คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กๆอายุประมาณ 2 – 4 ขวบ คงจะกำลังพึมพำๆ ว่าลำพังแค่สอนลูกให้รู้จักแบ่งขนม แบ่งของเล่น ยังแสนยากลำบาก แล้วจะเป็นไปได้อย่างไร ที่จะสอนลูกให้ “มีน้ำใจ” ได้ในพริบตา!
เป็นไปได้ค่ะคุณพ่อคุณแม่!
ก็เพราะว่าความมีน้ำใจคือความรู้สึกดีๆ ที่มีให้ผู้อื่น รวมถึงความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากการให้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นวิธีการที่จะสอนเด็กๆ ให้มีน้ำใจจึงต้องเป็นวิธีที่สามารถทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นก่อน แล้วความมีน้ำใจของเด็กๆ ก็จะเกิดขึ้นเองโดยปริยาย!
ทำไมเวลาสอนลูกให้มีน้ำใจ เช่น บอกให้เด็กแบ่งของเล่นให้ผู้อื่นถึงไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ?
เนื่องจากการบอกไม่สามารถทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจหรือเกิดความรู้สึกดีกับผู้อื่นได้ ในทางตรงข้ามกลับทำให้เด็กรู้สึกหวงแหนและเกิดความคับข้องใจ ครั้นแบ่งให้ก็กลัวว่าจะไม่ได้คืน แต่ครั้นไม่แบ่งก็เกรงจะถูกต่อว่าได้ เด็กจึงแบ่งให้เพราะความกลัวหรือตัดสินใจว่าจะไม่แบ่งก็เพราะความหวงที่เกิดขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ความมีน้ำใจเป็นเรื่องของความรู้สึกที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ เราจึงไม่สามารถสอนเด็กๆ ให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนมีน้ำใจได้จากการพูดสอนด้วยปากเปล่าเท่านั้น แต่ต้องทำให้ความมีน้ำใจเป็นเรื่องที่เด็กๆ สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นเรื่องใกล้ตัว
อ่านต่อ “3 ขั้นตอน ส่งเสริมลูกให้มีน้ำใจต่อผู้อื่น แบบทำได้จริง!” คลิกหน้า 2
การช่วยสนับสนุนให้ลูกของเราลงมือแสดงความมีน้ำใจให้ผู้อื่นจึงมี 3 ขั้นตอนดังนี้
1. ขั้นเตรียมน้ำใจ
คือการสร้างความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อผู้อื่น ทำได้โดยการอธิบายสถานการณ์ที่น่าเห็นอกเห็นใจหรือสถานการณ์ที่ผู้อื่นต้องการความช่วยเหลือ เพื่อช่วยให้ลูกเกิดความตระหนักถึงความรู้สึกของผู้อื่น
ยกตัวอย่างเช่น หากมีญาติที่กำลังไม่สบายอยู่ ถือเป็นโอกาสดีที่จะให้ลูกมีส่วนร่วมในการรับรู้ว่าญาติของเรากำลังป่วยเป็นอะไร และให้ลูกช่วยออกความคิดเห็นว่าจะให้กำลังใจญาติที่ป่วยอย่างไรดี โดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างในการแสดงความรู้สึกเห็นใจผู้อื่นและแสดงถึงน้ำใจที่อยากจะช่วยเหลือ
ตัวอย่างการสร้างความตระหนักถึงความรู้สึกผู้อื่น
- ลูกอยากให้กำลังใจญาติของเราอย่างไร
- เราจะทำอะไรไปเยี่ยมไข้ญาติของเราดี
- แม่คิดว่าญาติของเราทานอาหารที่โรงพยาบาลมาหลายมื้อแล้ว น่าจะอยากทานอาหารอย่างอื่นบ้าง แม่เลยจะทำอาหารไปเยี่ยมไข้ หนูอยากจะช่วยแม่เตรียมอาหารหรือหนูอยากจะทำอะไรไปเยี่ยมไข้ดีคะ
