การ “กอดลูก” เป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุข แต่ไม่ใช่แค่นั้น เพราะมีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากมายที่พูดถึงความสำคัญของการกอด
แม่ที่เพิ่งคลอดลูก ผิวหนังของแม่บริเวณหน้าอกจะยกตัวสูงกว่าบริเวณอื่นประมาณ 1-2 องศา เพื่อเป็นที่พักให้ความอบอุ่นกับทารก โดยทำงานคล้ายๆ กับระบบ thermoregulatory ในเครื่องปรับอากาศหรือตู้เย็นเพื่อให้อุณหภูมิมีความสม่ำเสมอ ถ้าอุณหภูมิร่างกายเด็กลดลง อุณหภูมิอกแม่ก็จะสูงขึ้น หรือกลับกันถ้าของลูกสูงขึ้นของแม่ก็จะลดลง เพื่อให้ลูกอุ่นสบายตลอดเวลาเมื่ออยู่ในอ้อมกอดแม่
เวลาคนเรากอดกันจะมีการหลั่งสารที่ชื่ออ๊อกซี่โตซิน (Oxytocin) จากต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) สารนี้มีคุณสมบัติเป็น “Love Hormone” ที่หลั่งออกมาเวลาเรามีความรู้สึกรักให้แก่กัน ไม่ว่าจะเป็นแม่กอดลูกหรือหนุ่มสาวกอดกันก็ตาม
การทดลองหนึ่งซึ่งกระทำในสัตว์ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ที่สุดคือลิง ลูกลิงซึ่งโดนแยกแม่ออกไปกลายเป็นลิงกำพร้า ผู้ทดลองก็หาแม่ลิงเทียมมาเป็นตัวแทนให้ลูกลิงเลือกอยู่สองตัว ตัวแรกเป็นโครงลวดแต่มีขวดนมให้ดูดกิน ตัวที่สองเป็นตุ๊กตาบุผ้ากำมะหยี่นุ่มๆ แต่ไม่มีขวดนมให้
อ่านต่อ “กอดลูก สร้างพลังวิเศษ ส่งเสริมพัฒนาการลูก” คลิกหน้า 2
แม้เรื่องกินจะสำคัญ แต่ปรากฏว่าลูกลิงเลือกกอดซบอยู่แต่กับแม่ลิงเทียมที่ตัวนุ่มๆ หิวเมื่อไรก็แค่ยื่นหัวไปดูดนมแม่ลิงเทียมโครงลวดอีกตัวเท่านั้น กินเสร็จแล้วก็กลับมากอดแม่ลิงตัวนิ่มเหมือนเดิม เป็นหลักฐานที่ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการกอดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
สำหรับเด็กการกอดมีผลให้เด็กรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย รู้สึกได้ถึงความรักที่แม่ (หรือพ่อหรือสมาชิกคนอื่นในครอบครัว) ส่งผ่านมาถึงเขา ความรู้สึกผูกพันมั่นคงนี้จะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี
แต่เรากอดใครก็รู้สึกดีได้เหมือนกันหรือเปล่า ในต่างประเทศบางทีจะมีคนมาตั้งป้าย “Free Hug” อยู่ข้างถนน กอดกันแบบนั้นจะดีไหม?
อีกสิ่งหนึ่งซึ่งอาจทำให้เรารู้สึกดีจากการกอดคือสัตว์เลี้ยง การกอดสัตว์ตัวนุ่มๆ ที่เราไว้วางใจก็ทำให้เกิดความรู้สึกสบายกายสบายใจ และเป็นผลดีต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกัน
เห็นอย่างนี้แล้วสรุปว่าเราควรจะกลับบ้านไปกอดกันเยอะๆ
บทความโดย : ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพ : Shutterstock