต่อเนื่องตามวัยของเด็ก ซึ่งเป็นไปได้ที่ลูกจะแสดงพฤติกรรมดังกล่าว  แต่ผู้ใหญ่ควรทำความเข้าใจและรับมือได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เราลองมาแยกแยะตามพฤติกรรมของลูกนะคะ

1. การร้องกรี๊ด

เมื่อเพื่อนมาจับของเล่นที่เขากำลังเล่นอยู่ หรือแม้แต่ไม่ได้เล่น นั่นเป็นเพราะเด็กวัยนี้เริ่มมี Sense of Belonging และอาจยังแบ่งปันไม่เป็น เด็กวัยนี้จะรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ และหวงของแม้ว่าเขาจะไม่ได้เล่นของเล่นชิ้นนั้นอยู่ก็ตาม

การแก้ปัญหา

แม้ว่าลูกจะร้องกรี๊ดอย่างนี้ และแม้ว่าเวลาที่เพื่อนมาแล้วดูเหมือนจะต่างคนต่างเล่น  แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ต้องการเล่นกับใคร คุณแม่อาจแก้ปัญหาด้วยการให้เพื่อนนำของเล่นของเขาติดไม้ติดมือมาด้วย และตกลงกติกาการเล่นกับลูกและเพื่อนก่อนเล่นด้วยกัน เช่น ทุกคนมีสิทธิ์เล่นของเล่นทุกชิ้น แต่หากมีใครกำลังเล่นอยู่ ต้องขอเพื่อนและรอให้เพื่อนเล่นเสร็จก่อน

ที่สำคัญต้องมีผู้ใหญ่อยู่ด้วยตลอดเวลาที่ลูกเล่นกับเพื่อน เพื่อฝึกทักษะสังคมให้เขาและเพื่อน (การแบ่งปัน สลับกันเล่นของเล่น) ตั้งกติกาว่าใครเล่นก่อนจะได้เล่นต่อ แต่ถ้าใครอยากเล่นก็ต้องรอจนกว่าอีกคนหยุดเล่น โดยผู้ใหญ่จำกัดเวลาให้ เช่น หนูจะเล่นต่ออีก 1 หรือ 2 นาทีแล้วจึงจะแบ่งเพื่อน (เด็กที่ฝึกแบบนี้แรกๆ จะไม่ยอมแบ่ง และไม่ยอมเลือก ซึ่งคุณหมอใช้วิธีเลือกให้และเมื่อหมดเวลาก็อาจต้องฝืนใจแงะเอาของเล่นออกจากมือเขา)

อ่านต่อ “วิธีรับมือลูกชอบสั่ง” คลิกหน้า 2

2. การสั่ง

เด็กบางคนชินต่อการพูดสั่ง เพราะเห็นตัวอย่างจากผู้ใหญ่ทำ (ทั้งที่บ้านและโรงเรียน) แล้วเลียนแบบ แต่ปัญหาที่พบ คือ ผู้ใหญ่มักบอกให้เด็กพูด “ดีๆ” และไม่ยอมทำตาม แต่พอลูกงอแงก็ตัดรำคาญด้วยการทำตามที่ลูกสั่ง จนลูกติด “สั่ง”

การแก้ปัญหา

เทคนิคที่คุณหมอมักแนะนำให้คุณแม่หลายท่านใช้ คือ ถามลูกก่อนว่า “หนูสั่ง หรือขอ” แล้วบอกให้ลูกเลือกระหว่าง “เพราะถ้าหนูสั่ง คุณแม่ก็จะไม่ทำตาม เพราะไม่มีใครชอบถูกสั่ง” “แต่ถ้าหนูขอคุณแม่จะคิดดูก่อนว่าได้ไหม” เด็กหลายคนรู้สึกไม่ได้ถูกบังคับให้พูด “ดีๆ” แต่เขาเลือกได้ว่า “จะสั่งหรือขอ” ก็จะร่วมมือมากขึ้น (ท่ามกลางน้ำตาและความหงุดหงิดของเขา)

3. การร้องกรี๊ดกับคุณพ่อที่มาช่วยเขาแทนที่จะเป็นคุณแม่

คงต้องมาสำรวจว่าความสัมพันธ์ระหว่างลูกสาวกับคุณพ่อเป็นอย่างไร หากคุณพ่อไม่เคยช่วยเขาเจาะกล่องนมมาก่อน ไม่เคยทำอะไรด้วยกันมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นคุณแม่ที่ทำให้ ก็เป็นไปได้ที่ลูกไม่เคยชิน หรืออาจเป็นเพราะช่วงนี้คุณแม่ทำอะไรให้เขาน้อยลงกว่าก่อน เพราะต้องแบ่งเวลาไปให้น้องเล็ก เขาก็อาจแสดงพฤติกรรมดังกล่าวเพื่อเรียกร้องความสนใจ

การแก้ปัญหา

ทั้งคุณพ่อคุณแม่ควรจัดช่วงเวลาพิเศษที่คาดการณ์ได้อยู่กับลูกสาวคนโต โดยไม่มีเจ้าตัวเล็ก (ฝากให้คนอื่นเลี้ยง หรือสลับกัน) เช่น ช่วงเย็นเมื่อลูกกลับจากโรงเรียนครึ่งชั่วโมงแรกเขาจะได้เล่นกับคุณแม่ตามลำพัง อีกครึ่งชั่วโมงคุณพ่อกลับมาถึงบ้านก็สลับมาเล่นกับเขา

การแก้ปัญหาความสัมพันธ์ดังกล่าวจะทำให้ลูกรู้สึกเป็นที่รักของคุณพ่อคุณแม่ และช่วยลดพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจได้  แต่หากเขายังมีงอแงก็อาจใช้วิธีให้เขาได้เลือก หรือเล่นเกมส์ ทายว่าวันนี้ใครจะเจาะหลอดนมลงกล่องได้ (กระตุ้นให้เขาทำเอง โดยคุณพ่อคุณแม่แกล้งทำไม่ได้ หรือทำไม่ทันเขา)

สุดท้ายคุณหมอขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ที่กำลังจะทนลูกไม่ไหวด้วยการปรับมุมมองลูกใหม่ เพื่อให้เข้าใจลูกมากขึ้นและสามารถรับมือกับพฤติกรรมของเขาได้นะคะ

 

เรื่อง: พญ.นลินี  เชื้อวณิชชากร  กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม

ภาพ: Shutterstock