AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

12 เทคนิค สร้างลูกดี มีวินัย

            ระหว่างวันคุณแม่อาจจะทำงานเยอะ ทั้งงานบ้าน  งานประจำ  จนลืมไปว่าลูกก็ต้องได้รับการดูแล เอาใจใส่   และเด็ก Gen  นี้ก็ต้องเรียนรู้สิ่งที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสื่อการเรียนการสอน และทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว  มาดูกันว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้ลูกดีมีวินัยในยุคนี้กันบ้าง

ลูกดีมีวินัย ด้วย 12 เทคนิคทันยุคไอที

1  ทำให้ลูกเข้านอนตรงเวลาได้ด้วยตัวของเขาเอง

การเข้านอนเป็นวินัยแรกที่เด็กควรจะหัดเรียนรู้ด้วยตัวเอง  วินัยนี้จะติดตัวเขาไปจนเป็นนิสัยที่ส่งเสริมสุขภาพและการจัดการตารางเวลาของชีวิต  หากคุณปล่อยตามสบายให้ลูกนอนเมื่อไหร่ก็ได้  เล่นเมื่อไหร่ก็ได้  อาจจะต้องหนักใจเมื่อคุณต้องพักผ่อนแต่ลูกยังทำเสียงดัง  เล่นอยู่ทั้งคืน  ไม่ยากเลยหากจะสอนลูกให้มีวินัยในในการเข้านอน  โดยตอนกลางวันก็ปล่อยให้เขาได้เล่นอย่างเต็มที่  และบอกให้เข้าใจว่าช่วงเวลาใดคุณต้องไปทำงาน  ช่วงเวลาใดเป็นช่วงเวลาครอบครัว เรามาอ่านนิทานเล่นสนุกกันได้  แต่หากต้องเข้านอนแล้วต้องทราบความหมายว่า “หมดเวลาสนุกแล้วล่ะ”

2 อย่าให้ลูกกินขนมหวานทุกวัน

ขนมหวานนอกจากจะมีโทษเรื่องปริมาณน้ำตาลที่มากเกินไปจนทำให้เด็กไม่อยากกินอาหารหลักแล้ว  ยังเป็นสิ่งพิเศษที่เด็กรู้สึกว่าเป็นของขวัญ  ของรางวัล  ซึ่งเมื่อไหร่ที่เด็กร้องขอแล้วคุณมอบให้เขาทันทีแล้วล่ะก็ เขาจะเรียนรู้ว่าหากอยากได้จะต้องใช้วิธีอะไรมาอ้อนคุณพ่อคุณแม่บ้าง  จะทำให้คุณเสียการควบคุมเมื่อต้องการกำหนดให้เขาอยู่ในวินัย และจะตามมาด้วยโรคอ้วน ฟันผุ   มีขนมทานเล่นที่ทำมาจากธัญพืชมากมายอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า หรือหั่นผลไม้เก็บไว้ในตู้เย็น ให้ลูกรู้สึกว่าหยิบง่ายแทนการกินขนมจะดีกว่า

3 ให้ลูกได้มีหน้าที่รับผิดชอบบางเรื่องของตัวเอง

            เริ่มสอนให้เขาได้มีหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวเองได้ตั้งแต่เขาเริ่มรู้ความ  โดยเริ่มจากกิจกรรมง่ายๆ รอบๆ ตัว เช่น เก็บของเล่น  เมื่อโตขึ้นมาหน่อยอาจจะรดน้ำต้นไม้  ให้อาหารสัตว์เลี้ยง หรือช่วยนวดคุณยายคุณตา  ซึ่งการสอนให้เขารู้จักหน้าที่ของตัวเองจะส่งเสริมให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง  รู้จักคุณค่าของตัวเอง และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะปลูกฝังเรื่องที่ซับซ้อนกว่านี้ได้

4 อย่าสร้างบรรยากาศในบ้านให้ตึงเครียดจนเกินไป

หากคุณวางแผนกำหนดหน้าที่ กำหนดทุกอย่างไว้ทั้งหมด เด็กจะรู้สึกเครียดและจะกลายเป็นเด็กที่มีความสับสนในตัวเองในที่สุดเพราะเขาจะไม่ทราบว่าสิ่งใดที่เขาสามารถปฏิบัติได้บ้าง  และจะกลายเป็นเด็กที่ไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต  ซึ่งนักจิตวิทยาแนะนำว่าควรให้มีพื้นที่สำหรับเขาบ้างในบ้าน  ให้เขาได้จัดการพื้นที่ของเขาเอง โดยที่พ่อแม่จะไม่เข้าไปยุ่งจนกว่ามันจะเป็นเรื่องอันตราย เช่น  ลูกเอาของไปวางรกๆ เกิดไป หรือ เป็นห้องปิดที่พี่กับน้องอาจเล่นกันแล้วเกิดอุบัติเหตุ

 

คลิกอ่านเรื่อง >> 12 เทคนิค สร้างลูกดี มีวินัย ในหน้า 2

 

 

5 ให้ลูกได้ลองทำสิ่งยากๆ ดูบ้าง

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียนรู้ได้จากเหตุและผล  ซึ่งหากคุณทำทุกอย่างเสียหมดเพราะกลัวลูกลำบาก  ลูกจะหมดโอกาสได้เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่  เซลล์สมองก็ไม่ได้ทำงาน  หากกำลังเจอสถานการณ์ที่ยาก  คอยอยู่ข้างๆ ให้ลูกได้ลองทำอย่างเป็นสเต็ป ตอนแรกเขายังทำไม่ได้ไม่เป็นไร แต่ค่อยพยุงกันไป  ซึ่งเป็นการสอนพื้นฐานสู่ความสำเร็จให้เขานั่นเอง

