AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ความผูกพัน เรื่องที่คุณแม่ต้องเข้าใจเพราะ คือจุดเริ่มต้นให้เด็กเชื่อมั่นใจตัวเองตั้งแต่แรกเกิด

 

ความผูกพันจากบุคลิกภาพของแม่ที่อบอุ่น เยือกเย็น อารมณ์ดี เป็นมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใส ปรับตัวง่าย สังคมดี ไม่มีปัญหาทางจิตใจ คือไม่ขี้กังวลหรือมีอารมณ์ซึมเศร้า จะเลี้ยงดูเด็กให้เกิดความรัก ความผูกพันได้ง่าย ในทางตรงข้าม แม่ที่เครียด เศร้าโศก วิตกกังวล จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกได้เหมาะสม ส่งผลทำให้เด็กเฉื่อยชา ซึมเศร้า มีความกังวลและส่งผลกระทบต่อระบบการกิน การนอน ทำให้พัฒนาการล่าช้าไปได้

ความผูกพันจากท่าอุ้มคือจุดเริ่มต้นทักษะการติดต่อสื่อสารกับผู้คนในด้านภาษาและการพูด


ในท่าที่แม่อุ้มลูกอยู่ในอ้อมแขน ทำให้ทารกมีโอกาสที่จะได้เห็นหน้าของแม่อย่างใกล้ชิด เด็กจะจ้องมองตา มองปากที่แม่พูด พยายามที่จะขยับปาก จะส่งเสียงออกมาเลียนแบบพฤติกรรมที่แม่คุยด้วย เริ่มที่จะเล่นน้ำลาย รู้จักส่งเสียงอยู่ในคอเวลาที่ตนพอใจ ยิ้มรับแม่ พยายามที่จะ “คุย” กับผู้คน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการที่เด็กพยายามจะสื่อสารกับคนอื่น

ดังนั้นเราควรพูดคุยกับลูกอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะกำลังอาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม ให้นม ควรร้องเพลงให้ลูกฟังด้วยโทนเสียงที่นุ่มนวลสูงๆ ต่ำๆ จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาที่เร็วขึ้น
เมื่อเด็กอายุ 4-5 เดือนเด็กจะชอบเล่นน้ำลายและเริ่มส่งเสียงคล้ายเสียงพูดมีเสียงสูงๆต่ำๆโต้ตอบกับเรา ส่งเสียงแหลมรัวแสดงความดีใจ ส่งเสียงอ้อแอ้ในลำคอได้นานขึ้น และเริ่มหันหาเสียงได้ เมื่อเด็กอายุ 5-6 เดือนเด็กจะเริ่มออกเสียงพยัญชนะแบบสั้นๆได้ ชอบที่จะจ้องมองปากเวลาคนพูดด้วยและพยายามส่งเสียงตามเสียงพูด การหันหาเสียงจะหันแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น


เด็กอายุ6-8 เดือนจะออกเสียงพยัญชนะและสระได้ เช่น บา ดา กา ต่อมาเด็กจะออกเสียงพยัญชนะและสระแบบซ้ำๆได้ เช่น บาบา กากา เมื่ออายุ8-9เดือน เมื่ออายุ1 ขวบขึ้นไป เด็กจะพูดคำที่มีความหมายแบบเฉพาะเจาะจงได้ เช่น ปาป๊ะ มาม้ะ

อ่านเรื่อง “ความผูกพัน เรื่องที่คุณแม่ต้องเข้าใจเพราะ คือจุดเริ่มต้นให้เด็กเชื่อมั่นใจตัวเองตั้งแต่แรกเกิด” คลิกหน้า 2


