“เรื่องที่กลุ้มใจคือ..ลูกไม่ยอมให้กอดค่ะ” คุณแม่เริ่มต้นเล่าปัญหาที่อยากมาปรึกษาหมอ
คุณแม่เล่าให้ฟังว่ารู้สึกแย่มากที่ลูกชายอายุ 5 ขวบคนนี้ไม่มีท่าทีจะยอมให้แม่กอดง่ายๆ สถานการณ์เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ลูกยังเป็นทารกที่เวลาแม่จะกอดลูกก็มักทำตัวไหลหนี
โตขึ้นแม้จะไม่เลื้อยไหล แต่ก็กลายเป็นทำตัวแข็ง แม่ไปกอดทีไรก็คล้ายกอดท่อนไม้มากกว่าได้ความรู้สึกเหมือนกอดลูก
คิดในมุมคนเป็นแม่ก็น่าเห็นใจ เพราะแม่ที่ไหนก็อยากกอดลูก ธรรมชาติสรรค์สร้างมาให้การกอดและสัมผัสกันเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความผูกพันอันยั่งยืนระหว่างแม่-ลูก
คุณแม่บอกว่ายิ่งไปอ่านบทความแนวเลี้ยงลูกให้ดีก็ยิ่งทุกข์ใจ เพราะเล่มไหนๆ เขาก็พูดตรงกันว่าตอนลูกยังเล็กต้องกอดลูกเยอะๆ ลูกจะได้รู้สึกอบอุ่นและมั่นใจ โตขึ้นไปจะได้จิตใจมั่นคง
ถ้าฉันทำไม่ได้นี่แปลว่าอะไร? ฉันเป็นแม่ที่ดีไม่ได้ใช่ไหม?
ตัวคุณพ่อเองก็เจอปัญหาซึ่งดูจะหนักกว่าด้วยซ้ำ เพราะพอไปกอดทีไรไม่ใช่แค่ตัวแข็ง แต่ถึงขั้นอาละวาดโวยวาย
สิ่งที่พ่อต่างจากแม่คือพ่อไม่ค่อยเครียดเท่าไร ไม่ยอมให้กอดก็ไม่สนใจ ยังไงพ่อก็จะกอดซะอย่าง บางครั้งดูเหมือนพ่อจะสนุกซะด้วยซ้ำที่แหย่ลูกเล่นได้ด้วยการไปแกล้งกอด
หมอฟังปัญหาคุณแม่ด้วยความตั้งใจ ถามคำถามเพิ่มอีกหน่อยก็ได้ความว่าลูกชายนอกจากไม่ชอบให้ใครกอดแล้วยังทนเสียงดังไม่ค่อยได้ ฝนตกฟ้าร้องทีไรจะนั่งปิดหูทุรนทุราย
ส่วนเสื้อผ้าก็ใส่ได้เฉพาะรุ่นที่ผ้านุ่มเป็นพิเศษเท่านั้น รุ่นที่ผ้าแข็งสากจะไม่ยอมใส่ หรือถ้าไปบังคับให้ใส่จะหงุดหงิดไปทั้งวันดังนั้นเลยชอบใส่แต่เสื้อผ้าตัวเดิมซ้ำๆ ก็คือเสื้อลายรถไฟโธมัสตัวนั้นเวลาเล่นก็จะชอบเล่นแต่ของเล่นชิ้นเดิมๆ โดยเฉพาะรถไฟโธมัส หรือเวลาไม่เล่นก็ชอบพูดชอบเล่าแต่เรื่องโธมัสเช่นเดียวกัน
สุดท้ายเลยเข้าใจว่าที่แท้เขามีอาการกลุ่มออทิสติกนี่เอง
เด็กในกลุ่มนี้อาจมีอาการไวเกินต่อประสาทสัมผัส(Hypersensitivity) ร่วมด้วย อาการไวเกินทำให้ทนต่อการรับรู้ประสาทสัมผัสบางอย่างไม่ได้ โดยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของคนเราก็คือภาพ เสียง กลิ่น รส และสัมผัส อาการของลูกก็เด่นที่เรื่องสัมผัสและเสียงนั่นเอง เมื่อทนสัมผัสไม่ได้เลยไม่ชอบให้คนมากอด
นอกจากนี้การที่คุณพ่อไม่เข้าใจไปหยอกเล่นด้วยการกอดแรงๆ ก็ยิ่งทำให้เด็กรู้สึกอึดอัดไม่พอใจจนกลายเป็นอาละวาด ครั้งต่อไปเวลามีใครทำท่าว่าจะสัมผัสตัว เขาจะยิ่งต่อต้าน
วันนี้เริ่มต้นหมอเลยต้องแนะนำให้คุณพ่อเข้าใจและเลิกแหย่ลูกเล่นด้วยการกอด แล้วช่วยกันหาวิธีเล่นกับลูกที่จะทำให้ได้สนุกกันทั้งสองคน ไม่ใช่พ่อสนุกอยู่ข้างเดียว
ต่อมาก็ต้องปลอบใจคุณแม่ ปรับทัศนคติเสียใหม่ว่าลูกไม่ให้กอดไม่ได้แปลว่าลูกไม่รักหรือคุณแม่เป็นแม่ที่ไม่ดีแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะภาวะบางอย่างที่ติดตัวเขามาแต่เกิดที่ทำให้เขามีบุคลิกลักษณะแบบนี้ อย่าได้เสียใจน้อยใจไปเลย
แม้ลูกคนนี้จะไม่ชอบให้ใครกอด แต่เขาก็เป็นออทิสติกที่ไม่ได้มีอาการรุนแรงแต่อย่างใด เขายังอยากอยู่ใกล้ๆ พ่อแม่ อยากให้พ่อแม่สนใจเขาคุยกับเขา เล่นกับเขา
ถ้าอย่างนั้นเราลองถามเขาดูดีไหม ว่าถ้าเราอยากจะแสดงความรักกับเขา เขาจะอยากให้เราทำอย่างไร จะให้แค่พูดบอก หรือจะให้จับมือ จับแขน จับศีรษะ หรือจับตัวได้แค่ไหน หรือถ้าพ่อแม่จะกอดจะให้กอดด้วยน้ำหนักเท่าใดลูกถึงจะยังรู้สึกดี
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าเลี้ยงลูกไม่มีสูตรสำเร็จ ตำราเลี้ยงลูก(หรือ Real Parenting) จะอ่านก็อ่านไป แต่ถึงเวลาใช้จริงคงต้องประยุกต์ให้เป็น
บทความโดย : ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณพ่อน้องข้าวหอมและน้องน้ำมนต์
ภาพ : Shutterstock