ครอบครัวใดกำลังเผชิญปัญหา พ่อแม่ทะเลาะกันต่อหน้าลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาหลังคลอด ที่ทุกๆ อย่างเปลี่ยนไป ทั้งสภาพจิตใจ ความเหน็ดเหนื่อย ความไม่เข้าใจกันของคุณแม่-คุณพ่อ เหล่านี้ล้วนส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาของสมองลูกน้อย
มีงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาชิ้นหนึ่งชี้ว่า สมองของเด็กทารก “เปิดรับ” และมีการจดจำเสียงแห่งความโกรธเกรี้ยวของพ่อแม่ สิ่งแวดล้อม เอาไว้ทั้งหมด แม้ว่าเด็กๆ จะกำลังนอนหลับอยู่ก็ตาม!!
พ่อแม่ทะเลาะกันต่อหน้าลูก กระทบพัฒนาการสมองของลูกน้อย
การศึกษาชิ้นนี้เป็นของมหาวิทยาลัยโอเรกอน ซึ่งนักวิจัยได้ใช้เครื่อง MRI ทำการสแกนสมองของเด็กทารกจำนวน 20 คนในระหว่างนอนหลับอยู่ภายในเครื่อง MRI โดยนักวิจัยพบว่า สมองของเด็กทารกเหล่านี้มีการตอบสนองต่อเสียงต่างๆ รวมถึงเสียงของความสุข เสียงของความโกรธเกรี้ยวด้วย
ทั้งนี้ นักวิจัยพบว่า เด็กทารกที่อาศัยอยู่ในบ้านที่มีความขัดแย้งสูง สมองส่วนที่เชื่อมโยงกับความเครียด และอารมณ์ของเด็กกลุ่มนี้มีการตอบสนองต่อเสียงของความโกรธอย่างเห็นได้ชัด
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสมองของเด็กทารกแรกคลอดนั้นกำลังเปิดรับทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งหากพ่อแม่ของพวกเขาเกิดโต้เถียงกันในขณะที่สมองกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ก็อาจทำให้ลูกรักเสี่ยงต่อการมีปัญหาทางพัฒนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกที่ถูกทอดทิ้ง หรือถูกล่วงละเมิด ขณะที่การทดลองก่อนหน้านี้ ซึ่งศึกษาในสัตว์ก็พบว่า มีผลกระทบต่อสมองเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่า ความเครียด และความโกรธยังอาจส่งถึงทารกได้ตั้งแต่ในครรภ์อีกด้วย โดยนักวิจัยพบว่า แม่ที่ตั้งครรภ์สามารถส่งผ่านความเครียดไปสู่ทารกน้อยได้ผ่านรกนั่นเอง…และอาจนำไปสู่การอธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างความเครียดระหว่างตั้งครรภ์ของแม่กับภาวะผิดปกติที่เกิดกับทารกน้อย เช่น ภาวะออทิสซึม ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้มากขึ้นในปัจจุบันด้วยนั่นเอง
อ่านต่อ >> “เด็กที่มีปัญหาพ่อแม่ทะเลาะกันมีลักษณะอย่างไร?” คลิกหน้า 2
เด็กที่มีปัญหาพ่อแม่ทะเลาะกันมีลักษณะอย่างไร?
ปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างพ่อและแม่สามารถเป็นตัวกำหนดอนาคตของลูกได้ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงระดับความรุนแรงของปัญหา หรือสถานะของผู้ปกครอง ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ด้วยกันหรือแยกทางกัน ผลกระทบและความเจ็บปวดทั้งหมดล้วนตกไปอยู่ที่เด็ก โดยเด็กที่พ่อแม่ทะเลาะกันมักมีลักษณะที่เป็นปัญหาดังต่อไปนี้
- เด็กแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือไม่พึงประสงค์ เช่น ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ก้าวร้าว ชอบใช้กำลัง เกเร หรือมั่วสุมกับเพื่อน
- เด็กมีระดับความเครียดสูง เด็กที่เป็นทุกข์จากปัญหาความขัดแย้งของผู้ปกครองมักมีฮอร์โมนความเครียด (Stress hormone) ในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบด้านลบต่อเด็ก เช่น เด็กที่มีความเครียดจะมีข้อจำกัดในการรับมือกับปัญหาในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียน อีกทั้งเด็กอาจพบปัญหาความยากลำบากในการประสบความสำเร็จตามขั้นพัฒนาการ (Developmental task) เช่น ประสบปัญหาในการพัฒนาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตนเองใน (Identity) ช่วงวัยรุ่น เป็นต้น
- เด็กรู้สึกไม่มั่นคงหรือปลอดภัยแม้จะอยู่ในบ้านของตัวเอง อันเกิดจากความเห็นที่ไม่ตรงกันของผู้ปกครอง หรือความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยที่เด็กไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ความรู้สึกไม่มั่นคงหรือไม่ปลอดภัยก็อาจทำให้เด็กมีลักษณะขาดความมั่นใจในตนเองด้วย โดยความรู้สึกในลักษณะนี้ สามารถขัดขวางพัฒนาการของเด็กตั้งแต่ในช่วงต้น และจะยิ่งส่งผลกระทบต่อเด็กมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