ในด้านของความเข้าใจภาษานั้นเด็ก 1 ขวบจะสามารถทำตามคำสั่งที่มีท่าทางประกอบได้เช่น ขอของจากเด็กโดยแบมือร่วมด้วย เมื่อมีพัฒนาการดีขึ้นเด็กจะเข้าใจคำสั่งโดยไม่ต้องใช้ท่าทางประกอบ เช่น ขอของจากเด็กโดยไม่มีท่าทางประกอบ บอกให้เด็กหยิบของโดยไม่ชี้ เรียนรู้คำและเชื่อมโยงกับท่าทาง เช่น ไม่กับสั่นหัว บ๊ายบายกับโบกมือ พร้อมๆกันนั้นเด็กจะเริ่มพูดเป็นคำเดี่ยวๆที่มีความหมายได้มากขึ้น
เด็กมีคำศัพท์เพิ่มขึ้น1คำต่อสัปดาห์ในช่วงขวบปีต้นๆ อย่างน้อยที่สุดโดยทั่วไปเด็กควรพูดเป็นคำเดี่ยวๆ ไม่น้อยกว่า 20 คำเมื่ออายุ 18-20 เดือน และมีคำศัพท์เพิ่มพูนมากกว่า 1คำต่อวันเมื่ออายุย่าง 2 ขวบ
เด็กจะเริ่มพูดเป็นคำ 2 คำต่อกัน และเริ่มรู้จักอวัยวะ 2 ส่วนเมื่ออายุใกล้ 2 ขวบ ในช่วง2-3ขวบเด็กจะมีภาษาโทรเลขคือเป็นคำๆต่อกันแต่อาจจะยังไม่ถูกไวยากรณ์นัก เช่น หยิบแก้วน้ำแดงกิน(หยิบแก้วน้ำที่ใส่น้ำแดงมาให้กิน) เมื่ออายุย่าง3ขวบจะเริ่มใช้คำพูดและช่างเจรจามากขึ้น อัตราการเพิ่มคำศัพท์จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วรวมถึงมีการพูดเป็นประโยคที่ถูกหลักไวยากรณ์มากขึ้นสามารถพูดให้คนอื่นเข้าใจได้ถึง 75%

รู้จักตัวตนและการรอคอย

จากการที่แม่เรียนรู้รายละเอียดและความต้องการของลูกและตอบสนองความต้องการของลูกอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้ทารกวัย 4-5 เดือนรู้สึกไว้วางใจในแม่ หลายรายที่หยุดร้องและรอคอยได้เมื่อรู้ว่าแม่มาอยู่ใกล้ๆแล้ว
เมื่อทารกอายุครบ 1 ปี ยังหวาดกลัวคนแปลกหน้าอยู่ แต่ถ้าถูกอุ้มอยู่ในวงแขนของแม่ซึ่งเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด ทารกก็ยังสามารถจะยิ้ม พูดคุยกับคนแปลกหน้า ส่งจูบ โบกมือ บ๊าย-บายให้กับคนแปลกหน้าได้ นั่นหมายความว่าทารกสามารถสร้างมิตรภาพกับผู้อื่น เรียนรู้จากผู้อื่นได้
หลายบ้านเลี้ยงจนทำให้ทารกสูญเสียสัญชาติญาณของการกลัวคนแปลกหน้า ซึ่งมักพบในบ้านที่มีคนเลี้ยงหลายคน หรือเลี้ยงดูแบบทิ้งๆขว้างๆจนเด็กต้องวิ่งหาอ้อมกอดของคนอื่น โดยมิได้มีความหวาดกลัวคนแปลกหน้า สุดท้ายก็จะเติบโตขึ้นมาโดยขาดความระแวดระวังภัย มองคนในแง่ดีเกินไป
พ่อแม่หลายคู่รักลูกมากจนไม่อยากให้ลูกพบกับความผิดหวัง โดยจะตามใจจนลูกไม่ยอมรอคอยใคร ไม่ปรับตัวตามใคร เรียกร้องในทุกสิ่งที่ตนต้องการและเรียนรู้อำนาจของตัวเองที่มีต่อพ่อแม่


การช่วยเหลือตัวเอง : จุดเริ่มต้นของความมั่นใจในตัวเอง

เด็กๆทุกคนต้องการทำอะไรด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเลียนพฤติกรรมของพ่อแม่ การกระตุ้นให้เด็กทุกคนทำงานต่างๆด้วยตัวเอง เช่น ถอดกางเกง กินข้าว หวีผม เก็บของเล่น ฯลฯ ควรเริ่มให้เด็กหัดถือขวดนมเองตั้งแต่อายุ 4 เดือนขึ้นไปและค่อยๆฝึกฝนตามความสามารถ จะช่วยทำให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง
การเข้าไปช่วยเหลือเด็กมากเกินไป นอกจากไปขัดขวางพัฒนาการที่เด็กควรมีโอกาสฝึกฝนตัวเองแล้ว ยังไปทำให้เด็กยึดติดกับความสะดวกสบาย และความรักสบายที่จะเป็นตัวขัดขวางการเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว

 

ที่มาจาก : ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย