AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ทำ 15 นาทีในแต่ละวันให้เป็นช่วงเวลาคุณภาพ เพื่อสร้างเกราะผูกพันให้กับลูกกันเถอะ

ตอนลูกยังเล็กช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็คงหนีไม่พ้นพ่อแม่ ที่จะต้องคอยดูแล ระมัดระวังอันตรายไม่ให้เกิดขึ้นกับเขา

แต่เมื่อลูกเริ่มโต เราก็อาจทำแบบนั้นไม่ได้ แต่ยังมีบางสิ่งที่เราสร้างไว้ให้ลูกเพื่อเป็นเกราะป้องกันอันตรายติดตัวเขาไปจนโตได้

หมอกำลังพูดถึง ความผูกพันในครอบครัว ค่ะ (ภาษาอังกฤษเรียกว่า Family Connectedness)

ความผูกพันในครอบครัวนี้เป็นเรื่องที่ในแวดวงจิตวิทยาพูดถึงกันมานาน ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยป้องกันปัญหาและพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ของวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การใช้สารเสพติด หรือการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ นานา

เริ่มน่าสนใจแล้วใช่ไหมคะ

“ความผูกพันในครอบครัว” เป็นความรู้สึกที่แต่ละบุคคลในครอบครัวนั้นรับรู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว รู้สึกว่าตัวเองเป็นที่รัก เป็นที่ต้องการ และเป็นความรู้สึกที่มั่นใจได้เสมอว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็จะมีสมาชิกในครอบครัวคอยอยู่เคียงข้าง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความรู้สึกข้างในใจนะคะ ไม่ได้หมายถึงเพียงการที่ตัวอยู่ใกล้ชิดกัน

อ่านต่อ “ทำไม “ความผูกพันในครอบครัว” จึงไม่ได้เกิดจากการใกล้ชิดกันเพียงอย่างเดียว” คลิกหน้า 2

เพราะบ่อยครั้งทีเดียวที่หมอได้พบครอบครัวที่อยู่ด้วยกันแทบจะตลอดเวลา แต่สมาชิกในครอบครัวกลับรู้สึกถึงความว่างเปล่า ไม่มีความผูกพันต่อกัน หรือบางทีแทบจะไม่รู้จักกัน ซึ่งนั่นชวนให้คิดว่า ปริมาณเวลาที่อยู่ด้วยกัน อาจไม่สำคัญเท่าคุณภาพของเวลาที่ใช้ร่วมกัน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ความผูกพันกันในครอบครัวนั้นมักจะเกิดจากการได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ นั่นเอง

เวลาคุณภาพ หมายถึง การที่คุณสนใจจดจ่ออยู่กับคนตรงหน้า ในที่นี้หมายถึงคนในครอบครัว เช่น เมื่อคนหนึ่งพูด คนหนึ่งก็สนใจและตั้งใจฟัง เมื่อทำกิจกรรมร่วมกันก็สนใจในตัวกิจกรรมนั้น และมีความสุขไปด้วยกัน ไม่ใช่ฟังไปหยิบโทรศัพท์มากดอ่านข้อความไป หรือ นั่งดูหนังด้วยกันแต่ในหัวก็คิดถึงแต่เรื่องงาน…แบบนั้นยังไม่ใช่เวลาคุณภาพนะคะ

และสำหรับครอบครัวไหนที่แต่ละคนมีงานรัดตัวมากจนแทบจะหาเวลาคุณภาพไม่ค่อยได้ ก็ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะหากลูกได้เห็นว่า คุณพยายามอย่างมากที่จะแบ่งเวลามาให้เขา รวมทั้งช่วงเวลาที่ให้นั้นแม้อาจจะเพียง 15 นาทีในแต่ละวันก็ช่างเต็มไปด้วยความสุข ก็จัดว่านั่นเป็นเวลาคุณภาพที่เป็นส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้ลูกรู้สึกผูกพันกับพ่อแม่ค่ะ

 

เรื่องโดย : พญ. พรพิมล นาคพงศ์พันธุ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ”

ภาพ : Shutterstock

ผูกพัน