6 สอนลูกดูนาฬิกาให้เป็น

เบื้องต้นอาจเริ่มด้วยนาฬิกาที่เป็นตัวเลขก่อน  ค่อยสอนแบบมีหน้าปัด  อาจจะใช้สื่อการสอนที่มีเข็มนาฬิกาเข้ามาช่วย  เมื่อเด็กรู้จักเวลาแล้วจะทำให้พ่อแม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเขาได้ง่าย  ชี้แจงและตกลงกันได้ง่ายมากขึ้น

7 อย่ามอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกเสมอไป

สอนเด็กให้เรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าเพิ่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขา  ไม่เช่นนั้นเด็กจะไม่ทราบคุณค่าของสิ่งที่ได้มาว่ายากลำบาก และมีราคาเพียงใด  เมื่อเขาพอใจเขาก็จะร้องขอ  แต่หากเด็กได้เรียนรู้ว่ามันยาก หรือ ง่าย ลูกจะกลายเป็นคนที่มีเหตุมีผลมากขึ้น

8 สอนให้รู้สึกสูญเสียบ้าง

ถ้าของเล่นมันพัง  ซ่อมไม่ได้ หรือจำบทเรียนไม่ได้  ทำการบ้านไม่ได้   ใช้โอกาสนี้ปล่อยให้ลูกแสดงความรู้สึกผิดหวังหรือเสียใจออกมาบ้าง  และค่อยสอนว่าความรู้สึกแบบนี้คืออะไร  ส่งผลอย่างไร  เมื่อเด็กได้เรียนรู้แล้วก็จะทราบว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดแบบนี้ขึ้นอีกได้อย่างไร และจะแก้ไขอย่างไร

9  ควบคุมการใช้สื่อของลูก

ไม่จำเป็นว่าจะต้องห้ามลูกเล่นอุปกรณ์ไอที  แต่หากจะเล่นต้องรู้จักเวลา และรู้ว่าเล่นได้นานเท่าไหร่  และพวกวิดีโอเกมส์ ที่มีภาพหรือเสียง คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรู้ว่ามันส่งผลต่อสายตาและการได้ยินของเขาหรือไม่ เลือกสื่อที่พอเหมาะพอดี และไม่เป็นอันตรายต่อการรับรู้  ให้เขาได้เรียนรู้โดยมีการควบคุม

เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมไม่น่ารักและขี้โมโห

10 สอนให้รู้จักขอโทษ

เมื่อลูกทำผิด อย่าเพิ่งไปออกรับแทน คนเราต้องทำผิดพลาดไปบ้าง ดูว่าลูกจะแสดงสีหน้าอย่างไร และพูดจาอย่างไร และอธิบายให้เขาฟังว่าหากคนอื่นมาทำแบบนี้กับเขา เขาจะรู้สึกแย่หรือไม่?  เริ่มต้นสอนให้เด็กรู้จักขอโทษ เพื่อเป็นวัคซีนคุ้มครองป้องกันจิตใจของเขา

11 ให้ลูกได้รู้จักการรอคอย

ในเด็กเล็กๆ พื้นฐานอารมณ์ของเขามีไม่มากนัก ทั้งเสียใจ  ผิดหวัง หิว ช่วงแรกๆ ในวัยทารกก็ต้องมอบอาหารและอ้อมกอดให้เขา แต่เมื่อโตขึ้นเด็กก็ต้องรู้จักรอคอย  รู้จักขั้นตอนและเงื่อนไขว่าต้องรอก่อนทุกอย่างไม่ได้ได้มาง่ายๆ เช่น เมื่อเข้าร้านอาหาร ก็ต้องรอคิวให้เสิร์ฟโต๊ะอื่นที่มาก่อนเรา  เมื่อเข้าห้องน้ำก็ต้องต่อแถวเพราะคนอื่นมาก่อนเรา  และหากเจอกรณีที่ว่าเราเป็นเด็ก ต้องให้เด็กก่อนสิ  ต้องรีบเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า  เราเป็นเด็ก เรายังทนไหว เราก็ต้องทนได้ เพราะคนอื่นที่ต่อแถวเขาก็ต้องทนเหมือนเรา

12  รู้จักหน้าที่ไปแล้วก็ให้เด็กได้รู้จักอิสระ

เมื่อเขามีหน้าที่ต้องอยู่ในการควบคุมมาตลอดทั้งวัน   ทั้งไปโรงเรียน  ทำการบ้าน  บางทีเด็กก็มีความกดดันอยู่ในตัวเพราะต้องไปอยู่ในสังคมที่มีกฎระเบียบ  ปรับตัวอยู่ทั้งวัน  อยู่กับเพื่อนที่แตกต่าง  อยู่กับคุณครูที่ออกคำสั่ง  ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ๋ก็ควรจะมีช่วงเวลาอิสระเพื่อผ่อนคลาย  เช่น ให้ลูกเดินเล่นรอบๆ บ้าน  ให้เด็กได้ร้องเพลงที่เขาชอบ

 

การเลี้ยงเด็กสมัยนี้ไม่ได้ยากอย่างที่คุณคิด  และการปล่อยปละไม่สนใจเด็กเลยอาจจะทำให้กลับมาควบคุมพฤติกรรมได้ยากขึ้น  ยอมลำบากวันนี้เพื่อให้ได้ลูกที่ดี  มีคุณภาพในวันหน้า …เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านจ้า

เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ AMARIN Baby & Kids
ภาพ : ShutterStock