- เด็กขาดความภาคภูมิใจในตนเอง โดยปกติแล้ว เด็กจำเป็นต้องเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนในครอบครัวให้ความเคารพซึ่งกันและกัน อันจะช่วยส่งเสริมความรัก รวมถึงการให้ความสำคัญและยอมรับสิทธิของตนเองและของผู้อื่น หากเด็กขาดการสนับสนุนให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง เด็กอาจรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสำคัญ และอาจหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมกับผู้อื่นหรือถอนตัวออกจากสังคม
อ่านต่อ >> “เด็กที่มีปัญหาพ่อแม่ทะเลาะกันมีลักษณะอย่างไร?” คลิกหน้า 3
- เด็กโทษตัวเองว่าเป็นสาเหตุของความขัดแย้งของผู้ปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพ่อแม่ทะเลาะกันต่อหน้าเด็ก แต่ละเลยการปลอบใจเด็กซึ่งอยู่ในเหตุการณ์และกำลังหวาดกลัว ทั้งนี้การโทษตัวเองของเด็ก อาจกระทบความสัมพันธ์ของเด็กกับบุคคลอื่น เช่น ความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือครู อีกทั้งเด็กอาจซึมซับการแสดงความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้ปกครอง และสร้างเป็นนิสัยไม่เชื่อใจผู้อื่นโดยง่ายขึ้นมา ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กมองข้ามการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จนนำไปสู่ปัญหาเด็กไม่มีเพื่อนที่อาจส่งผลต่อเสียต่อเด็กในระยะยาว
- เด็กขาดทักษะในการแก้ไขปัญหา การทะเลาะกันระหว่างพ่อแม่จำกัดโอกาสในการเรียนรู้การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องของเด็ก โดยเด็กไม่ได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขความขัดแย้งด้วยความอดทนหรือความเคารพซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังซึมซับตัวอย่างจากพ่อแม่ ซึ่งทำให้เด็กกลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมการแก้ไขปัญหาที่ไม่เหมาะสม หรือกลายเป็นปัญหาแก่ผู้อื่นเสียเอง
- เด็กมีความผิดปกติทางด้านกระบวนการคิด โดยเมื่อเด็กสัมผัสกับความขัดแย้งเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน สมองจะหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการทำงานผิดปกติของสมอง และส่งผลให้เด็กมีความบกพร่องทางการคิด เช่น การแก้ไขปัญหา การใช้เหตุผล การจดจำ รวมไปถึงมีอาการคล้ายกับโรคสมาธิสั้น
ดังนั้น หากเด็กเห็นพ่อแม่ ทะเลาะวิวาทกันบ่อยๆ มีการลงไม้ลงมือ ทุบตีกัน ทำลายข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน เมื่อมีการไม่พอใจกันเกิดขึ้น เด็กอาจจะจำ สิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้ ไปใช้ในการแก้ปัญหา ชีวิตของเขาเองเมื่อ เขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้ ผู้เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรจะควบคุมการโต้เถียง ไม่ใช้ความรุนแรง ในการแก้ปัญหา หาทางแก้ปัญหาด้วยการ เจรจาอย่างสันติ เพราะเด็กที่เห็นพ่อแม่ถกเถียงกัน และหาข้อยุติด้วย การเจรจา จะทำให้เด็กเป็นคนมีเหตุผล รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ไม่ใช่จะเอาความคิดเห็น ของตัวเองเป็นใหญ่อย่างเดียว
ทางที่ดีที่สุด พ่อแม่ควรแสดงความรัก ความอบอุ่นให้ลูกเห็นว่า ครอบครัวของแก เป็นครอบครัว อบอุ่น ไม่มี ปัญหาครอบครัว ถึงแม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันบ้าง ก็ควรหาทางออก ด้วยการพูดคุยกัน เพราะจงนึกไว้เสมอว่า ครอบครัวก็เหมือนลิ้นกับฟัน อาจจะมีกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ก็ยังรักกัน และอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
อ่านต่อ บทความน่าสนใจ คลิก
ลูกน้อยฆ่าตัวตาย ปัญหาสังคมที่พ่อแม่ต้องรีบแก้ไข
แม่ครับ พรุ่งนี้ผมจะถูกประหารแล้วนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.manager.co.th , taamkru.com/th , women.mthai.com