อ่านต่อ “ให้ลูก “ลอง” มีน้ำใจ ต้องทำอย่างไร” คลิกหน้า 3
2. ขั้นให้น้ำใจ
คือขั้นลงมือปฏิบัติให้ลูกได้แสดงความมีน้ำใจเลยจริงๆยกตัวเช่นเมื่อลูกตกลงว่าจะช่วยแม่ทำอาหารเพื่อไปเยี่ยมญาติคุณแม่ก็ต้องแบ่งหน้าที่ให้ลูกได้ช่วยทำกับข้าวจริงๆและพาเขาไปเยี่ยมไข้กับคุณแม่ด้วย
ความสำคัญของขั้นนี้คือ โอกาสที่ลูกจะได้สัมผัสความรู้สึกของการเป็นผู้ให้ด้วยตัวของเขาเอง เริ่มตั้งแต่การรับรู้ว่าความปรารถนาดีต่อผู้อื่นที่เกิดขึ้นในใจของเขาเป็นความรู้สึกอย่างไรการมองเห็นผลว่าสิ่งที่เขาทำให้กับผู้อื่นเป็นอย่างไรและสุดท้ายคือความรู้สึกดีๆที่เกิดขึ้นหลังจากการให้นั้นอิ่มเอมหัวใจมากแค่ไหนเป็นต้น
3. ขั้นมีน้ำใจ
คือขั้นการเน้นย้ำให้ลูกเกิดความตระหนักในตัวตนว่าเขาเป็นคนมีน้ำใจและมีความสามารถในการช่วยเหลือผู้อื่นให้ลูกเข้าใจว่าความมีน้ำใจเป็นเรื่องของทุกคนไม่ได้เป็นแค่เรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้นและไม่จำเป็นต้องรอให้โตขึ้นก่อนแล้วถึงค่อยทำ ขั้นนี้ทำได้ง่ายๆ ด้วยการพูดคุยกับลูกถึงสถานการณ์ที่เพิ่งผ่านมาว่าลูกมองเห็นอะไรคิดอย่างไรและรู้สึกอย่างไรและคุณพ่อคุณแม่รู้สึกอย่างไรที่ลูกสามารถแสดงความมีน้ำใจให้ผู้อื่นได้
นอกจากนี้การให้โอกาสลูกได้พูดถึงความรู้สึกของลูกเองในสถานการณ์ที่เขาเคยได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นมาก่อนว่ารู้สึกอย่างไรและนำความรู้สึกนี้มาเปรียบเทียบให้ลูกเห็นว่าเป็นความรู้สึกแบบเดียวกันกับที่เขาได้มอบให้ผู้อื่นเช่นกันก็จะสามารถช่วยเขาให้เข้าใจถึงความมีน้ำใจได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นด้วย
อ่านต่อ “ให้ลูก “ลอง” มีน้ำใจ ต้องทำอย่างไร” คลิกหน้า 4
ชื่นชม = พลัง
การดึงความรู้สึกนึกคิดของลูกออกมาอีกครั้งรวมถึงความชื่นชมภูมิใจที่คุณพ่อคุณแม่มีให้แก่ลูกนั้นจะกลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยผลักดันให้ลูกมีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปเพราะนอกจากจะช่วยทำให้ลูกมองเห็นภาพรวมของความมีน้ำใจได้ชัดเจนขึ้นแล้วยังทำให้ลูกมีทัศนคติที่ดีต่อตนเองและความมีน้ำใจอีกด้วย
ตัวอย่างการสร้างความตระหนักในตัวตน
- เมื่อเดือนก่อนที่หนูไม่สบายแล้วหนูต้องการให้แม่อยู่ใกล้ๆ ไม่อยากให้แม่ไปทำงาน เป็นเพราะหนูรู้สึกอย่างไร
- แล้วหนูรู้สึกอย่างไรเมื่อแม่หยุดงานแล้วอยู่ใกล้ๆ คอยดูแลหนู
- หนูว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นมีคุณค่ามากไหม
- เป็นความรู้สึกที่สำคัญสำหรับหนูไหม
- แม่ภูมิใจที่หนูมีความตั้งใจช่วยแม่ทำอาหารแล้วนำไปให้ญาติของเราเพื่อทำให้เขารู้สึกดีขึ้น หนูเป็นเด็กมีน้ำใจมากค่ะ
เรื่อง : ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพ : Shutterstock