AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

จิตแพทย์แนะ! ขอบเขตการลงโทษเด็ก ป้องกัน “เด็กบอบช้ำหลังถูกลงโทษ”

กรณี การลงโทษเด็ก ซึ่งเป็นข่าวจากประเทศญี่ปุ่น ที่พ่อกับแม่ลงโทษลูก ด้วยการปล่อยทิ้งไว้กลางทาง จนลูกหายไปกลางป่านานหลายวัน โชคดีที่เด็กรอดชีวิต .. นับเป็นข่าวที่ค่อนข้างสะเทือนใจว่า “พ่อแม่จำเป็นต้องลงโทษลูกขนาดนี้เลยหรือไม่?” จิตใจเด็กจะบอบช้ำหรือเปล่า และจริงๆแล้วในกรณีที่ลูกทำผิด ขอบเขตการลงโทษเด็ก ควรแค่ไหน…

ขอบเขต การลงโทษเด็ก แค่ไหนจึงจะพอดี

1. หากเด็กทำลายข้าวของ ทำทรัพย์สินเสียหาย รบกวนสาธารณะ เหล่านี้เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ทุกบ้านควรสั่งสอน และสั่งสอนทันทีด้วยไม่ทิ้งไว้ข้ามวัน

2. เมื่อพบเด็กกระทำรุนแรง พ่อแม่ที่ใส่ใจต้องหยุดการกระทำนั้นทันที แปลว่าท่านต้องอยู่บริเวณนั้น และเห็นความสำคัญถึงระดับทิ้งภารกิจตรงหน้าไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามเดินไปหยุดเด็กในทันที

3. การหยุดเด็กที่ได้ผลนอกจากทำทันทีแล้ว ต้องการสีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียง ที่เอาจริง

4. พ่อแม่บางบ้านทำเป็น พ่อแม่บางบ้านทำไม่เป็น พ่อแม่ที่ทำเป็นทำครั้งสองครั้งก็เอาอยู่ พ่อแม่ที่ทำไม่เป็นทำกี่ครั้งเด็กก็ไม่ฟังเพราะเขาฉลาดพอจะรู้อยู่แล้วว่าพ่อแม่อ่อนแอ (weak)

5. นอกจากสีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียงแล้ว ก็คือคำพูด พ่อแม่ที่ทำเป็นมักพูดสั้นมาก “ไม่” “ไม่ให้” “ไม่ได้” เท่านี้พอ ไม่มีคำอธิบาย เด็กก็ฟัง ทำให้เด็กฟังก่อน เรื่องเหตุผลรอพูดทีหลังได้

อ่านต่อ “ขอบเขตการลงโทษเด็ก แค่ไหนจึงจะพอดี” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

6. พ่อแม่ที่ทำไม่เป็นมักจะพูดยาว อธิบายเหตุผลมาก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สำเร็จ เพราะเด็กไม่มีเหตุผลในเวลาหรืออารมณ์นั้นอยู่แล้ว ปัญหาของเด็กอยู่ที่อารมณ์ มิได้อยู่ที่เหตุผล ดังนั้นเวลาพบการกระทำรุนแรงเราหยุดการกระทำของเด็กให้ได้ก่อน  และรอให้อารมณ์เหือดหายไปเอง

7. หากสนใจ จิตวิทยาเชิงบวก สามารถเรียนรู้และช่วยให้เด็กเท่าทันอารมณ์ตนเองได้

8. หากสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง คำพูด หยุดเด็กไม่ได้ ที่ควรทำคือ จำกัดขอบเขต ภาษาอังกฤษเรียกว่า Limit Setting เมื่อพบเด็กกระทำรุนแรง เราต้องหยุดเขาทันทีไม่วิธีใดวิธีหนึ่ง ไม่เพิกเฉย ไม่เฉยเมย

9. การจำกัดขอบเขตที่ชะงัดที่สุดคือมัดหรือจับใส่กรง ซึ่งเราไม่ทำกับลูกหรือเด็ก การเอาออกจากบริเวณนั้นทันทีเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเป็นการจำกัดขอบเขตวิธีหนึ่งแต่จะทำได้เมื่อพ่อแม่เห็นความสำคัญ กล่าวคือพ่อแม่ยอมทิ้งภารกิจตรงหน้าคว้าเด็กออกไป ปัญหามักกลับมาอยู่ที่พ่อแม่ไม่ว่าง ไม่กล้าทำ ไม่คิดว่าต้องทำ หรือมัวแต่อายสายตาคนอื่นเสียมากกว่า

10. การจำกัดขอบเขตที่ดี พ่อแม่ยังคงอยู่ในบริเวณใกล้เคียง เมื่อลูกสงบพอคุยได้แล้วจะได้คุยกัน

การที่พ่อแม่จะอบรมสั่งสอนลูก สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การระงับสติอารมณ์และใช้เหตุผลให้มาก และพ่อแม่ก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กๆ ได้เห็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพราะเด็กจะซึมซับพฤติกรรมของคนรอบข้างได้เร็ว และเมื่อลูกทำสิ่งที่ดี พ่อแม่ก็ต้องไม่ลืมที่จะให้กำลังใจเพื่อให้ลูกมีกำลังใจที่จะทำดีต่อไปค่ะ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!


เรื่องโดย :  นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์